การที่ประชากรโลกจะมีจำนวนมากขึ้นถึง 8 พันล้านคนภายในปี 2568 พร้อมกับการดึงทรัพยากรมาใช้อย่างมหาศาลอันหมายรวมถึงวิธีการผลิตอาหาร เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัยตอบสนองประชากรโลกกว่า 10 พันล้านคนภายในปี 2593 โดยเฉพาะที่ประชากรโลกส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ใน ‘เมือง’ ในยามที่ต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบและ ‘วิถีการใช้ชีวิตที่ยั่งยืน’ มากขึ้น เพราะทุกการตัดสินใจที่จะผลิต บริโภค ฯลฯ ล้วนสามารถลดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อโลกใบนี้ได้
อินโฟกราฟิกทั้ง 4 ภาพนี้เผยแพร่โดยโครงการ International Resource Panel ภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ช่วยฉายภาพให้เราเห็นภาวะของโลก ณ ปัจจุบันของ #SDG2 (ความมั่นคงทางอาหาร) #SDG11 (เมืองและที่อยู่อาศัย) #SDG12 (การผลิตและการบริโภค) และ #SDG13 (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ว่าเป็นอย่างไร ประกอบการตัดสินใจ ‘คิดใหม่’ ว่าถึงเวลาหรือยังที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อความยั่งยืน ตามคำแนะนำดังนี้…
ประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น มาเพิ่มกับการผลิตอาหารให้ได้มากขึ้นอีก 60% เพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภคของคนกว่า 8 ล้านคน (2568) และ 10 ล้านคน (2593) แรงกดดันจึงตกอยู่ที่ภาคการเกษตรและภาคการประมง ที่ ‘วิธีการผลิต’ นั้นทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพบนบกถึง 60% สูญเสียปลาเศรษฐกิจ 61% ทำให้ดินเสื่อมโทรม 33% และใช้ประโยชน์จากชั้นหินอุ้มน้ำ (aquifers) มากเกินถึง 20% โดยที่ระบบ/วิธีการผลิตอาหารเป็นส่วนหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 24%
ถึงแม้กระนั้น โลกก็ยังมีประชากรที่ยัง ‘หิวโหย’ อยู่มากกว่า 800 ล้านคน
● อ่านเพิ่มเติมว่าระบบอาหารทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างไร ที่นี่
● อ่านเพิ่มผ่าน SDG Vocab เรื่อง ความมั่นคงทางอาหาร ที่นี่
● อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ‘Blue Food Production’ : ทบทวนวิธีการผลิตของฟาร์มอาหารทะเลในเอเชียแปซิฟิก, Global Tuna Alliance กับการทำให้มีทูน่าพอสำหรับโลก
การไขปัญหาของการบริโภคที่มากเกินนั้น เพื่อการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน EAT-Lancet Commission เสนอวิธีการหนึ่งคือการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและปกป้องทรัพยากรไปพร้อมกัน เช่นการหันมาทานแบบ ‘plant-based’ มากขึ้น
ต่อเนื่องมาพูดถึงการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Settlements Programme: UN-Habitat) ระบุว่า 99% ของทุกอย่างที่เราซื้อมา จะถูกโยนทิ้งไปภายในเวลา 6 เดือน และข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ชี้ว่าการซื้อมา-ทิ้งไปเช่นนั้นทำให้เกิดภูเขาขยะกว่า 2 พันล้านตันทั่วโลก
ทางไขปัญหาของประเด็นนี้จึงเน้นความสำคัญของโมเดล ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ (circular economy) กล่าวคือเราต้องยุติการซื้อมา-ทิ้งไปที่จะกระทบกับสุขภาวะที่ดีของโลก เริ่มให้กระบวนการผลิตคำนึงถึงความยั่งยืน ผลิต ‘ขยะ’ น้อยลง เน้น ‘การเก็บรักษามูลค่า’ (value-retention) หรือการขยายอายุการใช้งานของสินค้าให้ใช้ได้ยาวนานขึ้น ผ่านการนำกลับมาใช้ใหม่ (reuse) การซ่อมแซม (repair) การตกแต่งใหม่ (refurbishment) และการนำชิ้นส่วนที่สึกหรอหรือสินค้าที่ผ่านการใช้แล้วกลัมาปรับปรุง-ซ่อมแซมให้เหมือนการผลิตใหม่ (remanufacturing)
● อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน : ความจำเป็นเร่งด่วนของเศรษฐกิจหมุนเวียน, ไทยกับ BCG Model, EU บังคับใช้ ‘สิทธิในการซ่อม’ เครื่องใช้ไฟฟ้า, ไทยกับการแบนพลาสติก, ขยะเป็นศูนย์กับ EPR ในมาเลเซีย
