Universal Health Coverage หรือ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) หมายถึง การที่ ‘ทุกคน’ ใน ‘ทุกชุมชน’ สามารถเข้าถึง (access) และได้รับ (receive) บริการสุขภาพที่ครอบคลุมทุกบริการที่จำเป็นและมีคุณภาพได้ในยามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเมื่อไรหรือที่ไหนก็ตามตลอด ‘ช่วงชีวิต’ โดยที่ความยากลำบากเรื่องเงินทองต้องไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเข้าถึงและได้รับบริการสุขภาพ ไม่เพียงแต่คนยากจนเท่านั้น คนที่ร่ำรวยเมื่อต้องใช้จ่ายไปกับการรักษาโรคที่เรื้อรังหรือร้ายแรงก็อาจเผชิญกับความยากลำบากทางการเงินได้ในท้ายที่สุด ไม่แตกต่างกัน
ส่วนความหมายลึกลงไปในคำว่า ‘บริการสุขภาพ’ (health services) นั้น จะครอบคลุมทุกบริการที่ ‘จำเป็น’ ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ (health promotion) การป้องกันโรค การบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บ การฟื้นฟูสมรรถภาพ ไปจนถึงการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care – การรักษาโรคพร้อมกับที่คำนึงความต้องการของคนไข้และครอบครัว) และที่สำคัญบริการสุขภาพเหล่านี้จะต้องมี ‘คุณภาพ’ ด้วย เพราะสำคัญมากต่อการส่งเสริมและรักษาให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี
ประเด็นจึงอยู่ที่ ‘การให้บริการสุขภาพ’ ข้างต้น ที่จะต้องมีบุคลากรทางแพทย์ที่มีความสามารถและมีเพียงพอในทุกส่วนงานสาธารณสุข ในทุกระดับพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชุมชนซึ่งเป็นฐานรากของการมีสุขภาพที่ดี มี ‘สาธารณสุขมูลฐาน’ ที่คำนึงถึงคนเป็นศูนย์กลาง (people-centred primary health care) รวมถึง ‘การให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณ’ ในการเข้ารับการรักษา เพราะการรักษาโรคจะต้องไม่เป็นต้นเหตุทำให้คนยิ่งตกอยู่ในความยากจน เช่นว่าจะต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ขายทรัพย์สิน หรือนำเงินออมออกมาใช้เพื่อให้ได้รับบริการสุขภาพ ดังนั้น ในเรื่องนี้ ผู้กำหนดนโยบายต้องให้คำมั่นมุ่งมั่นที่จะลงทุนส่งเสริมให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับทุกคน
ทั้งนี้ แม้ว่าโรคระบาดโควิด-19 ได้เข้ามาท้าทายขีดความสามารถของหลักประกันสุขภาพในทุกประเทศ แต่ WHO มองว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องจำเป็นในการสร้าง ‘ระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง’ และเป็นเครื่องช่วยเร่งให้สามารถบรรลุเป้าประสงค์ด้านสุขภาพเป้าประสงค์อื่น ๆ ตาม #SDG3 ด้วย
โดยยังคงคีย์เวิร์ดสำคัญดังเดิม ได้แก่ การมีบริการสุขภาพ (availability) ทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ (accessibility) การให้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ต่อเนื่องไม่ติดขัด และการมีงบประมาณสำหรับการสนับสนุนให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนการศึกษาให้มีบุคลากรสาธารณสุขที่มีความสามารถและมีเพียงพอสำหรับระบบสาธารณสุข
นอกจากนี้ WHO ร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) ได้พัฒนากรอบที่จะใช้วัด/ประเมินความก้าวหน้าของการทำให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตาม #SDG3 (3.8) ด้วยการจัดกลุ่ม 4 ประเภท 16 บริการสุขภาพที่จำเป็น เพื่อดูระดับ ‘ความครอบคลุมทุกคน’ (coverage) ของการให้บริการสุขภาพอย่างเสมอภาคในแต่ละประเทศ ดังนี้ (ดูเพิ่มเติม ที่นี่ )
- บริการสุขภาพด้านอนามัยเจริญพันธุ์ มารดา เด็กเกิดใหม่ และสุขภาพเด็ก – การวางแผนครอบครัว การฝากครรภ์และการคลอด การสร้างภูมิคุ้มกันโรคในเด็กอย่างเต็มที่ และการรักษาโรคปอดบวมในเด็ก
- โรคติดต่อ – การรักษาโรควัณโรค การรักษา HIV ด้วยยาต้านไวรัส (antiretroviral) การป้องกันโรคมาลาเรียโดยการใช้มุ้งกันยุงที่เคลือบสารป้องกันยุง และการมีสุขาภิบาลที่ดีเพียงพอ
- โรคไม่ติดต่อ – การป้องกันและรักษาความดันโลหิตที่สูงขึ้น การป้องกันและรักษาระดับน้ำตาลที่สูงขึ้น การตรวจมะเร็งปากมดลูก การสูบบุหรี่
- ขีดความสามารถของการให้บริการและการเข้าถึงบริการ – การเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานในโรงพยาบาล ความหนาแน่นของบุคลากรสาธารณสุข การเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็น และความมั่นคงทางสุขภาพ – การปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations)
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประชากรโลกยังคงไม่สามารถเข้าถึง-ได้รับบริการสุขภาพตามความต้องการได้ โดยที่คนกว่า 100 ล้านคนถูกผลักให้อยู่ในความยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty) ในทุกปี (เพราะไม่มีเงินพอจะจ่ายบริการสุขภาพ) ขณะที่ ภายในปี 2573 โลกจะต้องการบุคลากรทางสาธารณสุขมากกว่า 40 ล้านคน ที่บรรดาประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางระดับต่ำยังคงมีความต้องการบุคลากรทางสาธารณสุขมากเพื่อให้สามารถรองรับกับความต้องการรับการรักษาได้ เป็นเครื่องตอกย้ำความสำคัญของการสนับสนุนงบประมาณสำหรับภาคสาธารณสุข
ส่วนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในกรณีของประเทศไทยนั้น เรารู้จักกันในชื่อ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’
คำว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อยู่ใน ‘#SDG3 เป้าประสงค์ที่ 3.8 – บรรลุการมี หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัยมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้’
Target 3.8: Achieve universal health coverage, including financial risk protection, access to quality essential health-care services and access to safe, effective, quality and affordable essential medicines and vaccines for all
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 3 (2562)
WHO-UHC