เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลเบลเยียมประกาศ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาห้ามใช้ก๊าซชีวภาพและชีวมวลที่ทำมาจากน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลืองในตลาดและในภาคขนส่งของเบลเยียม เริ่มตั้งแต่ปีหน้าวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
โดยเบลเยียมเป็นประเทศล่าสุดในยุโรปต่อจากเดนมาร์ก ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ที่ห้ามใช้ไบโอดีเซลที่ทำมาจากน้ำมันปาล์ม
รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ Zakia Khattabi อ้างอิงถึงเอกสารการศึกษาระบุว่าการได้มาซึ่งน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลืองนั้น ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะการใช้ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่เป็นเหตุให้มีการตัดไม้ทำลายป่าและสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เฉกเช่นในอเมริกาใต้หรือที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากไม่ต่างไปจากการใช้พลังงานฟอสซิสแบบเดิม ทั้งยังกระทบต่อสิทธิมนุษยชนด้วย
สำหรับเบลเยียมเอง ความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่ทำจากน้ำมันปาล์มมีเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าในช่วงปี 2562 – 2563 ที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 231 ล้านลิตร ซึ่งเทียบเท่ากับพื้นที่สนามฟุตบอลมากกว่า 100,000 สนาม ทว่าในมุมของสิ่งแวดล้อมนั้น เบลเยียมตระหนักว่าเบื้องหลังของการได้มาวัตถุดิบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการกระทบกับพื้นที่ป่าไม้ของโลก อย่างที่น้ำมันถั่วเหลืองได้ทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าอะเมซอนและป่า Chaco ของภูมิภาคอเมริกาใต้มามากกว่า 30 ปี และการได้มาซึ่งน้ำมันปาล์มได้กระทบกับพื้นที่ป่าดั้งเดิมและป่าพรุ (ป่าดิบชื้น) ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเด็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมของทั้งสองประเทศนี้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเบลเยียมจะเป็นประเทศล่าสุดที่ห้ามการใช้ก๊าซชีวภาพ/ไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม นาย Datuk Dr Mohd Khairuddin Aman Razali รัฐมนตรีอุตสาหรรมการเกษตรและสินค้าประเทศมาเลเซีย มองว่าการดำเนินการของเบลเยียมครั้งนี้จะไม่กระทบกับตลาดน้ำมันปาล์มขนาดใหญ่ภายในประเทศมาเลเซีย เพราะยังคงมีโอกาสขยายตลาดในแอฟริกาและตะวันออกกลาง และความต้องการน้ำมันปาล์มในภูมิภาคยังคงมีอยู่มาก
การเดินหน้าออกร่างกฎหมายของเบลเยียมครั้งนี้เป็นมาตรการแรกหลังจากที่เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในข้อตกลง Amsterdam Declarations Partnership ที่เน้นขจัดการตัดไม้ทำลายป่าที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตรกรรมให้หมดไปภายในปี 2568 ทั้งยังเป็นกฎหมายของประเทศที่สอดคล้องและสอดรับกับมาตราที่ 29 ของ ‘Renewable Energy Directive 2564-2573’ (REDII 2021-2030) กฎหมายสหภาพยุโรปที่จริงจังในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานชีวมวลหรือชีวภาพที่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืน โดยให้มีการใช้พลังงานสะอาดอย่างน้อยร้อยละ 32 ภายในปี 2573
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลกภายในปี 2579
#SDG13 (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบายยุทธศาสตร์และการวางแผนระดับชาติ
#SDG15
– (15.2) หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าทั่วโลก ภายในปี 2563
– (15.5) ลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
แหล่งที่มา:
https://www.brusselstimes.com/news/belgium-all-news/164687/belgium-to-ban-soy-and-palm-oil-in-biofuels-from-2022-environment-climate-zakia-khattabi-sustainability-amsterdam-declatation-partnership/
https://biofuels-news.com/news/belgium-leads-way-in-banning-soy-and-palm-oil-biofuels/
https://www.fas.usda.gov/data/belgium-belgium-ban-palm-and-soya-oil-use-biofuels-2022
https://www.thesundaily.my/home/malaysia-not-affected-by-belgium-s-palm-oil-ban-EC7765431