‘เพราะบุคคลมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตด้วยอากาศสะอาดที่ไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ และไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยเพราะมีสิทธิในสุขภาพและสิทธิในชีวิต อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองในฐานะสิทธิมนุษยชน’
SDG Updates ในวันนี้ จะชวนคุณผู้อ่านมาติดตามดูความเคลื่อนไหว ก้าวข้ามการต่อสู้มลพิษทางอากาศไปสู่การผลักดัน ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ ในไทยโดยข้อเสนอของภาคประชาสังคม นำโดยเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย (ThaiCan) กับ (ร่าง) พระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. ให้รัฐได้คุ้มครองสิทธิของคนไทยที่จะได้หายใจอากาศสะอาด (Right to Breathe Clean Air)
1. การก้าวข้ามพรมแดนจากปัญหา “มลพิษทางอากาศ” สู่ “สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด” เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ปัญหา “มลพิษทางอากาศ” (Air Pollution) เป็นวิกฤติการณ์ที่กำลังทวีความร้ายแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า “อากาศที่ไม่สะอาด” (Dirty Air) ได้ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ด้านสุขภาพและสาธารณสุขทั่วโลก ซึ่งพบว่ามีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร (Premature Death) ที่มีสาเหตุจากมลพิษทางอากาศ กว่า 5 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี [1] นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดปัญหาในด้านอื่น ๆ ตามมาอีกนับไม่ถ้วน ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม ซึ่งอยู่บนรากฐานของปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่สะท้อนถึงปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ดังเช่นในกรณีของประเทศไทย [2]
ในบริบทของสากล “สิทธิมนุษยชน” (Human Rights) ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และ “สิ่งแวดล้อม” (Environment) มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนย่อมไม่สามารถมีและใช้สิทธิมนุษยชนต่าง ๆ อาทิ สิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิในสุขภาพ สิทธิในอาหาร สิทธิในน้ำ และสิทธิเด็ก ได้อย่างแท้จริงหากปราศจากการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ สะอาด ปลอดภัยและยั่งยืน [3] โดยเฉพาะการดำรงชีวิตอยู่ใน “อากาศสะอาด” (Clean Air) ซึ่งมักถูกเรียกรวมกันว่าเป็น “สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม” (Environmental Human Rights) อันประกอบด้วย “สิทธิเชิงเนื้อหา” (Substantive Rights) และ “สิทธิเชิงกระบวนการ” (Procedural Rights) [4]
“มลพิษทางอากาศ” จึงเป็น “การละเมิดสิทธิมนุษยชน” หลายประเภท อาทิ สิทธิในชีวิต สิทธิในสุขภาพ เป็นต้น [5] ซึ่งได้รับการรับรองในฐานะของ “สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ” (Constitutional Rights) โดยเฉพาะผลกระทบจากฝุ่นพิษขนาดเล็ก PM 2.5 ในประเทศไทยที่สร้างความเสียหายต่อสิทธิในชีวิตและสิทธิในสุขภาพของประชนชาวไทยอย่างร้ายแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา [6] ทั้งนี้ ในระดับองค์กรระหว่างประเทศได้มีความพยายามยกระดับเพื่อจัดตั้ง “สิทธิในสิ่งแวดล้อม (Right to Environment)” ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในหลายภูมิภาคในฐานะที่เป็นสิทธิมนุษยชน [7]
ต่อมาได้เกิดแนวคิดว่า “อากาศสะอาด” (Clean Air) ควรได้รับการยอมรับในฐานะ “สิทธิมนุษยชน” ประเภทหนึ่งด้วย โดยเรียกว่า “สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด” (Right to Breathe Clean Air) เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์ทุกคนต้องหายใจ และอากาศที่ควรหายใจต้องเป็นอากาศสะอาด ทั้งนี้ David Boyd ซึ่งเป็นผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Special Rapporteur) แนะนำว่าสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (The UN General Assembly) ซึ่งได้ออกมติหลายฉบับเพื่อรับรอง “สิทธิมนุษยชนในน้ำสะอาด (Human Right to Clean Water)” ก็ควรออกมติในทำนองเดียวกันเพื่อรับรอง “สิทธิมนุษยชนในอากาศสะอาด (Human Right to Clean Air)” โดยสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดเป็นเงื่อนไขและเชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน ได้แก่ สิทธิในชีวิตหรือสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิในสุขภาพ [5]
