Site icon SDG Move

ข้อเรียกร้องให้ประเทศแถบแคริบเบียน ติดฉลากเตือนอาหารปริมาณน้ำตาล/โซเดียมสูง เพื่อลดการเกิดโรค NCDs

ประเทศสมาชิก CARICOM (Caribbean Community and Common Market) หรือ ประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน อยู่ระหว่างการโหวตรับ ร่างสุดท้ายของมาตรฐานระดับภูมิภาคสำหรับข้อกำหนดการติดฉลากอาหารสำเร็จรูป ที่รวมถึงการติดฉลากแปดเหลี่ยมเพื่อแจ้งเตือนปริมาณน้ำตาลหรือไขมันสูงด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์

ตัวอย่างฉลากแปดเหลี่ยมเพื่อแจ้งเตือนปริมาณสารอาหารสูง
ที่มา: Healthy Caribbean

หากมีการบังคับใช้ฉลากนี้จริงจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถระบุอาหารที่มีน้ำตาล โซเดียม หรือไขมันสูง ได้อย่างรวดเร็ว สะดวก และถูกต้อง โดยการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบเหล่านี้มากเกินไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น ภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และไขมันอุดตันในเส้นเลือด ฉลากเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริโภคเลือกทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ และกระตุ้นให้ผู้ผลิตลดปริมาณส่วนประกอบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพลง

การติดฉลากบนด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ (Front-of-Package Labeling: FOPL) ถูกบังคับใช้แล้วในหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก และ ชิลี โดยนักวิจัยจากสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของเม็กซิโกประเมินว่า การติดฉลากคำเตือนให้ผู้บริโภคชาวเม็กซิกันทราบเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นและข้อมูลสุขภาพโดยทั่วไปบนบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เริ่มต้นเมื่อเดือนตุลาคม 2020 จะช่วยลดปริมาณแคลอรี่ที่ถูกบริโภคลง 14.7% หลังมีการบังคับใช้ไป 5 ปี และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคอ้วนได้ประมาณ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันเด็กในประเทศประเทศแถบแคริบเบียน ร้อยละ 33 มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ด้วยเหตุนี้ Healthy Caribbean Coalition (HCC) พันธมิตรภาคประชาสังคมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และผลักดันการแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคร่วมกับนักวิชาการ เรียกร้องให้ผู้นำประเทศหมู่เกาะแคริบเบียนดำเนินการอย่างรวดเร็วและจัดลำดับความสำคัญของนโยบายอาหารเพื่อสุขภาพไว้ระดับต้น รวมถึงยกระดับมาตรฐานการติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปด้วยการติดฉลากเตือนโภชนาการแบบแปดเหลี่ยมบนหน้าบรรจุภัณฑ์

การปรับเปลี่ยนการติดฉลากเตือนเช่นนี้ อาจมีแรงต้านจากผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนและอาจกระทบยอดขาย แต่ HCC อธิบายว่า รัฐมีพันธกรณีภายใต้กรอบสิทธิต่อสุขภาพของประชาชนในการปรับใช้มาตรการกำกับดูแลที่มุ่งเน้นจัดการกับโรคไม่ติดต่อและดำเนินการควบคุมการผลิตอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และไม่ส่งเสริมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพประชาชน

อาหารที่ดีต่อสุขภาพ เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 2 ขจัดความหิวโหย ในประเด็น การเข้าถึงอาหารปลอดภัยและมีโภชนาการ (2.1) และ ยุติภาวะทุพโภชนาการ (2.2)
- SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ (3.4)

ที่มา: Barbados Today , EWNews

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version