‘More people are using drugs, and there are more drugs,
and more types of drugs, than ever‘
ในช่วงระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2552 – 2561) ประมาณ 269 ล้านคนทั่วโลก หรือ 1 ใน 4 ของประชากรโลกพันล้านคน ‘ใช้ยาเสพติด’ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 และมากกว่า 35.6 ล้านคนต้องทุกข์ทรมานจากการเสพติดหรือ ‘ความผิดปกติจากการใช้ยาเสพติด’ (drug use disorders) ซึ่งเป็นการใช้ยาเสพติดในทางที่อันตราย ต้องพึ่งพิง-ขาดยาไม่ได้ และ/หรือจำเป็นต้องได้รับการบำบัด โดยวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวถือเป็นกลุ่มใหญ่สุดที่ใช้ยาเสพติด ขณะที่ปัจจัยอย่างความยากจน การได้รับการศึกษาที่จำกัด และการถูกเบียดขับเป็นชนชายขอบในสังคม ยังคงเป็นปัจจัยหลักเพิ่มความเสี่ยงให้คนหันมาเสพยาจนเสพติด ทั้งการปิดพรมแดนและข้อจำกัดอื่นอันเป็นผลมาจากการมาตรการตอบสนองต่อโรคระบาดโควิด-19 ก็ได้ส่งผลต่อตลาดของการค้าขายและขนส่งยาเสพติดด้วยเช่นกัน
SDG Updates วันนี้ขอหยิบภาพรวมสถานการณ์ยาเสพติดในโลกตาม ‘รายงานยาเสพติดโลก 2563’ (World Drug Report 2020) ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) มาเล่าสู่กันฟังสั้น ๆ ถึงแนวโน้มของการใช้ยา ผลกระทบที่มีต่อสุขภาพ รวมถึงส่งผลต่อ SDGs อย่างไรและในแง่มุมใดบ้าง ก่อนที่ SDG Updates ฉบับต่อ ๆ ไปจะชวนซูมอินเข้ามาสำรวจ ‘สถานการณ์ยาเสพติดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’
สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) ออกรายงานยาเสพติดโลก 2563 (World Drug Report 2020) แบ่งย่อยธีมการเล่าเรื่องเฉพาะออกเป็น 6 เล่ม เพื่อสื่อสารสรุปภาพรวมและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับยาเสพติดทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแหล่งผลิต ตลาด และการลักลอบขนยาเสพติด ความต้องการยาเสพติดและแนวโน้มการใช้ยาเสพติด ซึ่งรวมถึงความผิดปกติจากการใช้ยาประเภทยาโอปิแอต (Opiates – ยาที่ทำมาจากหรือมีส่วนผสมของฝิ่น) โคเคน กัญชา สารกระตุ้นประเภทแอมเฟตามีน (Amphetamine-Type Stimulant — ATS) และสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทใหม่ (New Psychoactive Substances – NPS) รวมถึงผลกระทบของยาเสพติดเหล่านี้ที่มีต่อ ‘สุขภาพ’
นอกจากนี้ รายงานมีการวิเคราะห์บริบทของโควิด-19 กับผลกระทบที่นำมาซึ่งภาวะตกงานหรือขาดโอกาส ยิ่งทำให้คนเปราะบางต่อการหันมาใช้ยา ลักลอบค้ายา หรือเพาะปลูกพืชพันธุ์ยา เพื่อหารายได้ เป็นต้น ประเด็นที่คาบเกี่ยวกัน (cross-cutting issues) ซึ่งรวมถึงข้อห่วงกังวลของวิวัฒนาการยาเสพติดในปัจจุบัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงและขยายตัวของตลาดยาเสพติดอย่างรวดเร็วอย่างการหันมาใช้ช่องทางหรือวิธีการใหม่ในการค้าขายผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ‘Darknet’ ที่ต้องมีการติดตั้งซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมเฉพาะ การหันมาใช้การส่งยาทางไปรษณีย์ การผสมสารตั้งต้น (precursors) หรือสารสังเคราะห์ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นยาเสพติด (ชนิดใหม่) และการหันมาฉีดสาร/ยามากกว่าการกิน ตลอดจนการออกกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาได้ (ที่ไม่ใช่ทางการแพทย์) เป็นต้น การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมกับความผิดปกติจากการใช้ยาเสพติดในระดับภาพรวมของประเทศ ชุมชน และระดับปัจเจกบุคคลโดยที่เน้นย้ำการให้ความสำคัญกับ ‘การป้องกัน’ การใช้ยาหรือการมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง ‘การบำบัด’ ผู้ติดยาเสพติด และนโยบายด้านยาเสพติด ความร่วมมือระหว่างประเทศ การหาทางเลือกในการพัฒนาใหม่ในพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกพืชพันธุ์ยาเสพติด (alternative development) รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างยาเสพติดกับอาชญากรรม
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มีข้อมูลชุดใหญ่สนับสนุนชุมชนระหว่างประเทศให้นำไปใช้ประโยชน์โดยเฉพาะที่รัฐสมาชิกสหประชาชาติได้ให้คำมั่นจะดำเนินการ และต้องไม่ลืมว่าในขณะที่ระบบสาธารณสุขและสถาบันทางสังคมกำลังรับมือกับโรคระบาดนั้น ประเด็นยาเสพติดไม่ได้หมดไป
แล้วสถานการณ์ยาเสพติดโลกตอนนี้เป็นอย่างไร ?
1. บริบทของโควิด-19
ตามจริงแล้ว อาจประเมินผลกระทบจากโควิด-19 ต่อตลาดยาเสพติดได้ยาก แต่ที่เป็นไปได้คือในมิติเศรษฐกิจที่มีต่อปัจเจกบุคคลและตลาดการค้าขาย โดยแม้จะมีการห้ามเคลื่อนย้ายหรือเข้าถึง ‘สารตั้งต้น’ และ ‘เคมีภัณฑ์’ บางประเภท (เพื่อไม่ให้นำไปใช้ผสมกันเป็นสารเสพติดใหม่) ทว่าผู้ผลิตอาจหาช่องทางการผลิตใหม่ก็เป็นได้ หรือผู้ใช้อาจสรรหาสารสังเคราะห์ราคาถูกต่าง ๆ ด้วยตัวเองเช่นในอดีตหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 รูปแบบการเสพเปลี่ยนไปเป็นการฉีดมากขึ้น ผู้คนอาจเข้าไปพัวพันกับกิจกรรมยาเสพติดผิดกฎหมายซึ่งรวมถึง ‘การขนส่ง’ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งได้ ขณะที่รัฐบาล (ในภาพรวมทั่วโลก) ตัดงบประมาณเกี่ยวกับยาเสพติดลง
2. การขยายตัวและความซับซ้อนของตลาดยาเสพติด
อันดับแรกจำนวนคนที่ใช้ยาเสพติดเพิ่มขึ้นนั้นส่วนหนึ่งมาจาก ‘การเติบโตของจำนวนประชากรโลก’ ที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยที่ ‘ความเป็นเมือง’ กับการไหลของคนเข้าสู่เมือง กลายเป็นหนึ่งปัจจัยขยายตลาดยาเสพติดในเขตเมืองมากกว่าชนบททั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่ง ‘ความมั่งคั่ง’ ที่มากขึ้นยังสัมพันธ์กับการใช้ยาเสพติดมากขึ้นด้วยโดยเฉพาะการใช้โคเคน ในแง่นี้ การใช้ยาเสพติดจึงมีมากในประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา แต่ไม่ว่าอย่างไร คนจนกลับทุกข์ทรมานจากการเสพติดมากกว่าเพราะประเด็นการเข้าถึง ‘การบำบัดรักษา’ ส่วนสารบางประเภทก็ยังไม่ได้อยู่ภายใต้ ‘การควบคุมระหว่างประเทศ’ อย่าง ‘สารโอปิออยด์’ ใหม่ที่อาจเป็นอันตรายมากกว่าเดิมก็กำลังมีมากขึ้นในตลาดยา ขณะที่สารซึ่งผลิตมาจากพืชอย่างกัญชา โคเคน และเฮโรอีน ถูกนำมาผสมรวมกับสารสังเคราะห์อื่นที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมระหว่างประเทศเช่นกัน ทำให้ประเด็นยาเสพติดยิ่งมีความซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการนำยารักษาโรคโดยทั่วไปมาใช้กันมากขึ้น (ที่ไม่ใช่ในทางการแพทย์)