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่าคำว่า ‘อากาศสะอาด‘ ยังไม่ถูกระบุอยู่ใน “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDG) โดยตรง ทว่าสามารถเทียบเคียงได้กับเป้าหมายข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในข้อ 3.9 ที่ระบุถึง ‘การลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตราย และจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดินให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573′ เป้าหมายข้อที่ 7 ในเรื่องของพลังงาน ข้อ 7.2 การเข้าถึงเทคโนโลยีสะอาดในครัวเรือน เป้าหมายข้อที่ 11 เมืองและการตั้งถิ่นฐาน ข้อ 11.6 การลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรโดยรวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศ และ เป้าหมายข้อที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ [8]
2. กฎหมายอากาศสะอาดสำคัญไฉน ? : สถานการณ์ในระดับสากล และอุปสรรคที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ในระดับสากลเมื่อประชาชนมี “สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” รัฐแต่ละรัฐย่อมมี “หน้าที่” ที่จะต้องเคารพ (Respect) ปกป้อง (Protect) และทำให้สิทธิบรรลุผล (Fulfill) [9] ทั้งนี้ การได้มาซึ่งอากาศสะอาดนั้นจึงต้องไม่เป็นเพียง “วัตถุประสงค์ของนโยบาย” ที่รัฐตั้งไว้เท่านั้น แต่ต้องยกระดับให้เป็น “สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” โดยนำเอา “สุขภาพสิ่งแวดล้อม” และ “อนามัยสิ่งแวดล้อม” มาเป็นฐานคิดในการบริหารจัดการแบบใหม่ [7]
อนึ่ง David Boyd ได้เสนอแนวทางเกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐที่ผูกพันในการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งอากาศสะอาด ทั้งหมด 7 ประการ โดยหนึ่งในประการสำคัญ ได้แก่ การออกกฎหมาย กฎหมายลำดับรอง และมาตรฐานคุณภาพอากาศที่เข้มข้น ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการเผยแพร่แนวทางเกี่ยวกับคุณภาพอากาศในบรรยากาศ และคุณภาพอากาศภายในอาคาร ซึ่งรัฐควรนำมาจัดทำเป็นมาตรฐานระดับชาติที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย โดยพิจารณาถึงบริบทและความพร้อมของแต่ละรัฐที่แตกต่างกัน [5]
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศได้มีการตรากฎหมายเพื่อจัดการกับปัญหาอากาศที่ไม่สะอาดแตกต่างกันออกไป โดยสามารถจัดประเภทได้ ดังนี้
- ประเทศที่มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมครอบคลุมทุกเรื่องในกฎหมายฉบับเดียว หรือมีกฎหมายเฉพาะเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องอากาศ ตัวอย่างเช่น อียิปต์ (Environmental Protection Law) แอฟริกาใต้ (National Environmental Management Act) ปากีสถาน (Environmental Protection Act) บัลแกเรีย (Environmental Protection Act) ฟินแลนด์ (Environmental Protection Act และ Act on Implementation of the Legislation on Environmental Protection) ฝรั่งเศส (Code de l’environnement) ลิทัวเนีย (Environmental Protection Law) เนเธอร์แลนด์ (Environment Protection Act) [7]
- ประเทศที่มีทั้งกฎหมายสิ่งแวดล้อมสำหรับประเด็นทั่วไปและมีกฎหมายพิเศษเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับอากาศ ตัวอย่างเช่น จีน (Basic Environment Act และ Air Pollution Control Act) อินเดีย (Environment Protection Act และ (Air Prevention and Control of Pollution Act) ญี่ปุ่น (Basic Environment Law และ Air Pollution Control Law) เยอรมัน (Law on Conservation and Environmental Care และ Law on Protection for Environmental Harms due to Air Pollution, Noise, etc.) ไอร์แลนด์ (Protection of the Environment Act และ Air Pollution Act) สโลวาเนีย (Environment Protection Act และ Rules on Amendments and Supplements to the Rules on Initial Measurements and