สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ร่วมกับ สำนักงานสนับสนุนระดับภูมิภาค (RSO) ของกระบวนการบาหลี (Bali Process) เผยแพร่รายงานการศึกษา ‘Corruption as a Facilitator of Smuggling of Migrants and Trafficking in Persons in the Bali Process Region with a focus on Southeast Asia’ ครั้งแรกของการศึกษา (ที่ยังไม่เคยมีการเก็บข้อมูลหรือศึกษาอย่างจริงจังมาก่อน) ที่ชี้ว่า ‘การทุจริตคอร์รัปชัน’ เป็นตัวการเอื้อให้การลักลอบขนคนเข้าเมืองและการค้ามนุษย์ทำได้สะดวกขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิกกระบวนการบาหลี โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทั้ง 10 ประเทศอาเซียนก็เป็นสมาชิกของกระบวนการนี้ด้วย
ประเด็นการทุจริตเกี่ยวพันกับกิจกรรมผิดกฎหมายที่หลากหลาย อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption – UNCAC) สนับสนุนให้มีการเอาผิดกับการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งหมายรวมถึงการติดสินบน การยักยอกฉ้อฉล การแลกเปลี่ยนกันบนผลประโยชน์ของการให้สิทธิพิเศษกับการจ่ายใต้โต๊ะ (trading in influence) การใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิดเพื่อผลประโยชน์ของตนหรือพวกพ้อง การที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น-ร่ำรวยผิดปกติ (illicit enrichment) และการฟอกเงิน โดยที่ตระหนักว่าการคอร์รัปชันสามารถเกิดได้ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และมักเป็นเรื่องของตัว ‘ระบบ’ หรือ ‘โครงสร้าง’ ที่มีจุดพร่อง เปราะบาง รวมถึงการมีธรรมาภิบาลในการบริหารที่ไม่เพียงพอ
ซึ่งการทุจริตคอร์รัปชันอาจเกิดขึ้นในวงแคบ เช่น การเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคคลเพียงบุคคลเดียว หรือเข้าไปเกี่ยวพันกับคนหลายคนในองค์กรหนึ่ง โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานของตนให้ได้มาซึ่งอำนาจหรือผลประโยชน์ส่วนตน เป็นต้น ไปจนถึงในวงกว้างขึ้นที่อาจกระทบกับองค์กร/หน่วยงานทั้งหมด ตั้งแต่นโยบาย กระบวนการยุติธรรม และระบบคนเข้าเมือง
ผลการศึกษาจากรายงานชิ้นนี้ชี้ว่าการติดสินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ไม่ต้องมารู้เห็นกับกระบวนการ หรือให้เข้ามาช่วยเหลือ/เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการด้วยเลยนั้น เป็นเรื่องที่มีหลักฐานพบเห็นโดยทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่หลักฐานส่วนใหญ่ชี้ว่า มีบริบทถึง 9 บริบท/สถานการณ์ด้วยกันที่สุ่มเสี่ยงหรือเอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นได้ ที่การทุจริตคอร์รัปชันทำให้กระบวนการของทั้ง 9 ข้อนี้เป็นไป ‘โดยสะดวก’ มากขึ้น หรือ ‘ระงับและยับยั้งความยุติธรรม’ ในบางขั้นตอนไว้ ได้แก่
- การปฏิสัมพันธ์แรกเริ่มและการรับเข้า (recruitment) ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่ยินยอมให้พาเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย (smuggled migrants) และเหยื่อการค้ามนุษย์ (victims of trafficking)
- การผลิต การจัดหา และการใช้เอกสารปลอม
- การข้ามเขตแดนทางบก ทะเล และอากาศ
- การขนส่งคมนาคม
- การเคลื่อนที่/เดินทางในการลักลอบขนคนเข้าเมืองและเหยื่อการค้ามนุษย์ผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองทั้งด่านทางบก ทะเล และอากาศ (สนามบิน)
- ที่พักอาศัย
- การบังคับใช้กฎหมายและการสืบสวนคดีการลักลอบขนคนเข้าเมืองและการค้ามนุษย์ (หรือการยับยั้งไม่ให้มีการสืบสวนคดี)
- การดำเนินคดีอาญาและพิจารณาคดีในศาล (หรือการขัดขวางไม่ให้มีการดำเนินคดี/พิจารณาคดี) กับผู้ลักลอบคนขนและผู้กระทำการค้ามนุษย์
- การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่ยินยอมให้พาเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย และระหว่างผู้ให้บริการกับเหยื่อการค้ามนุษย์
นอกจากนี้แล้ว ยังชี้ว่ามีเจ้าหน้าที่ภาครัฐบางตำแหน่งที่เปราะบาง และ/หรือ มักตกเป็นเป้าหมายของการถูกเสนอให้รับสินบนโดยผู้ค้ามนุษย์และผู้ลักลอบพาเข้าเมือง หรือทุจริตในรูปแบบอื่นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายในท้องถิ่นนั้นโดยเฉพาะที่ประจำอยู่บริเวณชายแดน เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านเอกสารการเดินทาง เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ประจำอยู่ที่สนามบินและด่านบนบก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือทำงานร่วมกับอะเจนซีรับเข้าแรงงาน