*สารโอปิออยด์ (Opioids) ยังคงเป็นสารที่อันตรายมากที่สุดมามากกว่าทศวรรษ มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการเสพติดมากถึงร้อยละ 71 และเพิ่มมากขึ้นในผู้หญิงที่ร้อยละ 92 มากกว่าผู้ชายที่ร้อยละ 63 อย่างไรก็ดี สารนี้มีการใช้รักษาในทางการแพทย์ทั่วโลกเพื่อบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง
3. การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของตลาดยาเสพติด
สารสังเคราะห์ได้เข้ามาแทนที่ยาโอปิแอตในเอเชียกลางและรัสเซีย ตลาดยาบ้า (Methamphetamine) เติบโตขึ้นในอัฟกานิสถานและอิรัก ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการอนุญาตให้สามารถใช้กัญชา (ที่ไม่ใช่ทางการแพทย์) ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นำโดยแคนาดา อุรุกวัย และรัฐ 11 รัฐในสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้ผลิต-ขายได้เพื่อจุดประสงค์อื่นที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ ทำให้การใช้กัญชาเพิ่มสูงขึ้นมาก
4. เรื่องรวยจนของการใช้ยา
ยาโอปิออยด์สำหรับการแพทย์มีอยู่ในประเทศร่ำรวยมากกว่าร้อยละ 90 ในปี 2561 ทำให้เห็นถึงการกระจายออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ไม่เท่าเทียมกัน ขณะที่คนจนเผชิญกับความเสี่ยงต่อความผิดปกติจากการใช้ยาเสพติดมากกว่า (ตามปัจจัยที่เกริ่นไว้ข้างต้น) และความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาและความรุนแรงก็เป็นเรื่องซับซ้อน ทั้งนี้ ข้อมูลระดับโลกยังคงมีจำกัด แต่มีส่วนที่ชี้ว่า ‘พิษ’ จากการใช้สารเสพติดเป็นปัจจัยสำคัญของ ‘การฆ่าตัวตาย’
5. แนวโน้มล่าสุดของการใช้ยาเสพติด
‘กัญชา’ เป็นยาที่คนใช้กันมากที่สุดหรือมากกว่า 192 ล้านคนทั่วโลก ในปี 2561 ส่วน ‘ยาโอปิออยด์’ มีฤทธิอันตรายมากที่สุดและการใช้ซึ่งนอกเหนือจากทางการแพทย์กลายเป็นวิกฤติต่อระบบสาธารณสุขในแอฟริกาเหนือ กลาง และตะวันตก ส่วนการใช้ ‘โคเคน’ และยาบ้าก็เพิ่มขึ้นในบริเวณดังกล่าว ในภาพรวมมากกว่า 19 ล้านคนใช้โคเคนในปี 2561 ประมาณ 27 ล้านคนใช้ ‘แอมเฟตามีน’ (Amphetamines) ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสานส่วนกลางโดยปริมาณของสารกระตุ้นประเภทแอมเฟตามีนเพิ่มขึ้นมากที่สุดทั่วโลก ส่วน ‘ยาบ้า’ (Methamphetamine) และ ‘ยาไอซ์’ ซึ่งเป็นอนุพันธ์แตกย่อยออกมาจากกลุ่มแอมเฟตามีนนั้น มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ใช้ทั่วโลกกระจุกอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกมากที่สุด ขณะที่เทรนด์ของการหันมา ‘ฉีด’ ยาเสพติดทำให้คนกว่า 1.4 ล้านคนติดเชื้อ HIV 5.5 ล้านคนติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (hepatitis C) และ 1.2 ล้านคนติดทั้งเชื้อ HIV และ ไวรัสตับอักเสบซี
แหล่งผลิตพืชพันธุ์เพื่อทำยาเสพติดนั้นยังคงอยู่ในระดับสูงแม้จะลดลงเพราะเลือกการพัฒนาพื้นที่ด้วยทางเลือกอื่น อาทิ พื้นที่ปลูก ‘ฝิ่น’ ในอัฟกานิสถานและเมียนมาลดลง ขณะที่พื้นที่ปลูกต้นโคคา (coca) ยังคงเหมือนเดิมตั้งแต่ปี 2560 ทำให้การผลิตโคเคนยังคงอยู่ในระดับสูงเหมือนเดิม