Operational Monitoring of the Emission of Substances into the Atmosphere from Stationary Sources of Pollution, and on the Conditions for their Implementation) สวีเดน (Swedish Environmental Code และ Ordinance on Environmental Quality Standards on Ambient Air) สวิตเซอร์แลนด์ (Environmental Protection Act และ Ordinance on Air Pollution) อังกฤษ (Environmental Protection Act และ Clean Air Act) สหรัฐอเมริกา (National Environmental Policy Act และ Clean Air Act) ออสเตรเลีย (Environmental Protection Act, Clean Energy Act, Ozone Protection Act, และ National Greenhouse and Energy Reporting Act) นิวซีแลนด์ ( Environment Act, Climate Change Response Act และ Clean Air Act) [7]
ในกรณีของประเทศไทย การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจัดอยู่ในประเภทแรก คือ มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมครอบคลุมทุกเรื่องในกฎหมายฉบับเดียว ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และกฎหมายเฉพาะเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องอากาศ ได้แก่ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 นอกจากนั้นยังกระจัดกระจายอยู่ในกฎหมายอื่น ๆ อีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐหลายกระทรวงในลักษณะที่แยกส่วนการทำงานกันอย่างชัดเจน ในขณะที่การจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่แยกส่วนไม่ได้ ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมานั้นไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากหน่วยงานยังมีลักษณะต่างฝ่ายต่างทำภายใต้ขอบเขตอำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่อย่างจำกัด และขาดการประสานงานร่วมกัน ตลอดจนมาตรฐานและระบบต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดการคุณภาพอากาศที่ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งการขาดการสถาปนาและรับรองสิทธิของประชาชนเกี่ยวกับอากาศอย่างเป็นระบบในกฎหมาย [6]
ดังนั้น การที่รัฐจะสามารถบริหารจัดการปัญหาหมอกควันพิษให้มีประสิทธิภาพได้นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายเพื่อรับรองและคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ แยกออกจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมทุกเรื่อง เนื่องจากการจัดการปัญหาด้านคุณภาพอากาศนั้น เป็นสิ่งที่มีความเฉพาะตัว และไม่สามารถใช้ระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของรัฐในปัจจุบันมาใช้แก้ไขปัญหาได้ ทั้งนี้ รัฐควรหลีกเลี่ยงการออกกฎหมายกระจัดกระจายแยกส่วนและขาดตอนเป็นช่วงๆ ด้วยการออกกฎหมายบูรณาการตั้งแต่ต้นทางหรือสาเหตุที่มาของการก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ จนถึงปลายทางหรือผลกระทบของมลพิษทางอากาศที่มีต่อระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชน โดยคำนึงถึงสภาพบริบทของประเทศไทยเป็นสำคัญผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ของกฎหมายอากาศสะอาดในต่างประเทศ แต่ไม่ใช่การลอกเลียน จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนแท้จริง
3. สาระสำคัญของ “ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ….” : บทบัญญัติ 8 ประการ ที่ประชาชนควรรู้
เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย (ThaiCAN) เห็นถึงปัญหาของการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทยดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงนำไปสู่การยกร่าง “ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ….” ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ริเริ่มเสนอโดยภาคประชาชนเพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาเห็นชอบบังคับใช้เป็นกฎหมาย [10]
สาระสำคัญของ “ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ….” ที่ถือเป็นหัวใจหลักของร่างกฎหมายที่จะเป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษในประเทศไทยได้นั้น สามารถสรุปสาระสำคัญได้ 8 ประการ กล่าวคือ [10]
