แม้ว่าการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานระดับชาติเป็นหลัก แต่เพราะเป็นกรอบการพัฒนาที่ครอบคลุมแทบทุกประเด็นบนสังคมโลกนี้ SDGs ก็ได้กลายเป็นกรอบให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับปรับแนวทางและประเมินนโยบาย กลยุทธ์ทางธุรกิจ หรืองานวิจัยให้สอดคล้องกับ SDGs ไปด้วยได้
SDG Impact Assessment Tool ได้นำเสนอเครื่องมือการประเมิน สำหรับงานวิจัย สถาบันการศึกษา บริษัท ผู้ประกอบการ องค์กรภาคประชาชน และหน่วยงานรัฐ เพื่อระบุผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบของงานที่ทำต่อ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย ที่สามารถประเมินได้ด้วยตนเอง เครื่องมือนี้จะกระตุ้นให้เกิดการไตร่ตรองและการเรียนรู้ร่วมกันในประเด็น SDGs และการเชื่อมโยงระหว่างแต่ละเป้าหมาย
SDG Impact Assessment Tool ได้รับการพัฒนาโดย SDSN Northern Europe และ Gothenburg Center for Sustainable Development แห่ง Chalmers University of Technology และ University of Gothenburg
สามารถลงทะเบียนและเข้าใช้ได้ฟรีที่ https://sdgimpactassessmenttool.org
เพื่อให้การใช้งาน SDG Impact Assessment Tool มีประสิทธิภาพมากที่สุด ผู้พัฒนาเครื่องมือได้เผยแพร่ SDG Impact Assessment Tool – GUIDE 1.0 ออกมาพร้อมกัน เพื่ออธิบายขั้นตอนการประเมินทั้ง 5 ขั้นตอนและให้คำแนะนำการใช้เครื่องมือในสถานการณ์ต่างๆ โดยมีใจความสำคัญดังต่อไปนี้
SDG Impact Assessment Tool เหมาะกับใคร ?
SDG Impact Assessment Tool เป็นเครื่องมือที่ไม่ซับซ้อน และได้รับการพัฒนามาเพื่อให้ผู้ใช้กลุ่มต่างๆ ใช้งานได้อย่างทั่วถึง ตัวอย่างกลุ่มผู้ใช้ ได้แก่
- นักวิจัย
เครื่องมือนี้สามารถช่วยขยายขอบเขตของงานวิจัยให้รวมผลกระทบต่อ SDGs ไว้ด้วย โดยสามารถระบุให้เห็นความสำคัญของการทำงานวิจัยแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ และเน้นให้เห็นความเชื่อมโยงในประเด็นสังคมของข้อเสนอวิจัย - อาจารย์
อาจารย์สามารถใช้เครื่องมือนี้เพื่อทำกิจกรรมกับนักเรียนนักศึกษา โดยให้แบ่งกลุ่มเล็กๆ และประเมินโครงการ หรือกรณศึกษาที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่เรียน - นักเรียน/นักศึกษา
นำความรู้เกี่ยวกับ SDGs ไปใช้ในการทำโปรเจกต์ ประเมินเนื้อหาหลักสูตรหรือโปรแกรมที่เรียนว่าเกี่ยวข้องกับ SDGs อย่างไร - ภาคนวัตกรรมและธุรกิจ
ใช้เครื่องมือนี้ประเมินผลกระทบต่อ SDGs ของการกำหนดกลยุทธ์และแผนธุรกิจในอนาคต - เทศบาล หน่วยงานระดับภูมิภาคหรือระดับชาติ
เครื่องมือนี้จะช่วยในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์โดยใช้ SDGs เป็นฐาน ในการลงทุนเพื่อการพัฒนาหรือวางแผนโครงการใหม่ๆ - หรือทุกคนที่มีโครงการหรือแนวทางที่ต้องการการประเมิน เพราะ SDGs เกี่ยวข้องกับทุกคน
SDG Impact Assessment Tool ใช้อย่างไร ?
