การศึกษาที่เกี่ยวกับสารเคมี PFAS ล่าสุด ‘Per- and Polyfluoroalkyl Substances (PFAS) in Breast Milk: Concerning Trends for Current-Use PFAS’ ใน Environmental Science & Technology โดยทีมนักวิทยาศาสตร์กลุ่ม Toxic-Free Future จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน และสถาบันวิจัยเด็กซีแอตเทิล สหรัฐฯ พบกลุ่มสารเคมี PFAS ในน้ำนมแม่ ซึ่งมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกและมากขึ้นเป็น 2 เท่าในทุก 4 ปี เผยให้เห็นว่าสารเคมี PFAS ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวันได้สะสมอยู่ในร่างกายของคนเรา แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตเคมีภัณฑ์จะยืนยันมาเสมอว่าสารเคมี PFAS จะไม่สะสมอยู่ในร่างกาย
ทางทีมผู้ศึกษาย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งจัดการปัญหาการใช้สารเคมี PFAS ‘ในทุกกรณี’ (ปัจจุบันเป็นเพียงการแบนในบางกรณี และในบางรัฐของสหรัฐฯ) ให้มีการออกระเบียบข้อบังคับกลางยกเลิกการใช้อย่างเป็นกิจลักษณะและหาทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่า เพราะสารเคมี PFAS สามารถทำให้ระบบภูมิคุ้นกันอ่อนแอ ส่งผลให้ร่างกายเปราะบางต่อโรคติดต่อ และยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคไม่ติดต่อด้วย โดยเฉพาะที่สะสมอยู่ในน้ำนมแม่ยิ่งเป็นอันตรายต่อพัฒนาการในช่วงสำคัญของวัยเด็ก
การศึกษาได้เก็บข้อมูลน้ำนมแม่ในสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อวิเคราะห์หาสารเคมี PFAS พบว่า น้ำนมของแม่ 50 คนจากทั้งหมด 50 คน (100%) ที่ได้รับการตรวจนั้น มีสารเคมี PFAS ทั้งองค์ประกอบที่มีใช้อยู่ในอุตสาหกรรมปัจจุบันในปริมาณมากและเพิ่มมากขึ้น และประเภทที่ยกเลิกการใช้ไปแล้ว นอกจากเป็นผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของแม่ รวมถึงการที่น้ำนมแม่เป็นแหล่งอุดมโภชนาการที่ดีเพื่อการเจริญเติบโตและระบบภูมิคุ้มกันของเด็ก ผลกระทบของสารเคมี PFAS ยังส่งผลต่อสุขภาพของพยาบาลเด็กด้วย
โดยหากพูดถึงภาพรวมผลกระทบของการใช้สารเคมี PFAS การศึกษา ‘Toxicological Profile for Perfluoroalkyls’ (พ.ค. 2564) พบความเชื่อมโยงของสารเคมี PFAS ที่สั่งสมกับปัญหาด้านสุขภาพในหลายแง่มุม ทั้งระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง โรคมะเร็ง ระดับคลอเรสเตอรอลที่สูงขึ้น ความดันโลหิตสูงในสตรีมีครรภ์ การทำลายตับ ภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลง ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่อมไทลอยด์เพิ่มขึ้น ไปจนถึงการปนเปื้อนของสารเคมี PFAS ในน้ำดื่มและอาหาร
ทั้งนี้ รัฐแต่ละรัฐในสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มแบนการใช้สารเคมี PFAS ‘ในบางการใช้งาน’ ไม่ว่าจะเป็นในผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร และโฟมดับเพลิง ส่วนบางธุรกิจอย่างธุรกิจค้าปลีกอาหารกับแคมเปญ Mind the Store ได้เริ่มเคลื่อนไหวจัดการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการหันมาใช้ทางเลือกอื่นแทนสารเคมี PFAS อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่า เช่นเดียวกับที่ร้านค้าปลีก 18 ที่ อาทิ Taco Bell และ McDonald’s ทั่วทั้งสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นที่จะยุติหรือลดการใช้ลง ทว่ายังจำเป็นต้องผลักดันให้มี ‘ระเบียบข้อบังคับของรัฐบาลกลาง’ (federal regulations) ที่จะป้องกันการใช้กลุ่มสารเคมี PFAS และสารเคมีอันตรายอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้ที่อาจสะสมในน้ำนมแม่ผ่านสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงในน้ำดื่ม (อ่านคำแนะนำในการจัดการจากกลุ่ม Toxic-Free Future ใน ‘Toxic Chemicals in Breast Milk’)
ซึ่งปัจจุบัน ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้พิจารณาใช้ ‘มาตรการป้องกันไว้ก่อน’ กล่าวคือการจำกัดการใช้งานสารเคมีที่เป็นอันตราย ออกกฎระเบียบเพื่อแบนการใช้งานสารเคมี PFAS ในทุกกรณี และหาทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่า
*สารเคมี PFAS (per-and polyfluoroalkyl substances) หรือ ‘สารเคมีตลอดกาล’ (forever chemicals) เป็นกลุ่มสารเคมีขนาดใหญ่ที่ใช้แพร่หลายในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม อาทิ บรรจุภัณฑ์อาหาร และเสื้อผ้า ด้วยเพราะมีความเสถียร ทำให้ค่อย ๆ สะสม-คงอยู่ในสภาพแวดล้อมเป็นเวลานานหลักร้อยปี
● เข้าถึงการศึกษาที่ : Per- and Polyfluoroalkyl Substances (PFAS) in Breast Milk: Concerning Trends for Current-Use PFAS
● อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : สารเคมี PFAS ในโฟมที่ใช้ดับเพลิงก่อปัญหาปนเปื้อนในน้ำดื่มและน้ำบาดาลระยะยาว
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี (3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อน และมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมากภายในปี 2573
แหล่งที่มา:
https://saferchemicals.org/2021/05/13/100-of-breast-milk-samples-tested-positive-for-toxic-forever-chemicals/
Last Updated on มกราคม 12, 2022