● ประการที่หนึ่ง กฎหมายฉบับนี้ได้สถาปนาสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด ที่จะนำไปสู่การกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ประชาชนในรัฐได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว กล่าวคือ หากมองในแง่สิทธิเชิงเนื้อหาแล้ว บุคคลมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตด้วยอากาศสะอาดที่ไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ และไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งมีความสอดคล้องและสัมพันธ์กับสิทธิในสุขภาพและสิทธิในชีวิต อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองคุ้มครองในฐานะสิทธิมนุษยชน
สำหรับสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดในแง่ของสิทธิในเชิงกระบวนการแล้ว บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวกับคุณภาพของอากาศและผลกระทบของคุณภาพอากาศที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีสิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการกำหนดนโยบาย จัดทำกฎหมาย และกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาด และมีสิทธิในการเข้าถึงและได้รับความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดยรัฐมีหน้าที่ต้องเคารพ ปกป้อง และทำให้สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดของบุคคลเกิดขึ้นได้จริงอย่างสมบูรณ์ โดยรัฐต้องอำนวยการและกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพอย่างบูรณาการ
● ประการที่สอง กฎหมายฉบับนี้คำนึงถึงการบูรณาการมิติทางด้านสุขภาพ และมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมไปควบคู่กันเสมอ อันเนื่องมาจากการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศไม่ควรหยุดอยู่เพียงปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ควรได้รับความเอาใจใส่ในฐานะที่เป็นปัญหาสุขภาพด้วย โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในข่ายเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีความอ่อนแอทางร่างกาย มีภูมิคุ้มกันและความทนทานต่ำกว่าคนทั่วไป เช่น เด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยทางเดินหายใจ หรือผู้ทำงานกลางแจ้ง บุคคลกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลจากรัฐเป็นพิเศษ อย่างการได้รับการตรวจสุขภาพจากโรงพยาบาลของรัฐหรือสถานพยาบาล ซึ่งรัฐจัดให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ก็ต้องให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) เสมอ
● ประการที่สาม กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดกลไกการกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการทั้งในระดับนโยบาย (คณะกรรมการร่วมนโยบายอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ) ระดับกำกับดูแล (คณะกรรมการกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ) และระดับปฏิบัติการ (องค์การอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ) เชื่อมโยงกับทั้งในส่วนกลาง จังหวัด และเขตพื้นที่เฉพาะ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการควบคุม ติดตาม ดูแล ตรวจสอบ และเร่งรัดการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ให้บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง และมีการบูรณาการการทำงานระหว่างกฎหมายและระหว่างหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้การจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
● ประการที่สี่ เป็นกฎหมายที่สร้างแรงจูงใจควบคู่ไปกับบทลงโทษ โดยกำหนดหมวดกฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อสร้างและเพิ่มหรือลดแรงจูงใจ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล โดยเฉพาะการช่วยเหลือและเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ประกอบการซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแบบแผนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกัน บำบัด ขจัดหรือลดหมอกควันพิษ หรือส่งเสริมให้มีอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและร่วมรับผิดชอบในการจัดการหมอกควันพิษด้วย เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญ เช่น ระบบฝากไว้ได้คืน การกำหนดและโอนสิทธิในการปล่อยหมอกควันพิษ การประกันความเสี่ยงในความเสียหายต่อระบบนิเวศที่ทำให้คุณภาพอากาศด้อยลง มาตรการอุดหนุน สนับสนุน หรือส่งเสริมบุคคลหรือกิจกรรมสำหรับอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ เป็นต้น