ขั้นตอนการใช้งานเครื่องมือมีทั้งหมด 5 Steps คือ
Step 1 – รวมกำลังพล
SDGs ครบคลุมหัวข้อที่หลากหลาย และต้องการความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา คำแนะนำในขั้นตอนแรกของการประเมินคือให้ใช้เครื่องมือนี้ในรูปแบบวงประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ทุกคนสามารถร่วมอภิปรายรายละเอียดและความซับซ้อนต่างๆ ตอบข้อซักถามและแสดงความคิดเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้จะมีความเชื่อมโยงกับเป้าหมาย SDGs ข้อใดและอย่างไร
STEP 2 : กำหนดนิยามและขอบเขต
ระบุคำอธิบายทั่วไปของสิ่งที่ต้องการประเมินเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้ผู้อื่นเข้าใจได้ กำหนดกรอบขอบเขตการประเมินให้ชัดเจน และให้ข้อมูลโดยละเอียดว่า “ใคร ทำอะไร เมื่อไร ที่ไหน และอย่างไร” ในสิ่งที่ต้องการประเมินให้เฉพาะเจาะจง ไม่กว้างเกินไป เพื่อให้เห็นประเด็นที่เกี่ยวข้องที่จะนำมาประเมินผลกระทบต่อ SDGs
STEP 3 : จัดเรียงลำดับ SDGs
จัดเรียงลำดับว่า SDGs แต่ละเป้าหมายมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการประเมินอย่างไร ขั้นตอนนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นการสนทนาระหว่างผู้เข้าร่วมประเมินว่ามีความเห็นเช่นไร โดยเครื่องมือจะโชว์เป้าหมาย SDGs ครั้งละ 1 เป้าหมาย เพื่อให้ทุกคนได้พูดคุยและตัดสินใจว่าเป้าหมายดังกล่าวนั้น ‘เกี่ยวข้อง (relevant)’ ‘ไม่เกี่ยวข้อง (not relevant)’ หรือ ‘ไม่ทราบ (don’t know)
การจัดเรียงลำดับนี้จะมีประโยชน์ในการประเมินผลกระทบต่อ SDGs ในขั้นตอนต่อไป โดยจะเริ่มต้นด้วยเป้าหมายที่ผู้เข้าร่วมประเมินเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องมากที่สุดหรือน้อยที่สุด
STEP 4 : ประเมินผลกระทบ
ผลกระทบของสิ่งที่ประเมินต่อ SDGs สามารถแบ่งประเภทได้เป็น
- ผลกระทบเชิงบวกโดยตรง (Direct positive impact)
- ผลกระทบเชิงบวกทางอ้อม (Indirect positive impact)
- ไม่มีผลกระทบ (No impact)
- ผลกระทบเชิงลบทางอ้อม (Indirect negative impact)
- ผลกระทบเชิงลบโดยตรง (Direct negative impact)
- จำเป็นต้องมีความรู้เพิ่มเติม (More knowledge needed)
ในการประเมินผลกระทบต่อ SDG จำเป็นต้องพิจารณาและอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลที่เกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ และทางตรงหรือทางอ้อม โดยผลกระทบเชิงบวกต่อ SDG ช่วยในการสนับสนุนนำสิ่งที่ประเมินไปใช้ ในทางกลับกันผลกระทบเชิงลบต่อ SDG จะช่วยหยุดยั้งการเกิดขึ้นของสิ่งที่ประเมิน
ผลกระทบโดยตรง (เชิงบวกหรือเชิงลบ) จะมีผลในขั้นตอนเดียวในทันทีต่อ SDG และผลกระทบทางอ้อม (เชิงบวกหรือเชิงลบ) เป็นผลกระทบรองลงไปในห่วงโซ่ของเหตุการณ์ ตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างผลกระทบทางตรงและทางอ้อม เช่น เมื่อพิจารณาการประเมินผลกระทบต่อ SDGs จากการขุดบ่อน้ำและติดตั้งปั๊มน้ำ จะส่งผลกระทบเชิงบวกโดยตรงต่อ SDG 6 (น้ำสะอาดและสุขาภิบาล) เนื่องจากคนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้มากขึ้น และยังส่งผลกระทบเชิงบวกทางอ้อมต่อ SDG 3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) เนื่องจากน้ำสะอาด ช่วยลดการเจ็บป่วยจากการปนเปื้อนสารเคมี
ในการประเมินว่าแต่ละ SDG จะมีผลกระทบประเภทใด ผู้เข้าร่วมประเมินจะต้องอธิบายแรงจูงใจในการเลือก โดยให้เหตุผลและข้อโต้แย้งเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจดังกล่าว
แม้ว่าผู้ประเมินอาจจะระบุผลกระทบต่อหนึ่ง SDG ได้หลายประการ แต่การใช้เครื่องมือ SDG Impact Assessment Tool อนุญาตให้จัดประเภทของผลกระทบได้แค่เพียงประเทภเดียวเท่านั้น หากสิ่งที่ประเมินมีผลกระทบเชิงบวกต่อเป้าหมายย่อยหนึ่ง และมีผลกระทบเชิงลบต่ออีกเป้าหมายย่อยหนึ่ง ผู้ประเมินจะต้องตัดสินใจว่าผลกระทบประเภทใดที่สำคัญที่สุด
