รายงานซึ่งจัดทำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) การทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจขาดเลือดทั่วโลกถึง 745,000 คนในปี 2016 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 29% ตั้งแต่ปี 2000
ผลการประเมินจำนวนผู้เสียชีวิตและมีปัญหาสุขภาพเนื่องจากเวลาทำงานในระดับโลกจาก 194 ประเทศ พบว่า หากลูกจ้างทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้นประมาณ 35% และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดสูงขึ้น 17% เมื่อเทียบกับคนที่ทำงาน 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจเนื่องจากการทำงานเป็นเวลานานเพิ่มขึ้นถึง 42% และจากโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 19% ในปี 2016 เมื่อเทียบกับปี 2000
ทั้งนี้ ภาระโรคที่เกิดจากการทำงานพบในกลุ่มประชาการที่เป็นเพศชาย (ผู้เสียชีวิตถึง 72% เป็นเพศชาย) ในคนทำงานที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่ในวัยกลางคนขึ้นไป ในขณะที่การเสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคนอายุ 60-79 ปี ที่ทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ในตอนมีอายุระหว่าง 45-74 ปี
นอกจากนั้น รายงานยังระบุว่าปัจจุบันจำนวนคนที่ทำงานเกิน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อยู่ที่ 9% ของประชากรทั้งหมดทั่วโลกและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนคนทำงานที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย การทุพพลภาพจากการทำงานและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมีมากขึ้น
การระบาดของโควิด-19 ได้เปลี่ยนวิธีการทำงานของคนจำนวนมาก ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการทำงานไม่ชัดเจนและมีแนวโน้มที่จะมีชั่วโมงการทำงานที่สูงขึ้น องค์การอนามัยโลกได้เสนอข้อแนะนำให้รัฐบาล นายจ้าง และคนทำงานเองดำเนินการเพื่อดูแลสุขภาพ ดังต่อไปนี้
- รัฐบาลสามารถกำหนดกฎหมายหรือนโยบายที่ห้ามลูกจ้างทำงานล่วงเวลา และจำกัดจำนวนชั่วโมงทำงานสูงสุด
- มีความตกลงแบบทวิภาคีหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างและสมาคมแรงงานให้สามารถมีช่วงเวลาทำงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ตกลงเรื่องจำนวนชั่วโมงทำงานสูงสุดด้วย
- ลูกจ้างสามารถแบ่งชั่วโมงทำงานกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้แน่ใจว่าจำนวนชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ต่อคนจะไม่เกิน 55 ชั่วโมง
ปัญหาสุขภาพแรงงานที่เกิดจากชั่วโมงทำงานนานเกินไป เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ ป้องกัน รักษาโรค สนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี (3.4)
- SDG 8 งานที่มีคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในประเด็น ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกกลุ่ม (8.8)
ที่มา: WHO