ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) หมายถึง ภาวะที่ร่างกายที่บริโภคอาหารและได้รับสารอาหารไม่เหมาะสมทั้งปริมาณและความครบถ้วนของอาหาร ซึ่งอาจจะได้รับน้อยหรือมากกว่าความต้องการ จึงทำให้ร่างกายเกิดภาวะผิดปกติขึ้น แบ่งออกเป็นภาวะโภชนาการต่ำ (Undernutrition) และภาวะโภชนาการเกิน (Overnutrition) โดยโภชนาการต่ำ หมายถึงสภาวะร่างกายที่เกิดจากการได้รับอาหารไม่เพียงพอ หรือ ได้รับสารอาหารไม่ครบ หรือมีปริมาณต่ำกว่าท่ีร่างกายต้องการ เช่น เกิดโรคขาดสารอาหาร ภาวะเตี้ยแคระเกร็น ผอมแห้ง ในขณะที่ภาวะโภชนาการเกิน หมายถึงสภาวะร่างกายที่ได้รับสารอาหารทั้งหมดหรือบางอย่างเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดการสะสมไว้และทำให้เกิดโรคตามมา เช่น ภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน
ปัญหาทุพโภชนาการไม่เพียงมีสาเหตุจากพันธุกรรมเท่านั้น แต่ยังมาจากปัจจัยภายนอกเช่น สิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจด้วย องค์กรทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้ให้นิยามภาวะทุพโภชนาการไว้ว่า “เป็นผลมาจากความไม่มั่นคงทางอาหารและโภชนาการ (Food and Nutrition Insecurity)” มีหลายระดับและมาจากหลายปัจจัย เช่น การบริโภคอาหารท่ีไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายโดยมองถึงความพอเพียงของอาหาร การเข้าถึงอาหาร และความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในระดับบุคคลและระดับครัวเรือน การขาดบริการด้านสุขภาพ เช่น การติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก และการให้ความรู้ทางด้านโภชนาการ ขาดการดูแลแม่และเด็กที่เหมาะสม และมีทรัพยากรไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตหรืออาศัยเติบโตในพื้นที่หนึ่ง เป็นต้น
ภาวะโภชนาการส่งผลต่ออนาคตของบุคคลนั้น มีผลต่อการเจริญเติบโต ความแข็งแรงของร่างกาย จิตใจ ระดับสติปัญญา และมีผลต่อการทำงาน การสร้างรายได้ของผู้นั้น ด้วยเหตุนี้เองภาวะโภชนาการจึงมีผลต่อเศรษฐกิจระดับประเทศ และจำเป็นต้องมีการส่งเสริมโภชนการตั้งแต่แรกเกิด เพราะการเจริญเติบโตของเด็กแรกเกิด – 5 ปี เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่คุ้มค่า
เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะทุพพลภาพที่เกิดขึ้น ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 65 เมื่อปี 2012 สมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับรอง WHA Global Nutrition Targets 2025 หรือ เป้าหมายโภชนาการระดับโลก ปีพ.ศ. 2568 ประกอบด้วย เป้าหมาย 6 ตัวชี้วัด ได้แก่
- ภาวะเตี้ยแคระแกร็น (stunting)ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลดลงร้อยละ 40
- ภาวะโลหิตจางในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ลดลงร้อยละ 50
- จำนวนเด็กที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม ลดลงร้อยละ 30
- ภาวะน้ำหนักเกิน (overweight) ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องไม่เพิ่มข้ึน
- สัดส่วนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรง เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 50
- ภาวะผอม (wasting) ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องไม่เกินร้อยละ 5
ข้อมูลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานเฝ้าระวังด้านโภชนาการในระดับประชาคมอาเซียน เมื่อปีพ.ศ. 2562 กรมอนามัยเผยว่า 1 ใน 10 ของเด็กปฐมวัยไทยมีภาวะเตี้ยหรืออ้วน สถานการณ์ปัญหาทุพโภชนาการในไทยพบเด็กอายุ 0 – 5 ปี มีภาวะเตี้ย อ้วน ผอม ร้อยละ 10.6, 9.1 และ 5.6 ตามลำดับ และเมื่อเด็กเติบโตเข้าสู่วัยเรียนในช่วงอายุ 6 – 14 ปี มีแนวโน้มพบภาวะเตี้ยร้อยละ 8.3 และผอมร้อยละ 4.3 นอกจากนี้ยังพบว่ามีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.1 ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มดีกว่าสถานการณ์เฉลี่ยระดับนานาชาติที่พบว่าอัตราเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีที่ไม่แคระแกร็น อยู่ที่ระดับ 0.89 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานโลกที่กำหนดค่าไว้ในระดับ 0.77
ซึ่งคำว่า ‘ภาวะทุพโภชนาการ’ ได้ปรากฏอยู่ใน #SDG2 เป้าประสงค์ท่ี 2.2 ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบและแก้ไขปัญหาความต้องการสารอาหารของหญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุภายในปี พ.ศ. 2573 รวมถึงบรรลุเป้าหมายท่ีตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ากว่า 5 ปี ภายในปี พ.ศ. 2568
By 2030, end all forms of malnutrition, including achieving, by 2025, the internationally agreed targets on stunting and wasting in children under 5 years of age, and address the nutritional needs of adolescent girls, pregnant and lactating women and older persons
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 2 (2560)
กรมอนามัย เผย 1 ใน 10 เด็กไทยพบเตี้ย-อ้วน ขานรับชาติอาเซียน เร่งขจัดปัญหาทุพโภชนาการเด็กไทยตามเป้าหมายโลก
แผนปฏิบัติการด้านโภชนาการระดับชาติ 5 ปี พ.ศ. 2562-2566 โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
อ่านเพิ่มเติม:
UNICEF – The state of food security and nutrition in the world 2020 : Transforming food systems for affordable healthy diets