The Lancet Commission on Global Mental Health and Sustainable Development คือ การสังเคราะห์องค์ความรู้ที่ครอบคลุมด้านสุขภาพจิตเพื่อกระตุ้นการดำเนินการเพื่อพัฒนา โดยเป็นการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญในด้านสุขภาพจิตจากทั่วโลกเพื่อประเมินวาระสุขภาพจิตระดับโลกในบริบทของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเอกสารที่เผยแพร่เมื่อปี 2018
The Commission ได้นำเสนอข้อเสนอแนะในการดำเนินการเพื่อความก้าวหน้าของวาระสุขภาพจิตระดับโลกที่สอดคล้องและจะเป็นแรงผลักดันต่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs ไปพร้อมกัน โดยส่วนหนึ่งของเนื้อหาก่อนไปถึงขั้นตอนการลงมือเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง คือ การทำความเข้าใจปัจจัยของการมีสุขภาพจิตที่ดี ที่มีความซับซ้อนและหลากหลายและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันไปตลอดช่วงชีวิตของบุคคล เพื่ออธิบายว่าปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างไรและจะนำไปสู่การออกแบบกลไกการแก้ปัญหาที่เหมาะสมได้อย่างไร
SDG Updates ฉบับนี้ จึงอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Deteminants of Mental Health) ที่มองผ่านบริบทเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามที่ The Lancet Commission on Global Mental Health ได้นำเสนอ
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยสหประชาชาติ กำหนดเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต ใน SDG 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย
เป้าหมายย่อย 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2030
ตัวชี้วัด 3.4.2 อัตราการฆ่าตัวตาย
เป้าหมายย่อย 3.5 เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิด ซึ่งรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย
ตัวชี้วัด 3.5.1 ความครอบคลุมของการรักษา (การรักษาโดยใช้ยา ทางจิตสังคมและการฟื้นฟูสมรรถภาพ และบริการการติดตามผลการรักษา) สาหรับผู้ที่ใช้สารเสพติด
ตัวชี้วัด 3.5.2 การดื่มแอลกอฮอล์ในระดับอันตราย นิยามตามบริบทของประเทศ คิดเป็นปริมาณแอลกอฮอล์ต่อหัวประชากร (อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป)
เป้าหมายย่อย 3.8 บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
ตัวชี้วัด 3.8.1 ความครอบคลุมของบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น (นิยามความครอบคลุมของบริการที่จำเป็นเฉลี่ยโดยยึดการติดตามการรักษา ซึ่งประกอบด้วย ภาวะเจริญพันธุ์ มารดา เด็กเกิดใหม่และสุขภาพเด็ก โรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ และความสามารถในการเข้าถึงบริการระหว่างคนทั่วไปและผู้ด้อยโอกาส)
ตัวชี้วัด 3.8.2 สัดส่วนของประชากรที่มีค่าใช้จ่ายครัวเรือนด้านสุขภาพต่อค่าใช้จ่ายครัวเรือนหรือรายได้ทั้งหมด อยู่ในระดับสูง
ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพจิต (Social Determinants of Mental Health)
ปัจจัยกำหนดทางสังคม (Social Determinants) คือ ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจหลายประการที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของบุคคล เช่น การจัดตำแหน่งแห่งที่ตามโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ (ความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางรายได้) ที่ทำให้บางคนเสียเปรียบกว่าผู้อื่นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ไปจนถึงวัยชรา การต้องเผชิญเหตุการณ์ร้ายในชีวิต (วิกฤตด้านมนุษยธรรมและความรุนแรงระหว่างบุคคล) และเงื่อนไขเฉพาะของความเปราะบางและความสามารถในการฟื้นกลับที่เป็นผลมาจากความแตกต่างของที่ทางในสังคมของแต่ละบุคคล
[อ่าน SDG Updates | ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ – เมื่อโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง กำหนดสถานะสุขภาพและอายุขัยของคุณไว้แล้วตั้งแต่ยังไม่เกิด ]
เป้าหมาย SDGs หลายเป้าหมายถูกกำหนดขึ้นอย่างชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาปัจจัยทางสังคมเหล่านี้ และการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายต่างๆ นั้นมีศักยภาพในการส่งเสริมสุขภาพจิตของประชาชนและลดช่วยภาระของความผิดปกติทางจิตระดับโลก (global burden of mental disorders) ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพ และผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ และยังเป็นความพยายามในการลดความไม่เท่าเทียมในการกระจายตัวของความเจ็บป่วยทางจิตในกลุ่มคนทั่วโลกด้วย
ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพจิต (Social Determinants of Healths) ประกอบด้วยองค์ประกอบ (domain) หลัก 5 ด้าน คือ 1) ลักษณะประชากร (demographic) 2) สถานะทางเศรษฐกิจ (economic) 3) ละแวกที่อยู่อาศัย (neighborhood) 4) สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม (environmental events) และ 5) สังคมและวัฒนธรรม (social and cultural) ที่เป็นปัจจัยส่งผลต่อสุขภาพจิตของบุคคลทั้งในระดับใกล้ตัว (proximal) และในระดับไกลตัว (distal) ไปพร้อมกัน
- องค์ประกอบด้านลักษณะประชากร
ได้แก่ เพศ อายุ และเชื้อชาติ โดยผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติทางจิตที่พบบ่อย (common mental disorders) เช่น โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากกว่าผู้ชาย ในขณะที่ผู้ชายมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติทางจิตที่เกิดจากการใช้สารเสพติดมากกว่าผู้หญิง ซึ่งประเด็นนี้สัมพันธ์กับ SDG 5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) อย่างยิ่ง
การศึกษาหลายชิ้นที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า หากผู้หญิงถูกลดอำนาจทางเพศ (gender disempowerment) และต้องเผชิญอุปสรรคอื่นในชีวิตไปพร้อมกัน เช่น ความยากจน ความรุนแรงที่มีเหตุมาจากเพศสภาพ (gender-based violence) การล่วงละเมิดทางเพศ และความไม่มั่นคงด้านอาหาร จะยิ่งเป็นสาเหตุของการเกิดความผิดปกติทางจิตที่พบบ่อยในผู้หญิงมากขึ้นไปอีก
- องค์ประกอบด้านสถานะเศรษฐกิจ
ได้แก่ รายได้ ความมั่นคงทางอาหาร การมีงานทำ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และความตึงเครียดทางการเงิน ซึ่งสัมพันธ์กับ SDG 1 (ยุติความยากจน) SDG 2 (ขจัดความหิวโหย) SDG 8 (การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่ดี) SDG 9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน) และ SDG 10 (ลดความเหลื่อมล้ำ)
สถานะทางเศรษฐกิจที่แย่ลงมีความสัมพันธ์อย่างอิสระกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพจิตที่ไม่พึงประสงค์มากมาย ทั้งความผิดปกติทางจิตที่พบบ่อย โรคจิต และการฆ่าตัวตาย ยิ่งไปกว่านั้นความยากลำบากทางเศรษฐกิจมีอิทธิพลต่อตลอดทั้งเส้นทางชีวิตของคน กล่าวคือ ตั้งแต่วัยเด็ก ความยากจนส่งผลร้ายต่อการพัฒนาการระบบประสาทและสุขภาพจิต และเด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่ามีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าเมื่อก้าวสู่วัยผู้ใหญ่
ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ทำลายทุนทางสังคม สร้างวิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และเพิ่มความกดดันจากการเปรียบเทียบทางสังคม การวิเคราะห์งานวิจัยแบบ meta-analysis แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกันระหว่างภาวะซึมเศร้าและความไม่มั่นคงทางรายได้ ซึ่งทำให้เห็นขัอกังวลของการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันทั้งในและระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น
- องค์ประกอบด้านละแวกที่อยู่อาศัย
ได้แก่ สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (built environment) น้ำสะอาดและสุขอนามัย ที่อยู่อาศัย และโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน ซึ่งสัมพันธ์กับ SDG 6 (น้ำสะอาดและสุขาภิบาล) SDG 7 (พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้) SDG 11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) และ SDG 12 (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน)
ลักษณะของละแวกที่อยู่อาศัยมีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของประชากร เช่น ในบริบทของการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วทั่วโลก ผู้คนที่เป็นคนจนเมือง มีความสุ่มเสี่ยงล่อแหลมต่อการเผชิญกับปัญหาความรุนแรงและยาเสพติด และมีประสบการณ์ยากลำบากในการใช้ชีวิตในสลัมที่แออัด ส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิตอย่างรุนแรง ในทางกลับกัน การอาศัยอยู่ในเมืองที่มีการวางผังเมืองอย่างดีสร้างประโยชน์ต่อสุขภาพจิต เช่น เพิ่มการเข้าถึงตลาดแรงงาน มีโอกาสในการศึกษาที่ดีขึ้น และสามารถหลีกหนีจากข้อจำกัดจากสังคมบางประการได้
- องค์ประกอบด้านสถานการณ์สิ่งแวดล้อม
ได้แก่ การต้องเผชิญกับความรุนแรง ภัยธรรมชาติ (ที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย) สงคราม และการย้ายถิ่น ซึ่งสัมพันธ์กับ SDG 13 (ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และ SDG 16 (สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง)
