หากดูไทม์ไลน์การเดินทางของคำว่า ‘ความมั่นทางอาหาร’ (Food Security) จะพบว่าสอดคล้องกับสถานการณ์อาหารในสังคม ณ ขณะนั้น และวิธีที่คนยุคนั้น ๆ เลือกจะแก้ไขปัญหา เริ่มจากทศวรรษที่ 1960 (พ.ศ. 2503) ในช่วงที่โลก ‘ขาดแคลนอาหาร’ การแก้ไขปัญหาจึงเน้นไปที่การเร่งผลิตให้มีปริมาณอาหารมากที่สุด เพื่อให้ ‘มี’ เพียงพอสำหรับการบริโภคเป็นหลัก แต่การเปลี่ยนโฉมหน้าภาคเกษตรกรรมด้วยการหันมาใช้เทคโนโลยี สารเคมี และการตัดต่อยีนส์เพื่อให้มีอาหารปริมาณมากนั้นกลับพบว่า ‘ความหิวโหย’ (Hunger) ในหมู่คนยากจนยังคงไม่หมดไปทั้งที่มีอาหารอยู่มากมาย ทำให้ในทศวรรษที่ 1980 (พ.ศ. 2523) โลกหันมาพูดถึง ‘การเข้าถึงอาหาร’ ที่จะต้องใช้อำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม กระจายอาหารให้ถึงปากท้องคนทุกคนได้จริง ๆ ไม่ว่าจะมีฐานะเป็นอย่างไร และต่อมาในทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ. 2533) ความมั่นคงทางอาหารจึงได้ขยายให้ครอบคลุมมิติ ‘ความปลอดภัยทางอาหาร’ ด้วย ได้แก่ คุณภาพ-คุณค่าทางอาหารและโภชนาการที่ดีที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นแล้ว แค่มีอาหารยังไม่พอ แต่ต้องเป็น ‘อาหารที่ดีต่อสุขภาพ’ ด้วย
“ความมั่นคงทางอาหารหมายถึงคนทุกคนทั้งในระดับบุคคล ระดับครัวเรือน ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการทั้งในทางกายภาพและเศรษฐกิจที่ตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี”
– World Food Summit 1996 กรุงโรม, อิตาลี
ส่วนนิยามในปัจจุบันนี้ได้ยึดตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดไว้ซึ่งไม่ได้แตกต่างไปจากไทม์ไลน์ข้างต้น แต่สรุปให้ง่ายขึ้นโดยอยู่ในองค์ประกอบสำคัญ 4 ข้อ ดังนี้
- การมีอาหารเพียงพอ (Food Availability) – อาหารมี ‘คุณภาพ’ ที่เหมาะสมในปริมาณที่เพียงพอ สม่ำเสมอ ซึ่งอาจได้มาจากการผลิตภายในประเทศ และ/หรือ การนำเข้าและความช่วยเหลือด้านอาหาร
- การเข้าถึงอาหาร (Food Access) – ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรภายใต้กฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศนั้น ให้ได้มาซึ่งอาหารที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ
- การใช้ประโยชน์จากอาหาร (Food Utilization) – การบริโภคอาหารเพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภคของคน เน้นการมีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี อาหารในแง่นี้รวมถึงการมีน้ำดื่มที่สะอาดถูกสุขลักษณะด้วย
- การมีเสถียรภาพด้านอาหาร (Food Stability) – เกี่ยวข้องกับ ‘การมี’ และ ‘การเข้าถึง’ คือทุกคนเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลา ไม่มีความเสี่ยงเรื่องอาหารขาดแคลนจากวิกฤติใด ๆ ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจ วัฏจักรตามฤดูกาล หรือเพราะสภาพภูมิอากาศ
สำหรับไทย ก็ได้มีการนิยามความมั่นคงทางอาหารไว้อย่างเป็นทางการและสอดคล้องกับคำนิยามดังที่กล้าวไว้ข้างต้นด้วย โดยบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ.2551 ว่าหมายถึง …
“การเข้าถึงอาหารที่มีอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคของประชาชนในประเทศ อาหารมีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมตามความต้องการตามวัยเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี รวมทั้งการมีระบบการผลิตที่เกื้อหนุน รักษาความสมดุลของระบบนิเวศและความคงอยู่ของฐานทรัพยากรอาหารทางธรรมชาติของประเทศ ทั้งในภาวะปกติหรือเกิดภัยพิบัติ สาธารณภัย หรือการก่อการร้ายอันเกี่ยวเนื่องจากอาหาร”
นอกจากนี้ ความมั่นคงทางอาหารยังมีการพูดในรายละเอียดแยกย่อยออกไปอีก ด้วยความที่มีความเป็นพลวัตและขึ้นอยู่กับบริบทของชุมชน-ประเทศ ทั้งยังมีเรื่องของรายได้-ความยากจน และเศรษฐกิจด้วย เช่นว่าความไม่มั่นคงทางอาหารในเรื่องของการเข้าถึงอาหารในประเทศพัฒนาแล้ว (มีเงินแต่ไม่มีอาหารเพียงพอ) และประเทศกำลังพัฒนา (มีอาหารเพียงพอแต่ไม่มีเงิน) ก็ยังมีความแตกต่างกัน ตลอดจนความสามารถ (หรือความเปราะบางเกินไป) ที่จะรับมือกับความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนของสถานการณ์อาหาร
เพื่อให้อธิบายความหมายได้ครบถ้วนและรวบรัด จึงขอทิ้งท้ายด้วยคำว่า ‘ความไม่มั่นคงทางอาหาร’ โดยคร่าว จากข้อมูลของ FAO ที่ได้นำ ‘ระยะเวลา’ มาวิเคราะห์ร่วม เป็นความไม่มั่นคงทางอาหารเรื้อรังและความไม่มั่นคงทางอาหารชั่วคราว และระบบการแบ่งความมั่นคงทางอาหารบนฐานของภาวะวิกฤติที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ (The Integrated Food Security Phase Classification: IPC) ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องภาวะทุพโภชนาการ (undernourishment) เป็นต้น
Goal 2 : End hunger, achieve food security and improved nutrition and promote sustainable agriculture
#SDG2 – ขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ปรับปรุงโภชนาการ และสนับสนุนเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 2 (2560)
Last Updated on มกราคม 3, 2022