หากสิ่งที่ประเมินไม่มีความเกี่ยวข้องกับ SDG ใดเลย หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นมีความสำคัญเพียงเล็กน้อย ควรเลือกประเภท ‘ไม่มีผลกระทบ (No Impact)’ และต้องให้เหตุผลในการตัดสินใจนั้นด้วย
สำหรับ SDG บางเป้าหมายที่ผู้ประเมินอาจมีความรู้ไม่เพียงพอที่จะจัดประเภทผลกระทบด้วยความมั่นใจ และมีเหตุผลรองรับชัดเจน ในกรณีนี้ควรเลือกประเภทผลกระทบเป็น ‘จำเป็นต้องมีความรู้เพิ่มเติม (More knowledge needed)’
STEP 5 : เลือกกลยุทธ์เพื่อเดินหน้าต่อ
ขั้นตอนนี้กระตุ้นให้ผู้ประเมินกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินการสิ่งที่ประเมินต่อไปให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยพิจารณาจากผลลัพธ์การประเมินที่ได้ เสริมพลังของผลกระทบเชิงบวกและกำจัดหรือลดผลกระทบเชิงลบ และหากมีการระบุว่ามีช่องว่างของความรู้ใน SDG เป้าหมายใด ก็สามารถใช้จุดนี้เป็นการเริ่มต้นสร้างความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อเติมเต็มความรู้นั้น
ขั้นตอนที่ห้านี้จะเป็นก้าวสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมมากขึ้น
คู่มือการใช้เครื่องมือนี้แนะนำให้มีการทบทวนการประเมินหากมีองค์ความรู้ ประสบการณ์ หรือการพัฒนาใหม่ๆ เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่เกิดความรู้และข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ ขึ้นมาตลอดเวลา การย้อนกลับไปทำการประเมินด้วยความเข้าใจที่ดีขึ้นจึงทำให้ได้ผลประเมินที่ชัดเจนรอบด้านมากขึ้น
การประเมินผลกระทบต่อ SDGs สามารถเปิดมุมมองทางทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับความยั่งยืน มีคำแนะนำว่าให้ทำการประเมินโดยใช้แนวทางที่เน้นความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ (pragmatic approach) เพราะไม่เช่นนั้นจะลงเอยด้วยสถานการณ์ “อัมพาตจากการวิเคราะห์ (analysis paralysis)” ที่ไม่สามารถประเมินสิ่งใดได้เนื่องจากไม่มีข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงพอเพื่อฟันธง หรือ สถานการณ์ที่สรุปว่า “ทุกสิ่งที่ทำมีผลต่อทุกสิ่ง” เพราะสถานการณ์เช่นนี้ไม่ช่วยให้งานด้านความยั่งยืนก้าวหน้าไปไหน ดังนั้น ผู้ประเมินควรใช้เครื่องมือด้วยสามัญสำนึก มีการให้เหตุผลต่อการมีหรือไม่มีผลกระทบ มีความโปร่งใสต่อความรู้ที่ใช้สำหรับการจัดประเภทผลกระทบที่เกิดขึ้น และเปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลาย
การนำเครื่องมือไปใช้ในสถานการณ์จริง
Guide 1.0 ได้เสนอตัวอย่างการนำเครื่องมือไปใช้ในสถานการณ์จริงสำหรับผู้ใช้ที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นแนวทางและแรงบันดาลใจให้เกิดการใช้จริง
1. ในสถานศึกษา
เมื่อนักเรียน/นักศึกษาใช้เครื่องมือนี้ พวกเขาจะได้ทำความรู้จักและเรียนรู้ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย รวมถึงความซับซ้อนของการพัฒนาที่ยั่งยืน และโอกาสและอุปสรรคในการนำ SDGs ไปใช้ในชีวิตจริง การประเมินผลกระทบต่อ SDGs ในกรณีศึกษาที่อาจารย์หรือนักเรียนกำหนดช่วยให้ครูสามารถประยุกต์การเรียนการสอนแบบ Problem Based Learning (PBL) มาใช้ในห้องเรียนได้ ซึ่งมีการระบุว่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดเมื่อสอนหัวข้อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ตัวอย่าง ในคลาสเรียน Environmental Impact Assessment (ES1401) ที่ University of Gothenburg ปี 2019 นักศึกษาได้ประเมินว่าสถานการณ์การขยายการใช้พลังงานลมขนาดใหญ่ในสวีเดนจะส่งผลกระทบต่อ SDGs อย่างไร
และ ในวิชา Towards Sustainable Shipping (SJO850) ที่ Chal-mers University of Technology ปี 2019 นักศึกษาได้ประเมินผลกระทบของ SDGs ที่มาจากการดำเนินงานของบริษัทการขนส่งและโลจิสติกส์ทางทะเลสี่แห่ง
2. ในงานวิจัย
เชื่อมโยงงานวิจัยกับ SDGs