ส่วนประเด็นการลักลอบขนยา วิธีการผลิตและเส้นทางการขนส่ง ‘เฮโรอีน’ โคเคน ยาบ้า มีการเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนรูปแบบที่หลากหลายอยู่ตลอดเวลา
การใช้ยาเสพติดกับผลกระทบต่อสุขภาพและสุขภาวะที่ดี
การใช้ยาเสพติดจะค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านไปสู่ช่วงของการใช้มากขึ้นและมากขึ้นจน ‘เสพติด’ ที่ต้องพึ่งพายาเสพติดอยู่ตลอดเวลา หรือ ‘เสพเกินขนาด’ จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในแต่ละระยะยังสัมพันธ์กับการมีโรคร่วมทางจิตเวช (psychiatric comorbidities) และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องหรือเอื้อให้ประสบกับปัญหาสุขภาพจิต (mental health) ไปจนถึงการมีโรคติดต่อดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น อาทิ เชื้อ HIV และไวรัสตับอักเสบซี จนถึงการตายก่อนวัยอันควรที่วัยเยาว์ซึ่งมีสภาพสมองอยู่ในช่วงของการพัฒนากลับถูกทำลายด้วยฤทธิ์ร้ายแรงของยาเสพติด เป็นต้น
ไม่เพียงแต่ทำลายสุขภาพของผู้เสพเท่านั้น แต่ยังกระทบกับสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของครอบครัว ผู้คนรอบข้าง และชุมชนด้วย
นอกจากนี้ การใช้ยาเสพติดที่พัฒนาไปเป็นการเสพติด ยังกระทบกับการพัฒนาสังคมในภาพรวมและปัจเจกบุคคล กล่าวคือ เป็นวงจรของปัญหาที่ความยากจน-ระดับการศึกษา-สถานะทางสังคม เป็นปัจจัยผลักคนเข้าสู่การใช้ยาเสพติด และยังเป็นกับดัก เป็นอุปสรรคที่ผู้เสพอาจไม่สามารถหางานทำหรือได้รับการศึกษาได้
ยาเสพติดกระทบกับ SDGs อย่างไร ?
Global Commission on Drug Policy อธิบายความเชื่อมโยงและผลกระทบต่อ SDGs ตามรายประเด็นของยาเสพติดไว้ใน ‘Drug Policy and the Sustainable Agenda’ (2561) ไว้ ดังนี้
- ‘นโยบายการควบคุมยาเสพติด’ ทำให้คนยิ่งจน เปราะบาง และเป็นชายขอบหรือไม่ ? หรือเข้ามาช่วยจัดการสาเหตุปัญหาของการผลักให้คนเข้าไปพัวพันกับกิจกรรมยาเสพติดผิดกฎหมาย ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึง ‘บริการขั้นพื้นฐาน’ ? – ประเด็นนี้เกี่ยวกับการยุติความยากจน (SDG 1) ยุติความหิวโหย (SDG 2) การศึกษาที่มีคุณภาพ (SDG 4) ความเท่าเทียมทางเพศ (SDG 5) น้ำดื่มสะอาดและสุขาภิบาล (SDG 6) งานที่ดีและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (SDG 8) การลดความเหลื่อมล้ำ (SDG 10) และเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (SDG 11)
- ปฏิรูปนโยบายยาเสพติดที่เน้นการลงโทษและมาตรการที่เด็ดขาดเพื่อปราบปรามการปลูก-ผลิต-ขนส่ง-ขาย-เสพ สู่ ‘การรับผิดรับชอบและการเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเสมอภาค’ หันมาเน้นเรื่องความยากจน ความเป็นชนชายขอบ สุขภาพ สวัสดิการและสิทธิมนุษยชน สถาบัน-นิติรัฐ-กฎหมายที่ไม่เลือกปฏิบัติ จัดการกับปัญหาคอร์รัปชัน ความยุติธรรมทางอาญา และปัญหาที่เกี่ยวกับเรือนจำ เพื่อ ‘ยุติความรุนแรงในทุกรูปแบบ’ และสร้างสังคมที่สันติ ตาม #SDG16– ประเด็นนี้เกี่ยวกับ การยุติความยากจน (SDG 1) สุขภาพและสุขภาวะที่ดี (SDG 3) ความเท่าเทียมทางเพศ (SDG 5) งานที่ดีและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (SDG 8) การลดความเหลื่อมล้ำ (SDG 10) และสังคมที่สันติ ยุติธรรม ครอบคลุม (SDG16)