หลายการศึกษาได้ระบุผลกระทบด้านสุขภาพจิตที่ไม่พึงประสงค์มากมายจากการต้องเผชิญสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในแง่งลบ เช่น ภัยพิบัติ ที่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งระหว่างคน หรือ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
บริบททางการเมือง เช่น ระบบการเมืองแบบเผด็จการ หรือระบบการเมืองที่ขาดความอดทนอดกลั้น ที่มักเกิดความขัดแย้ง รุนแรงบ่อยครั้ง เป็นตัวแปรที่สำคัญมากต่อประเด็นนี้ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานเกิดขึ้นใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า การบาดเจ็บจากประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจสามารถส่งต่อข้ามรุ่นได้ (intergenerational transmission of traumatic experiences) ตัวอย่างคือ กรณีที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้หญิงในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกที่ต้องได้รับบาดแผลทางใจและความเครียดเรื้อรังยาวนานจากสงคราม
- องค์ประกอบด้านสังคมและวัฒนธรรม
ได้แก่ ทุนทางสังคม เสถียรภาพทางสังคม วัฒนธรรม การสนับสนุนทางสังคม และการศึกษา ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพจิตผ่านการจัดตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมในระดับใกล้ตัว เช่น ชุมชนและครอบครัว ซึ่งสัมพันธ์กับ SDG 4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) เป็นอย่างมาก
การพัฒนาการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการศึกษาช่วยพัมนาศักยภาพความรู้คิดสำรองของสมอง (cognitive reserve) ป้องกันการเกิดความผิดปกติทางจิตที่เกิดขึ้นบ่อยและโรคสมองเสื่อม การศึกษาที่ดียังสามารถส่งผลต่อการดำเนินการตาม SDGs เป้าอื่นๆ ที่มีผลต่อสุขภาพจิต เช่น การเข้าถึงการศึกษาของบุคคล ช่วยเพิ่มโอกาสในการจ้างงานและลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ รวมถึงลดความไม่เท่าเทียมทางเพศได้
วัฒนธรรมช่วยรักษาสุขภาพจิตผ่านการให้ความหมายและอัตลักษณ์ร่วมกัน และการสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม (ในบริบทของการย้ายถิ่นที่ถูกบังคับ หรือชุมชนคนพื้นเมือง) มีความสัมพันธ์กับผลลัพธ์สุขภาพจิตในทางลบ
ผลกระทบของปัจจัยทางสังคมที่มีต่อสุขภาพจิตเหล่านี้มักเกิดขึ้นผ่านครอบครัว ซึ่งอยู่ใกล้ตัวบุคคลที่สุด ดังนั้น ครอบครัวสามารถทั้งส่งเสริมสุขภาพจิตและความยืดหยุ่นทางจิตใจ (resilience) ของแต่ละบุคคลและสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้เช่นกัน เพราะการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมและการทารุณกรรมเด็ก (รวมถึงการเห็นความรุนแรงในคู่รักจากผู้ปกครอง) จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็กอย่างรุนแรง และทำให้เกิดความผิดปกติทั้งในทันทีและในระยะยาว
องค์ประกอบของปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพเหล่านี้มักเกิดขึ้นเป็นกลุ่มก้อน ไม่แยกขาดจากกัน มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และเสริมพลังกันอย่างซับซ้อน (syndemics) การรวมกันของปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพจิตอย่างน้อยสองปัจจัยจึงมีแนวโน้มที่จะสามารถระบุกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางสูงสุดต่อปัญหาสุขภาพจิตได้
ตัวอย่างเช่น หญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อของการพลัดถิ่นฐานหลังการเกิดสงครามหรือภัยธรรมชาติ (สถานการณ์สิ่งแวดล้อม) และใช้ชีวิตอยู่ด้วยความยากจน (สถานะเศรษฐกิจ) ต้องเผชิญความรุนแรงทางเพศ (ลักษณะประชากร) จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล และการฆ่าตัวตายสูงมาก เช่นเดียวกับ คนหนุ่มสาวในเมืองที่ไร้งานทำ (สถานะเศรษฐกิจ) ต้องเผชิญกับความรุนแรงและการใช้สารเสพติด (ละแวกที่อยู่อาศัย) ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จึงจำเป็นต้องอยู่ในกลุ่มเป้าหมายของการกำหนดมาตรการแทรกแซงเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพจิตในโครงการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือการช่วยเหลือต่างๆ
การดำเนินเพื่อจัดการปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพจิต
