อัตราการฆ่าตัวตายของญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นเนื่องมาจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้เกิดสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับหญิงวัยทำงานและคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว รัฐบาลญี่ปุ่นจึงประกาศแต่งตั้ง “รัฐมนตรีกระทรวงความเหงา” เพื่อทำหน้าที่บรรเทาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แต่งตั้ง นายเท็ตสึชิ ซากาโมโตะ ในตำแหน่งใหมท่ที่ได้ชื่อว่าเป็น Minister of Loneliness หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความเหงา โดยมีหน้าที่พิเศษเพื่อต่อสู้กับวิกฤตความเหงาและความโดดเดี่ยวของประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคนยกย่องความเคลื่อนไหวนี้ของรัฐบาล เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ หญิงวัยทำงาน พนักงานพาร์ทไทม์ และผู้ว่างงาน ย่ำแย่ลงทุกที
แผนการของรัฐมนตรีคนใหม่ คือ การกำหนดมาตรการเชิงนโยบายเพื่อบรรเทาความโดดเดี่ยวทางสังคม โดยภารกิจแรกสุด คือ การระบุว่ามีใครบ้างที่ปัจุบันเป็นผู้ถูกตัดขาดโลกภายนอก อยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือต้องทนทุกข์กับความเหงา รวมทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงถูกตัดขาดจากสังคม และนำพาผู้คนที่แยกตัวออกจากสังคมกลับเข้าสู่สังคมให้ได้
เพื่อควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในหลายจังหวัด ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดทำการเร็วขึ้นและพนักงานบริษัทต้องทำงานจากที่บ้าน เหตุนี้ทำให้คนญี่ปุ่นหลายแสนคนถูกปลดออกจากงาน หรือได้ค่าจ้างรายชั่วโมงน้อยลง นักศึกษาที่ส่วนใหญ่ทำงานพาร์ทไทม์ก็สูญเสียรายได้ส่วนนี้ไป
ผู้ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการสูญเสียรายได้มากที่สุดคือแรงงานพาร์ไทม์ในอุตสาหกรรมบันเทิง ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่กลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคระบาด พวกเธอต้องสูญเสียงานและเผชิญกับความกดดันเมื่อต้องรับภาระการดูแลสมาชิกในบ้านที่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของผู้หญิงญี่ปุ่นในปี 2020 เพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี
ประเด็นสุขภาพจิตอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ใน SDG3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อและสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี
ที่มา : DW