● ประการที่ห้า การมุ่งเน้นการจัดการร่วม (Co-management) ที่เชื่อมโยงระหว่าง “ระบบจัดการโดยรัฐ” กับ “ระบบจัดการโดยชุมชน” ผสมผสานกัน โดยเป็นการจัดการร่วมที่มีคุณสมบัติพิเศษ เรียกว่า “การจัดการที่มีชุมชนเป็นฐาน” ซึ่งเป็นการจัดการร่วมที่ชุมชนมีบทบาทหลักและรัฐมีบทบาทรองในการสนับสนุนส่งเสริม ตั้งแต่การจัดทำนโยบาย การกำกับดูแล และการปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยการจัดการร่วมด้านอากาศสะอาดนั้นต้องคำนึงทั้งในมิติสุขภาพควบคู่กับมิติสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation) และสร้างความเข้มแข็งโดยการกระจายอำนาจ (Decentralization) เพื่อให้การแก้ปัญหาหมอกควันพิษสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบและทันท่วงที
● ประการที่หก การเปิดช่องแก้ปัญหาหมอกควันพิษในพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ การแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษนั้น ต้องหลีกเลี่ยงการแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีการเดียวกัน ไปแก้ปัญหาทุกเรื่อง (One size fits all) เนื่องจากปัญหาหมอกควันพิษในแต่ละพื้นที่นั้นมีลักษณะเฉพาะ และอาจจะมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ส่งผลให้วิธีการแก้ไขปัญหาก็ต่างกันไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น หมอกควันพิษที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดก็มักมีสาเหตุมาจากการเผาป่า หรือการเผาในภาคเกษตรกรรม ซึ่งแตกต่างจากในเขตเมืองที่มักมาจากภาคอุตสาหกรรมหรือยานพาหนะ ประกอบกับต้องเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้ถึงสาเหตุของปัญหาดีที่สุด
● ประการที่เจ็ด เป็นกฎหมายที่มุ่งการบูรณาการ (Integration) ในการทำงานเชิงระบบ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานแบบต่างคนต่างทำ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง หรือระหว่างหน่วยงานของรัฐกับภาคประชาสังคม โดยเฉพาะกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ในกฎหมาย เนื่องจากปัญหาหมอกควันพิษเป็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงหลายภาคส่วน และสลับซับซ้อนเกินกว่าที่จะขับเคลื่อนด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่ง นอกจากนั้นแล้ว ขอบเขตการบูรณาการของกฎหมายฉบับนี้ ยังหมายถึงการบูรณาการระหว่างมิติสิ่งแวดล้อมกับมิติสุขภาพ ระหว่างแรงจูงใจกับบทลงโทษ รวมทั้งบูรณาการสิทธิที่จะหายใจอากาศที่เป็นทั้งสิทธิเชิงเนื้อหา และสิทธิเชิงกระบวนการ
● ประการที่แปด การกำหนดหมวดหมอกควันพิษข้ามแดน อันเนื่องมาจากปัญหาหมอกควันพิษ เป็นปัญหาที่ไร้พรมแดน กล่าวคือ เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดหมอกควันพิษในประเทศหนึ่ง อาจส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ รอบข้างได้ จึงจำเป็นที่ต้องกำหนดมาตรการเพื่อป้องกัน และแก้ไขเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น หากสาเหตุหรือความรุนแรงของปัญหาเข้าข่ายหมอกควันพิษข้ามแดน โดยกำหนดความผิดสำหรับเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทย แต่ปล่อยให้หมอกควันพิษข้ามแดนเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทย สำหรับประเทศไทยแล้ว แหล่งกำเนิดหมอกควันพิษใหญ่อีกประการหนึ่ง คือ หมอกควันพิษข้ามแดน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้มีการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อบังคับใช้มาตรการตามความตกลงระหว่างประเทศเรื่องหมอกควันพิษข้ามแดน ค.ศ. 2002 (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution, 2002) อย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษข้ามแดน ตลอดจนกฎหมายภายในประเทศเท่าที่มีอยู่ ก็ไม่ได้มีฉบับใดบัญญัติมาตรการเกี่ยวกับหมอกควันพิษข้ามแดนเป็นการเฉพาะ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทบัญญัติกฎหมายภายในเรื่องหมอกควันพิษข้ามแดนในทำนองเดียวกันกับประเทศสิงคโปร์ และประเทศมาเลเซียซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเป็นกฎหมาย
