ภาคธุรกิจทั่วโลกต่างมีความต้องการดูแลชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจการ โดยเฉพาะประเด็นสุขภาพจิตที่มีจำเป็นเร่งด่วนมากขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้รูปแบบการทำงานของหลายคนเปลี่ยนไปและต้องเผชิญความเครียดจากการปรับตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น ยังมีการประเมินว่าภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้าของคนทำงานสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทุกปี เนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานที่หายไป
Wellcome องค์กรการกุศด้านการวิจัยลจากสหราชอาณาจักร ร่วมกับ World Economic Forum เผยแพร่งานวิจัยชิ้นใหม่ในประเด็นสุขภาพจิตในที่ทำงาน “Putting Science to Work – Understanding What Works for Workplace Mental Health” จัดทำโดยทีมวิจัยระดับโลก 10 ทีมในปี 2020 ที่ได้ศึกษาและแนวทางในการจัดการความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าในที่ทำงานที่มีประสิทธิภาพพร้อมหลักฐาน โดยโฟกัสไปที่คนทำงานอายุน้อย
ผลการศึกษาของแต่ละทีมวิจัยแสดงให้เห็นแนวทางที่หลายๆ ธุรกิจสามารถนำไปปรับใช้ได้ โดยมีตัวอย่าง เช่น –
- นั่งทำงานน้อยลง
การนั่งทำงานติดเก้าอี้นานเกินไปมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ การลดเวลานั่งทำงานของพนักงานออฟฟิศลงเพียงหนึ่งชั่วโมงต่อวัน ช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ประมาณ 10% และอาการวิตกกังวลประมาณ 15% วิธีที่สามารถใช้เพื่อลดเวลานั่งในที่ทำงาน เช่น การใช้โต๊ะทำงานแบบยืน การยืนประชุม และการสนับสนุนให้มีช่วงเบรกเพื่อขยับตัว
- การฝึกสติ (mindfulness)
มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าการจัดพให้นักงานเข้าร่วมโครงการการฝึกสติในที่ทำงานส่งผลดีในประเทศที่มีรายได้สูง แต่ไม่มีข้อมูลมากนักในถึงผลลัพธ์ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง และอาจมีข้อควรพิจารณาที่สำคัญในการปรับวิธีการให้เข้ากับสถานที่ทำงานในประเทศดังกล่าว
- การทำงานที่ยืดหยุ่น
การทำงานที่ยืดหยุ่นส่งผลดีต่อสุขภาพจิต เพราะช่วยให้พนักงานลดความขัดแย้งที่ต้องเผชิญระหว่างชีวิตในที่ทำงานและชีวิตที่บ้าน มีการใช้ชีวิตที่สมดุลยิ่งขึ้น ซึ่งความขัดแย้งนี้อาจเป็นที่มาของความเครียดและอาจนำไปสู่การเกิดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า การปรับใช้รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นนี้มักขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากเจ้านายตลอดจนวัฒนธรรมองค์กร
- มีอิสระในการทำงาน
การให้อิสระพนักงานในการทำงานมากขึ้นมีความสัมพันธ์กับอัตราความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าที่ลดลง ผู้บริหารสามารถเพิ่มความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานให้พนักงานได้ โดยให้อิสระมากขึ้นในการกำหนดบทบาทหน้าที่ในที่ทำงาน
การวิจัยยังชี้ให้เห็นว่ายังมีช่องว่างที่สำคัญของความรู้ที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนสุขภาพจิตของพนักงาน เพราะความซับซ้อนของปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานต้องการวิธีแก้ไขที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน และรอบคอบ ไม่มีวิธีลัดและไม่มีแนวทางใดที่เหมาะสมกับที่ทำงานทุกแห่ง (No One-Size-Fits All) ภาคธุรกิจและนักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อเติมมเต็มช่องว่างเหล่านี้เพื่อให้นายจ้างมีแนวทางและหลักฐานสนับสนุนในการลงทุนเพื่อพัฒนาสุขภาพจิตลูกจ้าง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวคนทำงานและธุรกิจเอง
การสนับสนุนการดูแลสุขภาพจิตในที่ทำงาน เกี่ยวกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) - SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ ป้องกัน รักษาโรค สนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี (3.4) - SDG 8 งานที่มีคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในประเด็น ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกกลุ่ม (8.8)
ที่มา: World Economic Forum , Wellcome