รัฐบาลออสเตรเลียจัดสรรงบประมาณสูงถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท) เพื่อการดำเนินงานบริการด้านสุขภาพจิตและการป้องกันการฆ่าตัวตายในระยะเวลาสี่ปีต่อจากนี้ โดย Josh Frydenberg รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของออสเตรเลียกล่าวในการนำเสนองบประมาณกลางประจำปี 2021-22 ว่าการป้องกันการฆ่าตัวตายเป็นวาระสำคัญระดับชาติ เพราะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนออสเตรเลียที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 44 ปี
รายการใช้จ่ายตามที่ประกาศไว้ในงบประมาณด้านสุขภาพจิต ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการขยายการบริการในเชิงป้องกันให้ทั่วถึงและครอบคลุมทุกคน ทุกวัย อันได้แก่
(หน่วย: ดอลลาร์ออสเตรเลีย)
- 156.8 ล้าน – สำหรับงานติดตามดูแลผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตายเป็นเวลาสามเดือนหลังออกจากโรงพยาบาล
- 288.5 ล้าน – สำหรับเพิ่มการรักษาที่เรียกว่า Repetitive Transcranial Magnetic Stimulation (rTMS) เพื่อบำบัดสำหรับโรคซึมเศร้าที่ดื้อยาเข้าไปในโครงการ Medicare Benefits Scheme (MBS)
- 278.6 ล้าน – เพื่อขยายโครงการ Headspace ซึ่งมุ่งเน้นไปที่สุขภาพจิตของเยาวชน
- 487.2 ล้าน – เพื่อเปิดศูนย์สุขภาพ Head to Health แห่งใหม่ 40 แห่งทั่วออสเตรเลีย เพื่อให้บริการด้านสุขภาพจิตสำหรับผู้ใหญ่
- 111.2 ล้าน – เพื่อขยายบริการด้านสุขภาพจิตแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น
- 107 ล้าน – สำหรับการดูแลสุขภาพจิตเชิงป้องกัน (Preventative mental health care) ในชุมชนที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ เช่น ชุมชนชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส และชาวออสเตรเลียที่มีภูมิหลังที่หลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษา
- 26.9 ล้าน – ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยระดับชาติเพื่อโรคการกินผิดปกติ และปรับปรุงการให้บริการรักษา
- 4 ล้าน – เพื่อบริการด้านสุขภาพจิตสำหรับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าเมื่อเร็วๆ นี้โดยเฉพาะ ซึ่งสามารถเข้ารับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตกับนักจิตวิทยาได้ฟรีสูงสุด 10 ครั้ง
รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกล่าวว่ารัฐบาลทุ่มเทงบประมาณให้กับบริการสุขภาพจิตมากกว่าทุกงบประมาณนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตชั้นน้ำของประเทศ เช่น นาย Sebastian Rosenberg อาจารย์อาวุโสของ Brain and Mind Institute ให้ความเห็นว่า งบประมาณเท่านี้ยังไม่เพียงพอเพื่อมีการบริการด้านสุขภาพจิตที่ประชาชนต้องการในศตวรรษที่ 21 และยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างของระบบสุขภาพจิตของออสเตรเลียได้ โดยเสนอว่าควรต้องเพิ่มงบประมาณถึงสองเท่า
ประเด็นสุขภาพจิตอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ใน SDG3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อและสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี
ที่มา: ABC News