หากทำได้เช่นนั้น ก็จะสามารถช่วยลดการใช้วัตถุดิบได้ถึง 80 – 99% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 79 – 99% ไปจนถึงว่าจะเป็นการกระตุ้นการใช้นวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต สร้าง ‘งานสีเขียว’ ที่คำนึงถึงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม และลดต้นทุนการผลิตได้ด้วย
ภายในปี 2593 ประชากรโลกมากกว่า 2 ใน 3 หรือ 66% จะอาศัยอยู่ในเมือง และการเปลี่ยนผ่านจากสังคมชนบทไปสู่สังคมเมืองส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเอเชียและแอฟริกา ที่ที่เมืองหลายเมืองนั้นแออัดไปด้วยผู้คน ตามมาด้วยปัญหาการจราจรบนท้องถนนและมลพิษทางอากาศอย่างสาหัส แต่เมืองก็ยังคงต้องขยายเมืองออกไปรวมทั้งสร้างเมืองใหม่เพื่อรองรับประชากร
นอกจากการมีเมืองที่สามารถรองรับปริมาณคนได้เพียงพอ การตอบโจทย์ที่สำคัญตามรายงาน Smart at Scale: Cities to Watch 25 Case Studies ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) คือ การสร้างเมืองอัจฉริยะ (smart cities) ที่หมายถึงการมี ‘โซลูชั่น’ เพื่อบริการจัดการปัญหาขยะ การจราจรที่คับคั่ง ที่อยู่อาศัยที่มีราคาหาซื้อได้ การบริหารจัดการน้ำ อาคาร การใช้พลังงาน – โดยเฉพาะพลังงานทดแทน/พลังงานสะอาด ไปจนถึงการมีส่วนร่วมของพลเมืองและผู้มีส่วนได้เสียจากภาคต่าง ๆ เป็นต้น
● อ่านรายงานความเสี่ยงโลก 2564 กับผลกระทบที่มีต่อเมือง ที่นี่
● อ่านวิกฤติมลพิษทางอากาศในเอเชีย ที่นี่
● อ่านเพิ่มเติมเรื่องที่เกี่ยวข้อง : 5 เมืองระดับโลกผู้นำใช้พลังงานหมุนเวียน, Nature-Based Solutions สร้างเมืองอัจฉริยะจัดการน้ำ, ฝรั่งเศสกับแผน ‘รถยนต์เก่าแลกเครดิตซื้อจักรยานไฟฟ้าใหม่’
สืบเนื่องจากเรื่องเมืองและที่อยู่อาศัย ระบบขนส่งที่มีอยู่นั้นเป็นหนึ่งปัจจัยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อสุขภาวะของโลกอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อปี 2561 ภาคขนส่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 24% จากทั้งหมดที่ปล่อยจากภาคพลังงานในโลก โดยรถยนต์ จักรยานยนต์ รถเมล์ และรถแท็กซี่ รวมกันแล้วปล่อยก๊าซจากภาคขนส่งที่ 45.1%
เพื่อบรรเทาปัญหาข้างต้นลง แนวคิดอย่างหนึ่งคือ ‘การใช้ / การอยู่ร่วมกัน’ (cohabitat) ตามชาร์ตนี้เสนอแนะให้มีการแบ่งปันการใช้ยานพาหนะ ส่วนเรื่องที่อยู่อาศัย เสนอให้มีการใช้ที่อยู่อาศัยร่วมกัน (peer-to-peer lodging / co-housing) การใช้วัสดุทดแทน และการขยายอายุการใช้งานของวัสดุ
● อ่านเพิ่มเติม : ตึกไม้ระฟ้า – ทางเลือกใหม่เพื่อสร้างเมืองยั่งยืน, ที่อยู่อาศัยที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ, อังกฤษกับการจำกัดการขายไม้ฟืนสำหรับเตาเผาในบ้าน
*อินโฟกราฟิก #SDG13 นี้พูดถึงการกระทำที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเป้าหมายอื่น ดังนั้น ข้อเสนอแก้ไขปัญหาจึงเป็นเชิงการลดปัญหา (climate change mitigation)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ขจัดความหิวโหย เกษตรกรรมที่ยั่งยืน
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐาน (11.1) หลักประกันการเข้าถึงที่อยู่อาศัย – (11.2) การเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืนเข้าถึงได้ – (11.3) การพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืน – (11.6) ลดผลกระทบเชิงลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อม ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศและการจัดการของเสีย
#SDG12 แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน อาทิ การใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ การลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
#SDG13 การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงประเด็นการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change mitigation) อาทิ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (13.3)
แหล่งที่มา : Four infographics to help you understand the state of the planet (WEF)