‘จ่ายเพลงให้เป็นยารักษาโรค – prescribing music as medicine’
เทคโนโลยีสมัยนี้มีทั้งการใช้ AI ช่วยจัดเพลงให้ฟังตามรสนิยมอย่าง Spotify หรือประเภทที่ช่วยให้ผู้ใช้ดูแลสุขภาพได้ดีขึ้นผ่าน SmartWatch ที่ตรวจจับ-แสดงผลข้อมูลทางชีวภาพของร่างกายเรา ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเต้นของหัวใจหรือระดับความดันโลหิต
แนวคิดเช่นเดียวกันนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้น รวมเป็น ‘MediMusic’ แอปพลิเคชันบริการจัดเพลย์ลิสต์เพลงอัตโนมัติเฉพาะตัว ตามความชอบ อายุ เพศ สัญชาติ เชื้อชาติ ระดับอัตราการเต้นของหัวใจและระดับฮอร์โมนของคนไข้แต่ละคนซึ่งได้จากการแสกนลายนิ้วมือ แปลงเป็น ‘ลำดับเพลง’ หรือ ‘การจ่ายยา’ ที่จะช่วยปรับลดฮอร์โมนที่ไม่ดีอย่างคอร์ติซอล ปรับเพิ่มฮอร์โมนดีอย่างโดพามีนและออกซิโตซิน และปรับอัตราการเต้นของหัวใจให้คนไข้คลายความกังวล ลดความเจ็บปวดทางร่างกาย ทำให้อารมณ์ดีคงที่และยาวนานขึ้น
โดยแอปพลิเคชันนี้สามารถใช้ได้กับคนไข้ที่มีโรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ออทิสติก โรคเจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้ที่รู้สึกกระวนกระวายใจก่อนและหลังจากที่รับการผ่าตัด รวมถึงการทำฟัน
MediMusic พัฒนาขึ้นโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ด้านฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ สังคมวิทยา จิตวิทยา ประสาทวิทยา สรีรวิทยา และดนตรี โดยใช้กลไกอัลกอริทึม ‘DIGITAL DRIP™’ สำหรับ AI บนฐานของศาสตร์ด้านประสาทวิทยาและสรีรวิทยา อาทิ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุข้อดีที่เพลงมีต่อสุขภาพ ‘Effect of music therapy on anxiety and depression in patients with Alzheimer’s type dementia: randomised, controlled study’ เผยแพร่ใน pubmed.gov
โดยในเบื้องต้นคนไข้จะเลือกเพลงที่ตัวเองชอบสัก 2 – 3 เพลง ก่อนที่ AI จะจัดเพลย์ลิสต์เพลงให้ตรงตามความต้องการทางชีวภาพของคนไข้อย่างอัตราการเต้นของหัวใจและความแปรผันของการเต้นของหัวใจ (Heart Rate Variability – HRV) โดยมักจะเริ่มต้นด้วยเพลงที่สนุกสนานเต็มไปด้วยพลังก่อนจะค่อย ๆ ไล่ระดับลงให้รู้สึกผ่อนคลายในเพลงสุดท้าย ขณะที่มีการใช้งาน ตัวอัลกอริทึมจะติดตามความเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจระหว่างที่คนไข้ฟังเพลง หาก HRV ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เช่น ต่ำเกินไปที่แสดงถึงอาการเครียดทางกายและใจ วิตกกังวลหรือตื่นเต้น เป็นต้น เพลงก็จะสุ่มเลือก/เปลี่ยนไปเพลงอื่นที่ช่วยปรับลด-เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจตามความเหมาะสมของคนไข้รายนั้น
นอกจากนี้ ถ้าเพลงใดในเพลย์ลิสต์ที่คนไข้ฟังแล้วรู้สึกถูกกระตุ้นให้นึกถึงความหลังหรือความทรงจำที่ไม่ดี ก็สามารถ ‘ติดป้ายเตือน’ ให้ระบบจดจำและจัดเพลงได้ดีขึ้นในคราวต่อไป และท้ายที่สุดในแต่ละสัปดาห์ ข้อมูลการฟังเพลงและข้อมูลทางชีวภาพของคนไข้จะแสดงผลลัพธ์ให้ได้ติดตาม (track) ผ่านแอปพลิเคชันได้เช่นเดียวกับหน้าจอแสดงผลของอุปกรณ์ด้านสุขภาพในปัจจุบัน
เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือช่วยฟื้นฟูจิตใจและร่างกายที่มีต้นทุนต่ำและสามารถนำมาใช้สนับสนุนบริการทางสาธารณสุข ที่อาจช่วยลดปริมาณการจ่ายยาบรรเทาความเครียดและความเจ็บปวดลงได้ด้วย
ซึ่งตอนนี้ MediMusic ได้ถูกนำไปทดลองใช้ที่ Lancashire Teaching Hospitals NHS Foundation Trust สหราชอาณาจักร กับคนไข้ 25 คนอายุระหว่าง 60 – 90 ปีที่มีโรคสมองเสื่อม พบว่าในกรณีของคนไข้อายุ 75 ปีรายหนึ่งสามารถช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจที่ 76bpm เป็น 60bpm และลดอาการกระวนกระวาย-ปั่นป่วนใจให้หายไปได้ในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นสัญญาณตอบรับการใช้แอปพลิเคชันเบื้องต้นที่ดีและเห็นผล โดยยังให้บุคลากรทางการแพทย์ที่รับมือกับโควิด-19 ลองใช้ MediMusic ด้วยเช่นกัน เพราะหวังว่าจะสามารถลดความตึงเครียดจากการทำงานลงได้
ติดตาม MediMusic ที่ : https://medimusic.co/ หรือ https://www.facebook.com/MediMusicLimited
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงผ่านการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนการมีสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีภายในปี 2573
#SDG9 (9.5) เพิ่มพูนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยี ส่งเสริมนวัตกรรม การใช้จ่ายในภาคสาธารณะและเอกชนในการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น
แหล่งที่มา:
https://medimusic.co/
https://www.bbc.com/news/uk-england-humber-57071627
https://www.theguardian.com/science/2021/may/05/alzheimers-patients-and-hospital-staff-prescribed-music-in-nhs-trial?fbclid=IwAR2esDLxwhMkje3Qwap6FXO_2-PXh5JxO9okrcQlbuRmKvKWabXb2qS23SQ
Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021