การจะเข้าใจความหมายของคำว่า ‘การศึกษาที่เท่าเทียม/เสมอภาค’ ต้องเริ่มจากทำความเข้าใจหลักการเบื้องหลังของคำนี้ ตามปฏิญญาการศึกษาอินชอน 2030 (Education 2030 Incheon Declaration and Framework for Action for the implementation of Sustainable Development Goal 4) ซึ่งเป็นเครื่องมือกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา มองว่าการศึกษาเป็นเรื่อง – สิทธิมนุษยชนพื้นฐาน, ศักดิ์ศรีของมนุษย์, ความยุติธรรมทางสังคม, ความครอบคลุม/ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง, ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา เพศ และชาติพันธุ์ ตลอดจนสินค้าและบริการเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยสหพันธ์สหภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับโลกอย่าง Education International อธิบายว่าการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม (equality) กันทุกคน ต้องให้ความสำคัญกับ ‘กลุ่มคนเปราะบาง’ อาทิ คนยากจน ผู้หญิง-ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ชนชายขอบทางภาษา-ชาติพันธุ์-สังคม เด็กและผู้ใหญ่ที่พิการ หรือคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล/เปราะบาง รวมถึงกลุ่มนักเรียนที่ออกจากการศึกษา (out-of-school children) ที่จะต้องไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ
ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงเรื่อง ‘ค่าใช้จ่าย’ ของการศึกษาด้วย เพราะมักเป็นอุปสรรคของการเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ดังนั้นจึงต้องขจัดอุปสรรคนี้ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ให้ทุกคนได้เข้าเรียนฟรีหรือสามารถจ่ายได้ นำมาซึ่งการออกแบบการศึกษาที่เสมอภาค (equity) ที่จะประกันว่ากลุ่มคนเหล่านี้สามารถเข้าถึง ‘การศึกษาที่มีคุณภาพ ฟรี/สามารถจ่ายได้’ ตาม ‘สิทธิ’ ของตนอย่างเท่าเทียม
จากคำอธิบายเหล่านี้ประกอบกัน การศึกษาที่เท่าเทียม จึงหมายถึงการที่ ‘ทุกคน’ สามารถ ‘เข้าถึง’ การศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม/เสมอภาค’ (equitable participation in quality education) และฟรี/สามารถจ่ายได้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ #SDG4
- ‘การศึกษาที่มีคุณภาพ’ (Quality education) เป็นการส่งเสริมความรู้และทักษะต่าง ๆ อาทิ ทักษะการคิดวิเคราะห์ โดยพื้นฐานเป็นการส่งเสริมให้มีความสามารถทางการอ่านออกเขียนได้และทักษะคณิตศาสตร์ (เกี่ยวข้องกับเป้าประสงค์ 4.6) และคำนึงถึงกระบวนการศึกษาซึ่งรวมถึงหลักสูตรการเรียนการสอน โครงสร้างพื้นฐานโรงเรียน สภาพแวดล้อมของห้องเรียน อุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษา (เกี่ยวข้องกับเป้าประสงค์ 4.a) อย่างไรก็ดี ยังมีส่วนที่จำเป็นที่จะต้องขยายเพิ่มสู่ ‘ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิภาพ’ ด้วยการส่งเสริมทัศนคติและความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาระดับท้องถิ่นและระดับโลก ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมประชาธิปไตยและความยั่งยืน กล่าวคือ เป็นการศึกษาที่มีคุณภาพที่นำไปสู่สันติภาพ ขันติธรรม ความยุติธรรมทางสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน (เกี่ยวข้องกับเป้าประสงค์ที่ 4.7) ตลอดจนเครื่องมือการจ้างงานเต็มที่ (#SDG8) และการยุติความยากจน (#SDG1)
- ความเท่าเทียมยังรวมถึง ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ทำให้การออกแบบการเรียนการสอน ผู้สอน และสภาพแวดล้อมต้องคำนึงถึงความอ่อนไหวทางเพศ ตลอดจนการทำให้โรงเรียนเป็นที่ปลอดภัย ไม่มีความรุนแรง และไม่มีการเลือกปฏิบัติ
ทำให้ใจความของความเท่าเทียม/ความเสมอภาคทางการศึกษาสามารถพบได้ในเป้าประสงค์ต่าง ๆ ของ #SDG4 ด้วย กับคีย์เวิร์ด เช่น สร้างหลักประกันให้ทุกคน ‘เข้าถึง’ … ขจัดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา … เป็นต้น
นอกจากนี้ อาจกล่าวได้ว่าความเท่าเทียมทางการศึกษายังสอดประสานกับคำว่า ‘ความครอบคลุมทางการศึกษา’ (Inclusive education) ตามนิยามจากที่ประชุม World conference on special needs education: access and quality (7-10 มิถุนายน พ.ศ. 2537) สเปน ระบุว่าหมายถึง “Recognition of the need to work towards “schools for all” – institutions which include everybody, celebrate differences, support learning, and respond to individual needs.” หรือ
“การตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนา ‘โรงเรียนเพื่อทุกคน’ สถาบันการศึกษาซึ่งรวมทุกคนเอาไว้
สถาบันการศึกษาที่ยอมรับถึความแตกต่าง สถาบันการศึกษาที่สนับสนุนการเรียนรู้และตอบสนองต่อความต้องการของแต่ละบุคคลได้”
ซึ่งในที่ประชุมฯ ยังได้ออกแถลงการณ์ ‘แถลงการณ์ซาลามันกา’ พูดถึงการศึกษาที่ครอบคลุมเอาไว้ว่าเป็น
- สิทธิในการได้รับการศึกษาจะต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคนที่จะได้รับ
- เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทั้งความสนใจ ความต้องการ ความสามารถ รวมถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละคน ดังนั้น การจัดการศึกษาจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายของเด็กแต่ละคน
- ต้องไม่มี ‘การแบ่งแยก’ ระหว่างการจัดบริการทางการศึกษาสำหรับเด็กปกติและเด็กที่มีความต้องการพิเศษในสถานศึกษาทั่วไป กล่าวคือ ต้องไม่มีการแบ่งแยกการเรียนรู้ออกจากกัน
กล่าวคือ ทั้งความเท่าเทียมและความครอบคลุมทางการศึกษาได้เป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงจากฐานรากเพื่อ ‘การศึกษาที่ยั่งยืน’
สำหรับความเท่าเทียม/เสมอภาคทางการศึกษาตามเป้าประสงค์ที่ 4.1 เจาะจงไปที่การ ‘ขยายการเข้าถึง’ การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ฟรี มีคุณภาพ การศึกษาภาคบังคับ และเด็กทุกคน ‘สำเร็จการศึกษา’ พร้อมทักษะพื้นฐานที่จำเป็น – ระดับประถมศึกษาตอนต้น (ป.3) ประถมศึกษาตอนปลาย (ป.6) และมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) โดยคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างการออกจากโรงเรียน การเรียนซ้ำ เป็นต้น
‘#SDG4 เป้าประสงค์ที่ 4.1 – สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573’
Target 4.1: By 2030, ensure that all girls and boys complete free, equitable and quality primary and secondary education leading to relevant and effective learning outcomes
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 4 (2560)
Education 2030 (UNESCO)
Unstat Metadata ตัวชี้วัด 1 ตัวชี้วัด 2
Equitable Quality Education: a Precondition for Sustainable Development (Education International)
Last Updated on มกราคม 4, 2022