- นโยบายยาเสพติดกับการมีสุขภาพที่ดี มุ่งเน้น ‘การบำบัดและช่วยเหลือผู้เสพ’ โดยเฉพาะที่ใช้การฉีดซึ่งสัมพันธ์กับโรคติดต่อและเปราะบางต่อวัณโรค และกรณีของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือมีบุตรที่อาจประสบกับการเลือกปฏิบัติหรือรู้สึกมีตราบาป ด้วยการเน้นยุทธศาสตร์สุขภาพที่ครอบคลุมถึงการป้องกันและลดความเสี่ยงของการใช้ยาเสพติด นอกจากนั้น ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้เสพด้วย อาทิ ต้องไม่มีการละเมิดหรือใช้ความรุนแรงทางร่างกาย หรือบังคับตรวจปัสสาวะ ต้องไม่มีการคุมขังโดยที่ผู้เสพไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาคดี – ประเด็นนี้เกี่ยวกับ สุขภาพและสุขภาวะที่ดี (SDG 3) ความเท่าเทียมทางเพศ (SDG 5) และสังคมที่สันติ ยุติธรรม ครอบคลุม (SDG16)
- นโยบายยาเสพติดที่เลือก ‘ทำลายพื้นที่เพาะปลูก’ (Forced Crop Eradication) จากการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงที่รุนแรง ยังทำลายระบบนิเวศ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์และแมลง น้ำและดิน นอกจากจะกระทบกับชุมชนที่อยู่อาศัย ยังกระทบกับแหล่งอาหารและสุขภาพของคน นี่หมายถึงว่านโยบายยาเสพติดจะต้องคำนึงถึง ‘การพัฒนาระยะยาว’ ด้วย อาทิ การหาทางเลือกใหม่ในการพัฒนาพื้นที่ (alternative development) – ประเด็นนี้เกี่ยวกับ ยุติความหิวโหย (SDG 2) สุขภาพและสุขภาวะที่ดี (SDG 3) ทะเลและทรัพยากรทางทะเล (SDG 14) และระบบนิเวศบนบก (SDG 15)
- หุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก เพราะความร่วมมือทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศสำคัญมากในการจัดการกับปัญหายาเสพติด ซึ่งหมายรวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาสังคมในนโยบายยาเสพติด ความช่วยเหลือทวีภาคีและพหุภาคี อาทิ ในการเพิ่มขีดความสามารถ ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างโลกเหนือกับโลกใต้ (North-South) และโลกใต้กับโลกใต้ (South-South) รวมถึงความสอดคล้องของนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน – ประเด็นนี้เกี่ยวกับ สังคมที่สันติ ยุติธรรม ครอบคลุม (SDG16) และหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG17)
ประเด็นเรื่องยาเสพติดมีระบุไว้อย่างชัดเจนใน #SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี (3.5) เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิด ซึ่งรวมถึง การใช้ยาเสพติด ในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางอันตราย
แหล่งอ้างอิง:
https://wdr.unodc.org/wdr2020/index.html
https://wdr.unodc.org/wdr2020/field/UNODC_World_Drug_Report_2020_press_release.pdf
https://www.drugsandalcohol.ie/29733/1/Drug%20policy%20and%20the%20sustainable%20development%20agenda.pdf