การวางแผนครอบครัว (Family Planning) คือ การตัดสินใจของคู่รักหรือบุคคลที่จะมีบุตรตามจำนวนที่ต้องการ ในช่วงเวลาและระยะห่างที่เหมาะสม เพื่อให้มีการตั้งครรภ์ขณะที่มีความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ และสภาพสังคม หรือจำกัดการมีบุตรโดยใช้วิธีคุมกำเนิดทางธรรมชาติหรือมีการใช้ยาหรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้การวางแผนนั้นมีประสิทธิภาพขึ้น
การคุมกำเนิด (contraceptive) มี 2 วิธีการ คือ แบบสมัยใหม่และแบบดั้งเดิม
Modern Family Planning Methods หรือ ‘วิธีการวางแผนครอบครัวสมัยใหม่’ หรือ วิธีการคุมกำเนิดสมัยใหม่ ได้แก่ การทำหมันหญิง/ชาย ห่วงอนามัยคุมกำเนิด (IUD) ยาฝัง/ยาฉีด/ยาเม็ด/แผ่นแปะคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน การคุมกำเนิดหลังคลอดด้วยการให้นมบุตร (LAM) ซึ่งมีความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพมากกว่า ส่วนวิธีการแบบดั้งเดิม (traditional) ได้แก่ การนับระยะปลอดภัย การควบคุมการหลั่ง หรือวิธีการพื้นบ้าน (folk method) เช่น การนวดช่องท้องด้านล่างของผู้หญิง หรือการใช้สมุนไพรบางชนิด เป็นต้น
สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN DESA) ออกรายงานข้อมูลแสดงการประมาณความชุกของวิธีการคุมกำเนิดโลกปี 2019 หรือ World Contraceptive Use 2019 (อ้างอิงจากข้อมูลจากการสำรวจ 1,247 ครั้งใน 195 ประเทศทั่วโลก) โดยมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ ดังนี้
- มีหญิงวัยเจริญพันธุ์ 922 ล้านคน (หรือคู่นอน) ใช้การคุมกำเนิด ในบรรดาสตรีวัยเจริญพันธุ์ 1.9 พันล้านคน (15-49 ปี) ทั่วโลกในปี 2019 ผู้หญิง 1.1 พันล้านคนมีความจำเป็นในการวางแผนครอบครัว 842 ล้านคนใช้วิธีการคุมกำเนิดสมัยใหม่ สัดส่วนของผู้หญิงที่มีความจำเป็นในการวางแผนครอบครัวที่พึงพอใจด้วยวิธีการสมัยใหม่ (ตัวชี้วัด SDG 3.7.1) คิดเป็น 76% ในปี 2019
- การทำหมันหญิงและถุงยางอนามัยชายเป็นสองวิธีคุมกำเนิดที่ใช้มากที่สุดทั่วโลก
- วิธีคุมกำเนิดที่ใช้กันมากที่สุดแตกต่างกันไปตามภูมิภาค ในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ การใช้ห่วงอนามัยสำหรับผู้หญิงเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ใช้บ่อยที่สุด (ร้อยละ 18.6) รองลงมาคือถุงยางอนามัยชาย (ร้อยละ 17.0)
- จำนวนผู้ใช้การคุมกำเนิดทุกวิธีเพิ่มขึ้น ยกเว้นจากการทำหมันชาย เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร
- ยาเม็ดคุมกำเนิดและถุงยางอนามัยชายเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ใช้แพร่หลายในหลายประเทศ
การแผนครอบครัวโดยการคุมกำเนิดมีผลโดยตรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้หญิง รวมทั้งผลของการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง เพราะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการตั้งท้องหรือการทำแท้งตามมา และทำให้ผู้หญิงมีความสามารถในการวางแผนชีวิตตนเองได้มากขึ้น
สำหรับข้อมูลสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของไทย ในปี 2562 สถิติการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อายุ 15-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 169 คน โดยมีวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 6 คน มีจำนวนหญิงคลอดอายุต่ำกว่า 20 ปี มีอยู่ 63,831 ราย โดยแยกหญิงคลอดอายุระหว่าง 15-19 ปี มีจำนวน 61,651 ราย หญิงคลอดอายุต่ำกว่า 15 ปี มีจำนวน 2,180 ราย และยังพบว่าหญิงตั้งครรภ์ซ้ำและคลอดอายุต่ำกว่า 20 ปี มีถึง 5,222 ราย
สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าลดจำนวนแม่วัยรุ่นจาก 31.4 ต่อ 1,000 คนเหลือ 25 คนภายในปี 2569
หนึ่งในการดำเนินงานส่งเสริมชีวิตที่มีสุขภาพดีและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้หญิงที่สำคัญคือ กรมอนามัยได้ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้บริการยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัยในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่อยู่ในภาวะหลังคลอดหรือแท้ง หรือต้องการคุมกำเนิด ในทุกสิทธิสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาแม่วัยรุ่นและป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ และลดการทำแท้งจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อม
คำว่า ‘วิธีการวางแผนครอบครัวสมัยใหม่’ อยู่ใน ‘#SDG3 เป้าประสงค์ที่ 3.7 สร้างหลักประกันถ้วนหน้าในการเข้าถึงบริการสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว ข้อมูลข่าวสารและความรู้ และการบูรณาการอนามัยการเจริญพันธุ์ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี พ.ศ. 2573 ในตัวชี้วัด 3.7.1 สัดส่วนของหญิงวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15 – 49 ปี) ที่พึงพอใจกับการวางแผนครอบครัวด้วยวิธีสมัยใหม่
Target 3.8 : by 2030 ensure universal access to sexual and reproductive health care services, including for family planning, information and education, and the integration of reproductive health into national strategies and programs
Indicator 3.7.1 : Proportion of women of reproductive age (aged 15-49 years) who have their need for family planning satisfied with modern methods
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 3 (2562)
กรมอนามัยร่วมกับไบเออร์ไทย รณรงค์สังคมไทยหยุดท้องไม่พร้อม สนับสนุนการตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพในวันคุมกำเนิดโลก 2563
กรมอนามัยหนุนคุมกำเนิดป้องกันท้องไม่พร้อม
Govt seeks to slash teen pregnancy rate