Site icon SDG Move

Carbon Footprint มหาศาลจากการขุด Bitcoin ทั่วโลก นำมาสู่การยกเลิกการชำระเงินซื้อ Tesla ด้วย Bitcoin

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2021 อีลอน มัสก์ (Elon Musk) CEO บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Tesla Inc. ประกาศผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ว่า Tesla ได้ระงับการรับชำระเงินด้วยบิตคอยน์ (Bitcoin) ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เนื่องจากมีความกังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในการขุดเหรียญบิตคอยน์และการทำธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะพลังงานจากถ่านหินที่ปล่อยมลพิษที่เป็นอันตรายที่สุด ซึ่งนับเป็นเวลาหนึ่งเดือนเท่านั้นหลังจากที่ Tesla เพิ่งประกาศว่าสามารถใช้เหรียญบิตคอยน์ซื้อรถยนต์ของเทสลาในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

สกุลเงิน Bitcoin คือ สกุลเงินในรูปแบบของดิจิทัล ที่ต้องใช้พลังงานจำนวนมากในผลิต เนื่องจากต้องใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงในการถอดสมการคณิตศาสตร์ หรือ ที่เรียกว่า ‘การขุดบิตคอยน์’ หรือ ‘Bitcoin mining’

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศแสดงให้เห็นว่า ‘การขุดบิตคอยน์’ ใช้พลังงานมหาศาล โดยอัตราการใช้พลังงานทั่วโลกเพื่อขุดบิตคอยน์ในปัจจุบันมีปริมาณเท่ากับการใช้พลังงานของประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี 2019 ทั้งปี และยังไม่รวมถึงระบบการเงินที่ดำเนินการด้วยพนักงานและคอมพิวเตอร์จำนวนหลายล้านเครื่อง ก็ใช้พลังงานในปริมาณสูงเช่นกัน

เมื่อบิตคอยน์เริ่มกลายเป็นสกุลเงินกระแสหลักเนื่องจากหลายบริษัทและสถาบันทางการเงินรายใหญ่ของสหรัฐฯ ยอมรับให้เป็นสกุลเงินที่ชำระเงินและทำธุรกรรมต่างๆ ได้ จึงทำให้เกิดความต้องการมากขึ้นและตามมาด้วยราคาที่สูงขึ้น นักขุดจำนวนมากจึงแข่งขันกันอย่างหนักหน่วงในการแก้สมการคณิตศาสตร์เพื่อขุดเหรียญให้ได้เร็วที่สุดด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งต้องการใช้พลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ

การศึกษาในปี 2019 ที่ตีพิมพ์ลงวารสารวิทยาศาสตร์ Joule คาดว่าการขุดบิตคอยน์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 22 – 22.9 ล้านเมตริกตันต่อปี หรือเท่ากับระดับที่ทั้งจอร์แดนและศรีลังกาปล่อย อุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซีจึงมีความพยายามมากขึ้นในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการขุดบิตคอยน์ และการเข้าสู่ตลาดคริปโตของบริษัทระดับใหญ่ก็อาจสามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิต ‘บิตคอยน์สีเขียว’ หรือ “Green Bitcoin’ ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนได้ อีกทั้งการกำหนดนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลทั่วโลกก็อาจช่วยลดผลกระทบนี้ได้เช่นกัน

หลายโปรเจกต์ทั้งในแคนาดาไปจนถึงไซบีเรียกำลังค้นหาวิธีการขุดบิตคอยน์โดยไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และใช้พลังงานทางเลือก เช่น พลังงานน้ำ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และทำให้สกุลเงินนี้เป็นที่ยอมรับของนักลงทุนมากขึ้น

แต่การเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกก็ทำให้ต้นทุนในการขุดบิตคอยน์สูงขึ้น โดยเฉพาะนักขุดในประเทศจีนที่ผลิตบิตคอยน์ถึง 70% ของจำนวนทั้งหมดในโลก โดยใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งมาจากถ่านหินเป็นหลักในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี เพราะมีราคาถูก และใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานน้ำ ในช่วงฤดูที่มีฝนตกของปีเท่านั้น ดังนั้นหากสามารถสร้างแรงจูงใจให้เฉพาะนักขุดในจีนเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนก็จะช่วยแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขุดบิตคอยน์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอุตสาหกรรม เกี่ยวข้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 7 การเข้าถึงพลังงานสะอาด ในประเด็น การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน (Renewable Energy) (7.2) และการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (7.3)
- SDG 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม ในประเด็น ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน (9.4)
- SDG 13 รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็น และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (13.2)

ที่มา: Thomson Reuters Foundation News, Siam Blockchain

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version