จากรายงานการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Risk Outlook 2021) โดย Verisk Maplecroft บริษัทประเมินความเสี่ยงในสหราชอาณาจักร จัดอันดับ 100 เมืองใหญ่ทั่วโลกมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมสูงที่สุด โดยมากถึง 99 เมืองอยู่ในทวีปเอเชีย ในขณะที่ 14 จาก 20 เมืองที่ปลอดภัยที่สุดอยู่ในทวีปยุโรป
นักวิจัยได้วิเคราะห์และให้คะแนนประเมินเมืองใหญ่ 576 แห่งทั่วโลก ในด้านคุณภาพอากาศและน้ำ ความเครียดจากความร้อน การขาดแคลนน้ำ ความเสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความล่อแหลมของภูมิประเทศ ประชากร เศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานต่อภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ และดินถล่ม ผลคะแนนทำให้ประชากรราว 1.5 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ กว่า 400 แห่งทั่วโลก อยู่ในเมืองที่มีความเสี่ยงในระดับสูง (High) และสูงที่สุด (Extreme)
จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ขึ้นอันดับหนึ่งเมืองที่เปราะบางที่สุดในโลกต่อความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 10 ล้านคน จาการ์ตากลายเป็นเมืองที่ทรุดตัวเร็วที่สุดในโลก (the world’s fastest-sinking city) โดยมีปัจจัยจากการสูญเสียชั้นน้ำธรรมชาติใต้เพราะการสูบน้ำใช้เป็นตัวเร่ง ยังมีการคาดการณ์ว่าบางส่วนของจาการ์ตาอาจจมน้ำภายในปี 2050 นอกจากนี้ ประชาชนยังต้องสัมผัสกับมลพิษทางอากาศระดับสูงที่มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในบริเวณใกล้เคียงด้วย
13 เมืองในอินเดีย ติดอันดับ Top 20 เมืองที่เผชิญกับความเสี่ยงภัยสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก เมืองหลวงอย่างเดลีได้รับการจัดอันดับให้มีความเสี่ยงสูงสุดเป็นอันดับสอง ตามมาด้วย เชนไน อัครา กานปุระ ปัญหาหลักของอินเดีย คือ มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ซึ่งจากศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Lancet เมื่อปี 2020 พบว่ามลพิษทางอากาศทำให้คนอินเดียเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 1.7 ล้านคนในปี 2019
จีนเป็นที่ตั้งของ 37 เมืองจาก 100 เมืองที่ถือว่ามีความเสี่ยงมากที่สุด โดยมีมลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเช่นกัน รัฐบาลจีนจัดตั้งโครงการมากมายเพื่อทำให้อากาศในประเทศสะอาดอีกครั้ง มีการสนับสนุนให้ประชาชนเลิกใช้เตาถ่านในครัวเรือนและเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงแก๊ซและไฟฟ้าแทน มีบทลงโทษชัดเจนสำหรับโรงงานที่ปล่อยมลพิษเกินกำหนด แต่รัฐบาลยังคงดำเนินการล่าช้าเกินกว่าที่จะบรรลุเป้าหมายของตัวเองได้
เมืองต่างๆ ในแอฟริกาโดยรวมมีมลพิษทางอากาศในระดับต่ำกว่าอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย และยังมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภัยคุกคามจากภัยธรรมชาติน้อยกว่า แต่หลายเมืองในแอฟริกามีความเปราะบางมากที่สุดที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก
กลาสโกว์ เมืองที่ใหญ่ที่สุดในสก็อตแลนด์ ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่ำที่สุดในโลก และมีความปลอดภัยที่สุดต่อความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมโดยรวมเป็นอันดับสี่ของโลก
ประเด็นด้านความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และมลพิษสิ่งแวดล้อม อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ใน - SDG 1 ยุติความยากจน ในประเด็น สร้างภูมิต้านทานและลดการเปิดรับและความเปราะบางต่อเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้อง (1.5) - SDG 2 ขจัดความหิวโหย ในประเด็น เสริมขีดความสามารถของระบบอาหารในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัยและภัยพิบัติอื่นๆ (2.4) - SDG 6 น้ำสะอาดและสุขาภิบาล ในประเด็น มลพิษทางน้ำและการบำบัดน้ำเสีย (6.3) ประสิทธิภาพการใช้น้ำ และแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ (6.4) - SDG 7 พลังงานสะอาด ในประเด็น การเข้าถึงพลังงาน (7.1) และ การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน (Renewable Energy) (7.2) - SDG 11 เมืองและชุมชนยั่งยืน ในประเด็น ลดความเสียหายจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง (11.5) และการเพิ่มจำนวนเมืองที่มีความยั่งยืนและปรับตัวและลดผลกระทบจากภัยพิบัติโดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยโยงกับกรอบการดำเนินงานเซนได 2015-2030 (11.b) - SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ในประเด็น ลดการปล่อยสารเคมีและของเสียเป็นพิษออกสู่ธรรมชาติและจัดการอย่างถูกต้อง (12.4) - SDG 13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็น เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ (13.1)
ที่มา: TIME
Last Updated on มกราคม 12, 2022