ส่วนอุปสรรคภายในระบบราชการเองและช่องทางการเข้าเมืองถูกกฎหมายที่มี ‘ค่าใช้จ่ายสูง’ ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญเช่นกันที่เอื้อต่อการลักลอบขนคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ ซึ่งพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชันอีกทอดหนึ่ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยมักจะประสบกับผลที่ตามมาจากการกระทำมากกว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูง หรือเมื่อมีการตรวจพบว่าเจ้าหน้าที่ใดที่รับสินบนหรือใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปในทางมิชอบแล้ว บทลงโทษมักเป็นเพียงการโยกย้ายหรือพักงานเป็นการชั่วคราวเท่านั้น มากกว่าที่จะถูกดำเนินคดีทางอาญา
ซึ่งในมุมของกฎหมายอีกประการหนึ่งคือการทุจริตคอร์ปชั่นได้ ‘ประนีประนอม’ กับ ‘การคุ้มครองสิทธิ’ ของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและเหยื่อการค้ามนุษย์ กล่าวคือได้เข้ามายับยั้งการสืบสวนคดีในสองประเภทอาชญากรรมนี้ รวมถึงได้คุ้มครองสิทธิ-ละเว้นโทษผู้กระทำผิดแทน ขัดกับอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (United Nations Convention against Transnational Organized Crime – UNTOC) และพิธีสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลักลอบขนคนเข้าเมืองและการค้ามนุษย์ ที่ยังคงให้การคุ้มครองสิทธิของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่ยินยอมให้พาเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายและเหยื่อการค้ามนุษย์อยู่
โดยในรายงานศึกษาระบุว่า เพื่อการตอบสนองต่อการทุจริตคอร์รัปชันในสองประเภทอาชญากรรมดังกล่าวกับประเทศภายใต้กระบวนการบาหลี อาจสามารถทำได้โดยการผสานความผิดของการทุจริตคอร์รัปชันในหมู่เจ้าหน้าที่กับบทลงโทษตามกฎหมายอาญา – ให้มีการสืบสวน ดำเนินคดีทางอาญา และลงโทษในคดีการทุจริตคอร์รัปชัน – มีการผสานมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในนโยบาย การดำเนินงาน และการอบรมเจ้าหน้าที่ในด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์และการต่อต้านการลักลอบขนคนเข้าเมือง ตลอดจนสนับสนุนหลักธรรมาภิบาลและความซื่อสัตย์-มั่นคง-มีคุณธรรม (Integrity) สนับสนุนความโปร่งใส ความยุติธรรม และความรับผิดรับชอบ จัดการกับการทุจริตคอร์รัปชันในภาคเอกชน และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชันข้ามชาติ เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้ว่ารายงานเล่มนี้จะวิเคราะห์ข้อมูลจากหลักฐานการทุจริตคอร์รัปชันที่เอื้อต่อการลักลอบขนคนเข้าเมืองและการค้ามนุษย์ แต่ข้อมูล รายงาน และการศึกษาอย่างเป็นระบบยังคงจำกัด โดยผลกระทบจากการทุจริตคอร์รัปชันในสองอาชญากรรมข้างต้นยังไม่เป็นที่ทราบชัด เพราะยังไม่มีการศึกษาวิจัยมากนัก อย่างไรก็ดีทาง UNODC ได้ทิ้งท้ายไว้โดยหวังว่ารายงานเล่มนี้จะสามารถชี้ให้เห็น ‘ช่องว่าง’ ที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขต่อไปได้ (Francesco Checchi, UNODC’s Regional Anti-Corruption Advisor)
กระบวนการบาหลี (Bali Process) – การหารือระดับภูมิภาคอย่างสมัครใจและไม่มีผลผูกพันในเรื่องการลักลอบขนคนเข้าเมือง การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้อง (People Smuggling, Trafficking in Persons and Related Transnational Crime) ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิกอยู่ 49 ประเทศ ซึ่งรวมถึง 10 ประเทศในอาเซียน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16
– (16.2) ยุติการข่มแหง การใช้/หาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ ความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
– (16.3) ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมแก่ทุกคน
– (16.5) ลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และการรับสินบนทุกรูปแบบ
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม