Site icon SDG Move

SDG Vocab | 06 – Sustainable Agriculture – เกษตรกรรมยั่งยืน

ระบบการเกษตรอุตสาหกรรมสามารถสร้างผลผลิตอาหารและเส้นใยทำสิ่งทอได้จำนวนมหาศาล เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ และการมีใช้สารเคมีจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดการปนเปื้อนมลพิษที่อันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เกษตรรรายย่อยเป็นระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวแปลงใหญ่ ก็ทำให้คุณภาพดินเสื่อมถอย ขาดความหลากหลายของพันธุ์พืช ลดความสามารถในการฟื้นตัวเมื่อเจอภัยแล้ง โรค หรือศัตรูพืช และยังทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกร แรงงานในภาคเกษตร รวมถึงสังคมชนบทเปลี่ยนไป

แนวโน้มการทำเกษตรในหลายทษวรรษที่ผ่านมานี้จึงเปลี่ยนไปสู่ระบบการผลิตอาหารทางเลือกที่มีความยั่งยืนมากขึ้น และยังจะต้องสามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในระยะยาวได้

เกษตรกรรมยั่งยืน คือ ระบบการผลิตทางการเกษตรและวิถีเกษตรกรรมที่มีความสมดุลทั้งสามมิติ คือ มิติด้านสิ่งแวดล้อม – อนามัยสิ่งแวดล้อม มิติด้านเศรษฐกิจ -ความสามารถในการทำกำไร และมิติด้านสังคม – ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม

ที่มา: PostHarvest

หลายหน่วยงานในไทยทั้งองค์การพัฒนาเอกชน ภาครัฐ นักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาชน ได้นิยามคำว่า ‘เกษตรกรรมยั่งยืน’ คล้ายคลึงกัน โดยมีตัวอย่างเช่น

เครือข่ายเกษตรทางเลือกได้นิยาม เกษตรกรรมยั่งยืน ว่าเป็น “วิถีเกษตรกรรมที่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและดำรงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพและพอเพียงตามความจำเป็นพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรและผู้บริโภค พึ่งพาตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้ออำนวยให้เกษตรกร และชุมชนท้องถิ่นสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นอิสระ ทั้งนี้เพื่อความผาสุกและความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติโดยรวม”

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) ได้ให้นิยาม คำว่า เกษตรกรรมยั่งยืน คือ “ระบบการทำการเกษตรที่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศ โดยจะต้องช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรในไร่นาและสิ่งแวดล้อม และลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกให้ได้มากที่สุดและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และมีผลตอบแทนที่จะให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพและประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเกษตรกรรมที่ยั่งยืน โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการหลายคณะเพื่อผลักดันการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ได้กําหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ รวม 10 ยุทธศาสตร์ มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 3 ‘การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน’ เป็นส่วนใหญ่ และมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องนอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 4 ‘การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ โดยมีการตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนเป็น 5,000,000 ไร่ ในปี 2564 ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่าในปี 2560 ได้เพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนประมาณ 1.08 ล้านไร่ และดำเนินการเรื่อยมาจนในปี 2563 ได้เพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนประมาณ 1.15 ล้านไร่

เป้าหมายของเกษตรกรรมยั่งยืนคือการตอบสนองความต้องการด้านอาหารและสิ่งทอของสังคมในปัจจุบัน โดยไม่ลดทอนความสามารถของคนรุ่นต่อไปในการตอบสนองความต้องการของตนเอง

ดังนั้นเกษตรกรรมยั่งยืน ต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการทั้งทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติในระยะยาวเป็นสำคัญเท่าเทียมกันกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้น การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในภาคเกษตร หมายถึง การพิจารณาความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การทำงานและความเป็นอยู่ของแรงงาน ความต้องการของชุมชนชนบท และสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ในส่วนของการบริหารจัดการดินและทรัพยากรธรรมชาติ คือการรักษาและพัฒนาคุณภาพทรัพยากร หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ใช้ทรัพยากรเหล่านี้ในรูปแบบที่จะสามารถฟื้นฟูได้ใหม่ในอนาคต

ในทางปฏิบัติ ผู้ที่อยู่ในระบบอาหารทุกคนสามารถมีบทบาทในการสร้างระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนได้ โดยผู้ปลูกอาจใช้วิธีการส่งเสริมคุณภาพของดิน ลดการใช้น้ำ ลดการใช้สารเคมี ลดมลพิษในพื้นที่เพาะปลูก ผู้บริโภคและผู้ค้าปลีกสามารถเลือกบริโภค อาหารที่ ‘ให้ความสำคัญกับคุณค่า’ (value-based) ที่ไม่ใช่แค่ราคาถูกเท่านั้น แต่ผลิตด้วยวิธีการที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนงานในภาคเกษตร เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย

ในระดับผู้กำหนดนโยบาย การสร้างนโยบายที่ผสานผลประโยชน์ทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจเท่านั้นที่จะส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายได้

ซึ่งคำว่า ‘เกษตรกรรมยั่งยืน’ ได้ปรากฏอยู่ใน #SDG2 เป้าประสงค์ท่ี 2.4 สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตผลและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่นๆ และจะช่วยพัฒนาที่ดินและคุณภาพดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี พ.ศ. 2573 ในตัวชี้วัด 2.4.1 สัดส่วนหรือร้อยละของพื้นที่เกษตรที่มีการทำเกษตรแบบยั่งยืน

by 2030 ensure sustainable food production systems and implement resilient agricultural practices that increase productivity and production, that help maintain ecosystems, that strengthen capacity for adaptation to climate change, extreme weather, drought, flooding and other disasters, and that progressively improve land and soil quality

Indicator 2.4.1: Proportion of agricultural area under productive and sustainable agriculture

ศึกษา Metadata ของตัวชี้วัด 2.4.1 โดยละเอียดที่ – Metadata of SDG Indicator 2.4.1 : Proportion of agricultural area under productive and sustainable agriculture

ศึกษา ‘เกษตรกรรมยั่งยืน’ จากหน่วยงานที่ขับเคลื่อนในไทย :
มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย (BIOTHAI)


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา:
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 2 (2560)
ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน – มูลนิธินวชีวัน
What is Sustainable Agriculture?
Sustainable Agriculture – Nature Education Knowledge

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version