การดำเนินการเกี่ยวกับปัจจัยทางสังคมของสุขภาพจิตเป็นเรื่องจำเป็น เพราะการส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี การป้องกันและรักษาความผิดปกติทางจิตและการใช้สารเสพติด จำเป็นต้องมีการดำเนินการใน SDGs ข้ออื่นๆ นอกจาก SDG 3 ร่วมไปด้วย The Commission ได้สรุปตัวอย่างการดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- กำกับการแทรกแซงเพื่อบรรเทาความยากจนให้ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต
- ให้เงินสวัสดิการ (ในระดับรายได้ขั้นพื้นฐาน) สำหรับผู้ที่อยู่ในความยากจนสุดขีด
- ให้ความคุ้มครองทางการเงินแก่บุคคลและครอบครัวที่มีความผิดปกติทางจิต
- ดูแลให้เด็กและสตรีมีครรภ์ได้รับสารอาหารที่เพียงพอเพื่อพัฒนาการทางสมองอย่างเต็มที่
- ลดความชุกของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลผ่านการยกระดับความมั่นคงด้านอาหาร
- บูรณาการการส่งเสริมสุขภาพจิต การป้องกัน และการดูแลตลอดเส้นทางชีวิตภายในบริบทของความพยายามระดับชาติที่จะบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
- เปลี่ยนระบบการดูแลสุขภาพจิตจากเชิงสถาบันเป็นพื้นที่ของชุมชน
- พัฒนาและใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตาย
- ลดการใช้แอลกอฮอล์และสารออกฤทธิ์ทางประสาทที่เป็นอันตราย
- วินิจฉัยและรักษาความผิดปกติทางจิตที่เกิดจากการใช้สารเคมี
- จัดให้มีโครงการกระตุ้นพัฒนาการเด็กเล็กและการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน
- บูรณาการทักษะชีวิตในหลักสูตรของโรงเรียน
- ค้นหาเด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและให้การช่วยเหลือด้านการศึกษาตั้งแต่เนิ่นๆ
- ปรับเปลี่ยนการศึกษาให้เหมาะกับความสามารถและความสนใจของเด็ก
- ให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเพื่อช่วยในการฟื้นตัว
- ให้การกระตุ้นการรู้คิด (cognitive) และการเรียนรู้แก่ผู้สูงอายุเพื่อป้องกันและจัดการภาวะสมองเสื่อม
- ป้องกันการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก
- ทำให้แน่ใจว่าการให้บริการด้านสุขภาพจิตมีความอ่อนไหวต่อประเด็นทางเพศ (gender-sensitive) และมุ่งเน้นเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของผู้หญิง เช่น ภาวะซึมเศร้าของมารดา และผลกระทบจาการเผชิญความรุนแรง
- เพิ่มการสนับสนุนให้ผู้ทำหน้าที่ดูแลซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
- นำโปรแกรมการส่งเสริมและดูแลสุขภาพจิตไปใช้ในที่ทำงาน
- มีมาตรการแทรกแทรงทางสังคมและอาชีพ และให้การสนับสนุนแก่ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตและครอบครัว
- ให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมที่มีบทบาทของเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ความต้องการแรงงานคนน้อยลง
- ให้เงินสวัสดิการ (ในระดับรายได้ขั้นพื้นฐาน) สำหรับผู้ที่อยู่ในความยากจนสุดขีด
- ลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลและครอบครัวที่มีความผิดปกติทางจิต
- ส่งเสริมและเพิ่มโอกาสในการเข้าสังคมแก่ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต
- สร้างสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างที่สามารถลดปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต
- ต้องมีการใช้สารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลงอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันการเป็นพิษต่อระบบประสาท การทำร้ายตัวเอง และการฆ่าตัวตาย
- บูรณาการการการสนับสนุนทางจิตสังคมในความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติและผลกระทบอื่นๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- รับฟังเสียงจากผู้ที่อยู่ในแวดวงด้านสุขภาพจิต เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพจิต
- พัฒนาและดำเนินการตามกฎหมาที่มีความก้าวหน้าและมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตและสิทธิมนุษยชน
- ป้องกันการกักขังผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตในสถาบันต่างๆ เช่น เรือนจำและสถานดูแลเด็ก
- ดำเนินโครงการส่งเสริมและดูแลสุขภาพจิตในเรือนจำ
- แสดงผลกระทบของการดำเนินการแทรกแซงด้านสุขภาพจิตในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
- พัฒนาและทำให้การเป็นหุ้นส่วนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงวาระสุขภาพจิตระดับโลกมีความยั่งยืน
แปลและเรียบเรียงจาก The Lancet Commission on global mental health and sustainable development ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม และศึกษาการดำเนินการอื่นๆ ได้ที่ globalmentalhealthcommission.org
Last Updated on มกราคม 12, 2022