เครื่องมือนี้สามารถใช้ในโครงการวิจัยเพื่อระบุว่าผลการวิจัยมีผล SDGs อย่างไร เป็นการขยายขอบเขตของการวิจัยโดยรวมมุมมองด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องจากสาขาวิจัยที่แตกต่างกันไว้ด้วย ในแนวทางการวิจัยแบบสหสาขาวิชา นักวิจัยสามารถใช้เครื่องมือนี้เพื่อค้นหาช่องว่างของความรู้ ผลกระทบเชิงลบและเชิงบวกซึ่งสามารถแสดงเป็นความเสี่ยงและโอกาสสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับในสังคม
ตัวอย่าง โครงการวิจัย MISTRA Carbon Exit ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อระบุและวิเคราะห์โอกาสและความท้าทายทางเทคนิค ทางเศรษฐกิจและทางการเมืองสำหรับสวีเดนในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2045 ได้ใช้เครื่องมือนี้เป็นจุดตั้งต้นในการระบุความเสี่ยงและโอกาสจากกรณีศึกษาสามกรณีที่มีต่อการดำเนินการตาม SDGs ในประเทศ
ในข้อเสนอวิจัย
สภาวิจัยและองค์กรให้ทุนเพื่อการวิจัยมีความสนใจจะให้ทุนงานวิจัยที่กล่าวถึง SDGs มากขึ้น นักวิจัยสามารถใช้ SDG Impact Assessment Tool เพื่อประเมินว่าข้อเสนองานวิจัยเกี่ยวข้องกับ SDGs อย่างไร และมีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร
ตัวอย่าง ข้อเสนองานวิจัย Predicting biological effects to enable minimizing and addressing the impacts of ocean acidification (SDG 14.3) ซึ่งได้รับทุนจากสภาการวิจัยของสวีเดนชื่อ Formas เสนอการแก้ปัญหา SDG เพียงหนึ่งเป้าหมาย แต้ได้ใช้ SDG Impact Assessment Tool แสดงให้เห็นผลกระทบของงานวิจัยที่เป็นไปได้ต่อ SDGs ทุกเป้าหมาย
3. ในภาคนวัตกรรมและธุรกิจ
การเปลี่ยนจากรูปแบบการทำงานแบบที่เป็นมา (business-as-usual) ไปสู่ความยั่งยืน จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ SDG Impact Assessment Tool นำเสนอวิธีการประเมินผลกระทบต่อ SDG และช่วยกำหนดข้อโต้แย้งเชิงกลยุทธ์และแผนสำหรับธุรกิจในอนาคต
ตัวอย่าง Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ประจำยุโรปเหนือได้ใช้เครื่องมือนี้ประเมินผลกระทบต่อ SDGs จากบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากใน Solutions Initiative Forums บริษัทที่เข้าร่วมการประเมินได้รับการคัดเลือกโดยพิจารณาจากผลงานของธุรกิจในการปรับปรุงคุณภาพของมหาสมุทร (2017), การบูรณาการ (2018) และ คุณภาพอากาศ (2019)
4. ในการวางแผนเชิงกลยุทธ์และการตัดสินใจ
แนวทางของ SDG Impact Assessment Tool จะช่วยชี้แนะแนวทางให้องค์กรต่างๆ ในการจัดแผนกลยุทธ์และการตัดสินใจให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับ SDGs เครื่องมือนี้จะช่วยระบุมุมมองด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องในช่วงแรกของการวางแผนเชิงกลยุทธ์ขององค์กรหรือเพื่อประเมินผลกระทบของ SDGs จากแผนกลยุทธ์ที่มีอยู่
ตัวอย่าง Chalmers University of Technology ในสวีเดนได้ลงนามใน Climate Framework for Higher Education Institutions ซึ่งเป็นความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในสวีเดนเพื่อสนับสนุนข้อตกลงปารีส กรอบการทำงานนี้ประกอบด้วย 13 ประเด็นสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Chalmers University of Technology ใช้ SDG Impact Assessment Tool เพื่อประเมินผลกระทบต่อ SDGs เป้าหมายอื่นๆ จากประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องดังกล่าว
การประเมินกิจกรรม งานวิจัย การดำเนินงานขององค์กร นวัตกรรม หรือรูปแบบธุรกิจ ว่ามีผลกระทบต่อ SDGs อย่างไร ช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้เข้าใจถึงความซับซ้อนของการพัฒนาที่ยั่งยืนในแง่มุมต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นการเปิดพื้นที่เพื่อเรียนรู้ SDGs โดยละเอียด และเข้าใจโอกาสและอุปสรรคในการนำ SDGs ไปใช้ในการดำเนินงานจริง
เข้าถึง SDG Impact Assessment Tool – GUIDE 1.0
Last Updated on พฤษภาคม 27, 2021