SDG Vocab | 09 – Non-Communicable Diseases – โรคไม่ติดต่อ

Non-Communicable Diseases หรือ โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุจากเชื้อโรคหรือการติดเชื้อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัส การหายใจ สารคัดหลั่ง หรือพาหะนำโรค แต่เป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งปัจจัยภายในร่างกายอย่างพันธุกรรม ปัจจัยด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย/ออกกำลังกายน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การทานอาหารในปริมาณที่มากเกินความต้องการ มีรสเค็มจัด หวานจัด หรือไขมันสูง ไปจนถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม-เศรษฐกิจและสังคม ทำให้อาการของโรคเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยสะสมต่อเนื่อง โรคไม่ติดต่อจึงรู้จักกันในอีกชื่อว่าเป็น ‘โรคเรื้อรัง’ ที่นำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

ตัวอย่างโรค เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด (อาทิ โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน) โรคความดันโลหิตสูง  โรคไขมันในเลือดสูง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจ (อาทิ โรคหอบหืด โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง) เป็นต้น

แล้วทำไมโรคไม่ติดต่อถึงสำคัญ ? ข้อมูลจากองค์การอนามัยโรค (WHO) ระบุว่า

  • โรคไม่ติดต่อได้คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 41 ล้านคนต่อปี เทียบเท่ากับร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั่วโลก
  • 4 โรคไม่ติดต่อหลัก ๆ ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด (เสียชีวิต 17.9 ล้านคนทุกปี) ตามมาด้วย โรคมะเร็ง (9.3 ล้านคน) โรคทางเดินหายใจ (4.1 ล้านคน) และโรคเบาหวาน (1.5 ล้านคน) ซึ่งทั้งหมดเป็นสาเหตุของการตายมากกว่าร้อยละ 80 ของการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ
  • การเคลื่อนไหวร่างกาย/ออกกำลังกายไม่เพียงพอ เป็นเหตุของการตาย 1.6 ล้านคนต่อปี
  • การทานเค็มจัด (โซเดียมสูง) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4.1 ล้านคนต่อปี
  • การสูบบุหรี่ – ทั้งผู้สูบและผู้ที่อยู่รอบข้างที่สูดดมควันบุหรี่นั้น – เป็นสาเหตุของการตายมากกว่า 7.2 ล้านคนต่อปี และคาดว่าจะมีมากขึ้น

ขณะที่ในแต่ละปี มีผู้คนอายุระหว่าง 30 – 69 ปี มากกว่า 15 ล้านรายที่เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ และร้อยละ 85 ของ ‘การตายก่อนวัยอันควร’ จำนวนนี้เกิดขึ้นใน ‘ประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง’ แสดงให้เห็นว่าผลกระทบของโรคไม่ติดต่อเกิดขึ้นกับประเทศต่าง ๆ ไม่เท่ากัน

สะท้อนว่าปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม มีความสำคัญไม่แพ้กันโดยเฉพาะสำหรับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ความยากจน (#SDG1) สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการเกิดโรคไม่ติดต่อ ในแง่ของค่าใช้จ่ายกับที่อยู่อาศัย ความเปราะบางของคนยากจนทำให้ป่วยและเสียชีวิต ‘เร็วเกินไป’ กว่าคนที่อยู่มีฐานะทางสังคมที่ดีกว่า จากสาเหตุ อาทิ รายได้กับการเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างจำกัด เพราะค่าใช้จ่ายเพื่อรับบริการสุขภาพสูงเกินกว่าที่รายได้คนยากจนจะรับการรักษาได้ โดยเฉพาะที่การรักษาโรคไม่ติดต่อนั้นมักใช้เวลานาน

โดยการรักษาโรคไม่ติดต่อ มีทั้งการปรับพฤติกรรมหันมาทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ครบโภชนาการ ไม่ทานรสจัด ในปริมาณที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ การตรวจสุขภาพเป็นประจำ และอื่น ๆ ตามที่แพทย์จะแนะนำจำเพาะแต่ละโรคที่แตกต่างกันไป

อย่างไรก็ดี ‘การป้องกันโรคไม่ติดต่อ’ หรือ ‘ลดความเสี่ยง’ ก็มีความสำคัญมากและจะต้องทำควบคู่กันไปด้วย โดยจะต้องเป็นวิธีการที่รอบด้าน (comprehensive) ของทุกองคาพยพด้านสุขภาพ การเงิน-การคลัง การขนส่งและคมนาคม การศึกษา การเกษตร และอื่น ๆ เพื่อช่วยลดทุกปัจจัยเสี่ยงลงหรือควบคุมปัจจัยเหล่านั้น

โดยเฉพาะการมีนโยบายและการจัดลำดับความสำคัญจองความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อและแนวโน้มที่จะต้องติดตาม ตลอดจนการมี ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ สำหรับทุกคน

สำหรับประเทศไทย ตามข้อมูลงานวิจัยสำรวจสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทประเทศไทย เป้าหมายที่ 3 (ข้อมูลปี 2562) ได้จัดให้ เป้าประสงค์ที่ 3.4 ลดการตายจากโรคไม่ติดต่อ เป็นหนึ่งในลำดับความสำคัญปัญหาเร่งด่วน #SDG3 ของไทย ร่วมกับเป้าประสงค์ที่ 3.3 ยุติการแพร่การกระจายของเชื้อ HIV และโรคติดต่อ เป้าประสงค์ที่ 3.5 เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สาร/ยาเสพติดในทางที่ผิด และเป้าประสงค์ที่ 3.6 ลดอุบัติเหตุทางท้องถนน

คำว่า โรคไม่ติดต่อ ปรากฏอยู่ใน ‘#SDG3 เป้าประสงค์ที่ 3.4 – ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีภายในปี 2573’

– ตัวชี้วัด 3.4.1 อัตราการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรงเบาหวาน และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังในประชากรไทย อายุ30 – 70 ปี (premature mortality rate) ลดลง 1/3 ภายในปี 2573
– ตัวชี้วัด 3.4.2 อัตราการฆ่าตัวตาย

Target 3.4: By 2030, reduce by one third premature mortality from non-communicable diseases through prevention and treatment and promote mental health and well-being


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา:
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 3 (2562)
NCDs (WHO)

Last Updated on สิงหาคม 17, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น