4. ก้าวต่อไปของกฎหมายอากาศสะอาดภาคประชาชน : ความคืบหน้าการรวบรวมรายชื่อสนับสนุน
“ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …”
ในปัจจุบัน “ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ แบบบูรณาการ พ.ศ. …” โดยเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย เป็นร่างกฎหมายอากาศสะอาดของภาคประชาชนเพียงร่างกฎหมายเดียว ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้สิทธิเลือกตั้งสนับสนุนให้ครบอย่างน้อย 10,000 รายชื่อ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป
● ท่านใดที่สนใจร่วมสนับสนุน (ร่าง) กฎหมายอากาศสะอาดเพียงหนึ่งเดียวของภาคประชาชน
โปรดดูรายละเอียดขั้นตอนในการร่วมลงชื่อได้ที่เว็บไซต์ของเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย www.thailandcan.org รวมถึงติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่าง ๆ ของเครือข่ายอากาศ ประเทศไทย ได้ที่ Facebook Fan Page Thailand CAN เครือข่ายอากาศสะอาด และ Youtube ช่อง Thailand CAN
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.9) การลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตราย และจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดินให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG7 พลังงานสมัยใหม่ในราคาที่ซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน
– (7.2) การเข้าถึงเทคโนโลยีสะอาดในครัวเรือน
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน
– (11.6) การลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรโดยรวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศ
#SDG13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ถิรพร สิงห์ลอ – พิสูจน์อักษร
[1] David R. Boyd. The Human Right to Breathe Clean Air. Annals of Global Health. 2019; 85(1): 146, 1–2. DOI: https:// doi.org/10.5334/aogh.2646
[2] เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย, สมุดปกฟ้าอากาศสะอาด (Clean Air Blue Paper): เจาะลึกผลกระทบของมลพิษทางอากาศและรากเหง้าของปัญหา, นนทบุรี: ห้างหุ้นส่วนจำกัด สันสวย, 2563, หน้า 1-200.
[3] UN environment programme, “What are environmental rights?” [Online], Available from https://enlawfoundation.org/newweb/?cat=357.
[4] Louis J. Kotzé and Erin Daly, “A Cartography of Environmental Human Rights,” in the oxford handbook of Comparative Environmental Law, ed. Emma Lees and Jorge E. Vinuales (Oxford: Oxford University Press, 2019). p. 1044-1070.
[5] UN Human Rights Council, Report of the Special Rapporteur on the issue of human rights obligations relating to the enjoyment of a safe, clean, healthy and sustainable environment, 19 February 2017, A/HRC/34/49, [Online]. Available from http://srenvironment.org/sites/default/files/Reports/2019/UN%20HRC%20Right%20to%20clean%20air.pdf.
[6] เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย, สมุดปกฟ้าอากาศสะอาด (Clean Air Blue Paper): เจาะลึกผลกระทบของมลพิษทางอากาศและรากเหง้าของปัญหา, หน้า 151-155.
[7] คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม. “ไดอารี่ความคิด…เรามีสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด?” [ออนไลน์]. แหล่งที่มา https://thailandcan.org/knowledge
[8] SDG Knowledge Hub, “WHO Global Conference Recommends Reducing Deaths from Air Pollution by Two-Thirds by 2030” [Online]. Available from https://sdg.iisd.org/news/who-global-conference-recommends-reducing-deaths-from-air-pollution-by-two-thirds-by-2030/.
[9] United Nations Human Rights, “International Human Rights Law” [Online]. Available from https://enlawfoundation.org/newweb/?cat=357.
[10] เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย, “บันทึกเจตนารมณ์ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …” [ออนไลน์]. แหล่งที่มา https://thailandcan.org/knowledge