‘โรคอ้วนในเด็ก’ ยังคงเป็นหนึ่งประเด็นข้อห่วงกังวลที่จะต้องเฝ้าระวังของภูมิภาคยุโรป แม้ว่าจะคงที่หรือดีขึ้นจากเดิมในบางประเทศเพราะการใช้ข้อมูลจาก COSI ก่อนหน้าร่วมกับมาตรการด้านภาษีน้ำหวาน ข้อจำกัดการทำการตลาด และสนับสนุนวิชาพละศึกษา ทว่ารายงานล่าสุดของโครงการเฝ้าระวังโรคอ้วนในเด็กของ WHO ประจำยุโรป (WHO European Childhood Obesity Surveillance Initiative: COSI) ได้เผยว่า 1 ใน 3 ของเด็กระดับประถมศึกษาอายุ 6-9 ปี ใน 36 ประเทศในยุโรปยังคงมีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน โดยประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน (ไซปรัส กรีซ อิตาลี สเปน) มีอัตราโรคอ้วนในเด็กมากที่สุดที่มากกว่า 40% หรือ 19-24% ในเด็กผู้ชาย และ 14-19% ในเด็กผู้หญิง
ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์-ปิดโรงเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อการเข้าถึงอาหารที่โรงเรียนและการเคลื่อนไหวร่างกายตามประสาวัยเด็ก อาจเป็นส่วนทำให้มีจำนวนโรคอ้วนในเด็กมากขึ้นได้ ซึ่งเกี่ยวพันกับโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ ตามมาด้วย ทั้งที่เด็กเหล่านี้จะเป็นอนาคตของคนรุ่นใหม่ ยุโรปจึงให้ความสำคัญกับ ‘ยุทธศาสตร์ป้องกันโรคอ้วนในเด็ก’ การสนับสนุนอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาทิ การทานอาหารเช้า ผักและผลไม้ ตลอดจนการเคลื่อนไหวร่างกาย (physical activity)
ผลจากการใช้ข้อมูลการศึกษาเฝ้าระวังที่มีก่อนหน้าซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลภาวะน้ำหนักเกิน การเคลื่อนไหวร่างกาย และแบบแผนการทานอาหารที่ครอบคลุมเด็กชายและเด็กหญิง ตลอดจนการนำคำแนะนำของ WHO ในด้านมาตรการทางภาษี ‘น้ำหวาน’ ข้อจำกัดการทำการตลาด และวิชาพละศึกษา ไปประกอบการดำเนินการป้องกันโรคอ้วนในเด็ก ทำให้ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็ก ‘คงที่’ หรือ ‘ลดลง’ ใน 13 ประเทศ แม้กระทั่งในประเทศที่มีอัตราโรคอ้วนในเด็กมากที่สุดอย่างกรีซ อิตาลี โปรตุเกส สเปน และสโลวีเนีย
ส่วนรายงานฉบับปัจจุบันซึ่งได้เก็บข้อมูลเด็กชายและเด็กหญิงช่วงเปิดเทอมปี 2558-2559 และ 2559-2560 พบว่า ในภาพรวมมีภาวะน้ำหนักเกินรวมถึงโรคอ้วน 29% ในเด็กผู้ชาย และ 27% ในเด็กผู้หญิง และเฉพาะโรคอ้วนในเด็กเองมี 13% ในเด็กผู้ชาย และ 9% ในเด็กผู้หญิง อย่างไรก็ดี ตัวเลขเหล่านี้แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ขณะที่ประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนมีอัตราโรคอ้วนในเด็กมากที่สุด อัตราโรคอ้วนในเด็กที่น้อยที่สุดอยู่ที่ประเทศแถบเอเชียกลาง (ซึ่งการสำรวจครอบคลุมภูมิภาคนี้เช่นกัน) อาทิ คีร์กีซสถาน ทาจิกีสถาน และเติร์กเมนิสถาน ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน 5-12% และโรคอ้วนน้อยกว่า 5%
โดยมีรายละเอียดพฤติกรรมการทานอาหารและการเคลื่อนไหวร่างกาย ดังนี้
- พฤติกรรมการทานอาหารของเด็ก – โดยเฉลี่ย มีเด็กเกือบ 80% ที่ได้ทานอาหารเช้าทุกวัน ประมาณ 45% ทานผลไม้ทุกวัน และประมาณ 25% ทานผักทุกวัน แต่ในระดับประเทศก็ยังแตกต่างกันอยู่มาก กล่าวคือ การได้ทานอาหารเช้าทุกวันอยู่ในช่วง 49-96%, การทานผลไม้ในทุกวันอยู่ในช่วง 18-81% และการทานผักในทุกวันอยู่ในช่วง 9-74% อย่างไรก็ดี หากมาดูพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์อย่างขนมหวานและของขบเคี้ยว จะพบว่า 27% ของเด็กทั้งหมดทานขนมหวานเป็นประจำ มากกว่าการทานของขบเคี้ยว (14%) เมื่อเทียบความถี่ของการทานขนมเหล่านี้มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์จะพบว่ามีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศด้วย กล่าวคือ อยู่ในช่วง 5-62% ที่ทานขนมหวานเป็นประจำมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ และน้อยกว่า 1 ถึง 35% ที่ทานขนมขบเคี้ยวเป็นประจำมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์
- เด็ก ๆ เคลื่อนไหวร่างกายกันมากน้อยขนาดไหน? – โดยเฉลี่ยเด็ก 1 ใน 2 ของทั้งหมด ‘เดิน’ หรือ ‘ปั่นจักรยาน’ ไป-กลับบ้านและโรงเรียน ในทุกประเทศ เด็กส่วนมาก (ช่วง 62-98%) ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงไปกับการเล่นข้างนอก ทั้งนี้ ยังมีข้อค้นพบเรื่องความต่างของ ‘ระดับการศึกษาของผู้ปกครอง’ ในประเทศต่าง ๆ ที่มีผลต่อการส่งเสริมกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กด้วย เช่นว่าในประเทศส่วนใหญ่ เด็กที่ผู้ปกครองมีการศึกษาสูงกว่า มักจะได้เล่นกีฬาหรือเต้น ขณะที่เด็กที่ผู้ปกครองมีการศึกษาน้อยกว่า จะได้เดินหรือปั่นจักรยานไป-กลับบ้านและโรงเรียน
ทั้งนี้ WHO แนะนำให้ใช้ข้อมูล COSI พร้อมกับข้อมูลผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2564 ที่มีต่อภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็ก (ซึ่งอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล) เพื่อประกอบยุทธศาสตร์และการดำเนินการป้องกันโรคอ้วนในเด็กต่อไป
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ในประเด็นการยกระดับโภชนาการ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลง 1 ใน 3 ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดีภายในปี 2573
– (3.d) ส่งเสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก