ทีมนักวิจัย Peter T. Katzmarzyk จากศูนย์วิจัยชีวการแพทย์ประจำมหาวิทยาลัยรัฐหลุยเซียนา สหรัฐฯ เผยแพร่การศึกษาล่าสุด ‘Physical inactivity and non-communicable disease burden in low-income, middle-income and high-income countries‘ ใน British Journal of Sports Medicine ระบุว่าร้อยละ 7.2 ของการตายจากทุกสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บจาก 168 ทั่วโลกที่ทำการศึกษา และ 7.6% ของโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงข้อมูลแยกย่อยไปในรายละเอียดของโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ นั้น ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องใกล้ตัวเราอย่าง ‘การไม่ได้ขยับร่างกาย’ (physical inactivity) ที่กลายเป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงส่งผลชัดเจนต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อและการตายก่อนวัยอันควรมากขึ้นในปัจจุบัน
ทีมผู้วิจัยได้ศึกษาข้อมูล/งานวิจัยที่เผยแพร่ในช่วงปี 2555 ถึง 2563 โดยมีโจทย์สำคัญ สำรวจดูว่าจะสามารถลดจำนวนการเกิดโรคและการตายจากทุกโรคไม่ติดต่อได้หรือไม่ หากผู้คน ‘ขยับ-เคลื่อนไหวร่างกาย’ กันมากขึ้น โดยใช้วิธีประเมินด้วย ‘การวัดผลกระทบของปัจจัยที่ศึกษาต่อการเกิดโรคในประชากรทั้งหมด’ (Population Attributable Risk – PAR) กับปัจจัย ‘การไม่เคลื่อนไหวร่างกาย’ (physical inactivity) ใน 168 ประเทศจากหลากหลายภูมิภาค
ซึ่งนอกจากจะมีข้อค้นพบหลักตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ยังพบความเชื่อมโยงของการไม่ขยับร่างกายกับโรคไม่ติดต่อติดต่ออื่น ๆ ด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูงที่ร้อยละ 1.6 มะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่ร้อยละ 2.2 มะเร็งเต้านมที่ร้อยละ 2.8 มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่ร้อยละ 2.8มะเร็งลำไส้ที่ร้อยละ 2.9 โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ร้อยละ 4.5 โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่ร้อยละ 5 โรคหลอดเลือดสมองที่ร้อยละ 5 มะเร็งหลอดอาหารที่ร้อยละ 7.2 โรคสมองเสื่อมที่ร้อยละ 8.1 รวมถึงประเด็นสุขภาพจิตด้วยที่ร้อยละ 7.2 เป็นต้น
เพิ่มสูงขึ้นจากข้อมูลการศึกษาเดิม (ร้อยละ 6-10) ของการตายก่อนวัยอันควร โรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้
โดยภาระในการรักษาโรคไม่ติดต่อที่เป็นผลมาจากการไม่ขยับร่างกาย ยังแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคโดยเปรียบเทียบ ประเทศในแถบอเมริกาใต้และแคริบเบียน ตลอดจนประเทศที่ร่ำรวยในยุโรป สหรัฐฯ และเอเชียแปซิฟิก มีภาระการรักษาโรคที่สูงที่สุด ส่วนประเทศในแถบแอฟริกาซับซาฮารา โอเชียเนีย เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่ามีภาระการรักษาโรคไม่ติดต่อ (จากการไม่ขยับร่างกาย) น้อยที่สุด ขณะที่ปัจจัยการไม่ขยับร่างกายเกี่ยวข้องกับการตายจากโรคทั้งหมดและการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (ต่อจำนวนประชากร) ในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ที่ร้อยละ 69 และร้อยละ 74 ตามลำดับ
ทางทีมผู้วิจัยยังได้เน้นย้ำว่า ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการไม่ได้ขยับร่างกายจนส่งผลทำให้มีจำนวนการเกิดโรคไม่ติดต่อเพิ่มขึ้นนั้น ได้กลายเป็น ‘ภาระการรักษาทางการแพทย์ระดับโลก’ ในตอนนี้ ดังนั้น จึงควรมีความร่วมมือระหว่างประเทศ เดินหน้าไปพร้อมกับแผนปฏิบัติการว่าด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย 2561 – 2573 ขององค์การอนามัยโลก (WHO’s Global Action Plan on Physical Activity for 2018 to 2030) ด้วย เพื่อประชากรโลกที่มีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
การเคลื่อนไหวร่างกาย (Physical Activity) ตามที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายไว้ หมายถึงการเคลื่อนไหวหรือการทำงานของร่างกายโดยใช้กล้ามเนื้อโครงสร้าง โดยมีทั้งระดับการเคลื่อนไหวน้อย (ยืน นั่ง) ปานกลาง (การเดินเร็ว เต้นรำ ขี่จักรยาน ทำงานบ้าน) และหนัก (การวิ่ง เดินขึ้นบันได ทำงานหนักแบบชาวเกษตรกร นักกีฬา)
● เข้าถึงการศึกษาฉบับเต็มที่ : Physical inactivity and non-communicable disease burden in low-income, middle-income and high-income countries
● เข้าถึงแผนปฏิบัติการว่าด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย 2561 – 2573 ของ WHO ที่ : WHO’s Global Action Plan on Physical Activity for 2018 to 2030
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลง 1 ใน3 ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค รวมถึงสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
และยังส่งผลต่อ SDGs เป้าหมายอื่น ๆ ด้วย
แหล่งที่มา:
https://www.healio.com/news/primary-care/20210513/physical-inactivity-is-significant-global-health-burden
https://bjsm.bmj.com/content/early/2021/03/01/bjsports-2020-103640