นักวิทยาศาสตร์เรียกร้องให้มีการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดการเสียชีวิตที่เกิดจากรับสารพิษผ่านการรับประทานโดยเจตนา
ศาสตราจารย์ Michael Roberts หนึ่งในทีมผู้วิจัยการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Lancet Global Health ได้แสดงข้อมูลให้เห็นว่า ในขณะที่การเสียชีวิตจากพิษของยาฆ่าแมลงลดลงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การฆ่าตัวตายด้วยการกิน/ดื่มสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในห้าของการฆ่าตัวตายทั่วโลก ยังเป็นวิธีการฆ่าตัวตายลำดับต้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่ทำการเกษตรเป็นหลัก
การศึกษาที่ได้รับทุนจากสภาวิจัยทางการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติ ประเทศออสเตรเลีย (National Health and Medical Research Council) นี้ได้ระบุถึงความคาดเคลื่อนของการจำแนกระดับความอันตรายจากสารกำจัดศัตรูพืชขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ใช้ข้อมูลปริมาณสารพิษที่วิเคราะห์ได้จากสัตว์มากกว่าข้อมูลที่มาจากมนุษย์ ด้วยเหตุนี้จึงยังคงมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชทั่วไปอีก 5 ชนิดที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งการรับสารพิษด้วยตนเอง (self-poisoniing) คิดเป็นสัดส่วนถึงสองในสามของการฆ่าตัวตายในภูมิภาค
ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการบริโภคสารกำจัดศัตรูพืชโดยเจตนามากกว่า 150,000 คน ซึ่งก่อนหน้าที่สารเคมีบางชนิดจะถูกห้ามใช้ มีตัวเลขผู้เสียชีวิตเฉลี่ยสูงกว่านี้มาก โดยอยู่ที่ 260,000 คนต่อปี
ศาสตราจารย์ Roberts ได้ศึกษาอันตรายจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในประเทศศรีลังกา โดยเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตจากการรับสารพิษในพื้นที่ชนบทระหว่างปี 2002-2019 โดยพบว่าจากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากกินยาฆ่าแมลงด้วยตนเองมีทั้งหมดประมาณ 35,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายอายุ 20 ปลายๆ ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยร้อยละ 6.6 เสียชีวิต
สารพิษที่ถูกใช้มากที่สุด 3 ชนิด คือ พาราควอต (paraquat) ไดเมทโธเอต (dimethoate) และเฟนไธออน (fenthion) ซึ่งสารทั้งหมดได้ถูกแบนภายในปี 2011 ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากการรับสารพิษลดลอย่างมาก แต่ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมาก็ยังมีสารกำจัดศัตรูพืชทั่วไปอีก 5 ชนิดที่ WHO ยังคงอนุญาตให้ใช้ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิต 24% จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่ศึกษา
ศาสตราจารย์ Roberts เรียกร้องให้ WHO จำแนกและควบคุมสารพิษทั่วโลกใช้ข้อมูลความเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์มากำหนดเกณฑ์มาตรฐาน ก็จะป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการรับสารพิษที่ใช้ในการเกษตรและลดอัตราการฆ่าตัวตายทั่วโลก โดยเฉพาะในหลายประเทศที่ทำการเกษตรเป็นหลัก และออกข้อกำหนดห้ามการใช้สารกำจัดศัตรูพืชทั้งหมดที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าร้อยละห้า (จากการศึกษา ผู้ป่วยที่รับสารพาราควอท ซึ่งถูกแบนไปแล้ว มีอัตราการเสียชีวิต 41.8% และสารกำจัดศัตรูพืชที่ยังอนุญาตให้ใช้ในปัจจุบัน มีอัตราการเสียชีวิต 7.2–8.6%)
การเสียชีวิตโดยการได้รับสารพิษ ทั้งโดยไม่เจตนา และเจตนาเพื่อฆ่าตัวตาย อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ และสนับสนุนสุขภาพจิต (3.4) และ ลดการตายและป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษต่างๆ (3.9)
ที่มา : MirageNews