Literacy and Numeracy หรือ ‘ทักษะการอ่านออกเขียนได้ คำนวณได้หรือมีพื้นฐานในการคำนวณ’ ตามความหมายของ SDGs นั้นเป็นการมองจากมุม ‘การเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต’ (lifelong learning) ที่ทุกคนจำเป็นต้องพัฒนา ‘อย่างต่อเนื่อง’ (ไม่ใช่กิจกรรมที่จะมีเวลาระบุว่าต้องทำเสร็จเมื่อใด) ให้มีความรู้ ทักษะ และความสามารถที่หลากหลาย ต่อยอดทักษะและความสามารถต่อ ๆ ไปในหลายมิติของสาขาความรู้และความรู้ที่ปรากฏอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ (life-wide process) ซึ่งทักษะการอ่านออกเขียนได้และการมีพื้นฐานการคำนวณ ยังหมายรวมไปถึงอาณาเขตของความสามารถทาง ‘ดิจิทัล’ ด้วย (UNESCO)
โดยหากดูความหมายตรงตามตัวแล้ว ทักษะการอ่านออกเขียนได้ (Literacy) หมายถึง ชุดความรู้และทักษะ รวมถึงความสามารถ (competency) ที่จะนำความรู้ ทักษะ ทัศนคติ ค่านิยมเหล่านั้นไปใช้งานได้ ผ่านการอ่าน การเขียน และการใช้ตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นการใช้มือเขียน การพิมพ์ หรือข้อความทางดิจิทัล และเป็นทักษะการอ่านออกเขียนได้ในบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ส่วนแยกย่อยลงมาภายใต้ทักษะการอ่านออกเขียนได้ กับคำว่าทักษะการคำนวณได้หรือมีพื้นฐานในการคำนวณ (Numeracy) ขั้นพื้นฐานหมายถึงความสามารถที่จะบวก ลบ คูณ หาร ส่วนในความหมายที่กว้างออกไปนั้นครอบคลุมถึง ความรู้และทักษะที่จะแยกประเภท-เรียงลำดับ นับ ประเมิน คำนวณ วัดค่า ใช้โมเดล ในการจัดการกับโจทย์ด้านคณิตศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข หรือเป็นรูปภาพ สัญลักษณ์ สูตร (formulas) ไดอะแกรม แผนที่ กราฟ ตาราง และข้อความ เป็นต้น
ดังนั้น เป้าหมายของนโยบายจึงต้องเป็น ‘การพัฒนา/ปรับปรุงระดับการอ่านออกเขียนได้-คำนวณได้’ ระหว่างและหลังจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งภายในและนอกโรงเรียน ทั้งการศึกษาที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ (เกี่ยวข้องกับเป้าประสงค์ที่ 4.3 ว่าด้วยเรื่องวิชาเทคนิค อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และมหาวิทยาลัย และ 4.4 ว่าด้วยเรื่องทักษะเทคนิคและอาชีพ) ตลอดช่วงชีวิตของคน ๆ หนึ่ง รวมถึงการสนับสนุนให้มี ‘สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาความรู้และความสามารถ’ (literate environment) อยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน รวมถึงการสนับสนุน ‘ทักษะชีวิต’ ควบคู่กันไป อาทิ ความเป็นอยู่ที่ดีในชุมชน สุขภาพ สิทธิมนุษยชน ความเป็นพลเมือง ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น เพื่อให้ทักษะและความสามารถ ‘literacy’ ที่สั่งสมมานั้นคงอยู่ ยั่งยืน ไม่สลายหายไป ในทางหนึ่ง ทักษะการอ่านออกเขียนได้จึงเป็นส่วนหนึ่งของ ‘การปฏิรูปสังคม’ (part of a set of holistic, sector-wide and cross-sectoral reforms) เพราะมันได้นำไปสู่องค์ความรู้เฉพาะด้านและข้ามสาขา อาทิ องค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม แรงงาน ความมั่นคงทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ขยายความมากไปกว่าทักษะการอ่านออกเขียนได้ในมุมของภาคการศึกษาเท่านั้น
โดยแม้ว่าการพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ คำนวณได้จะเป็นการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต ไม่มีคำว่าเร็วไปหรือช้าไปที่จะเรียนรู้ ดังที่อธิบายมาข้างต้น อย่างไรก็ดี ในการประเมินความก้าวหน้าซึ่งต้องใช้ตัวชี้วัดนั้น ตาม SDGs เป้าหมายที่ 4 เป้าประสงค์ที่ 4.6 ซึ่งมีคำนี้ปรากฏอยู่ จะเน้นการให้ความสำคัญในกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็น ‘ผู้ใหญ่’ คือวัยรุ่น 15 – 24 และกลุ่มผู้ใหญ่ที่มากกว่า 15 ปีขึ้นไป โดยเงื่อนไขคือบุคคลเหล่านี้ต้องสามารถ (a) อ่านออกเขียนได้และ (b) มีทักษะในการคำนวณได้ในระดับความเชี่ยวชาญขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ (fixed level of proficiency) ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการวัดความรู้พื้นฐาน อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานร่วมกันของประชาคมโลก ทำให้การวัดระดับความเชี่ยวชาญใช้ข้อมูลที่มีอยู่ตามบริบทของแต่ละประเทศ ผลของการวัดทักษะการอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้จึงมีลักษณะเป็น ‘โดยเปรียบเทียบ’ ข้อจำกัดจึงเป็นเรื่องความเถรตรงของข้อมูลที่จะชี้ว่าบุคคลนั้นมีทักษะ-ความรู้ และความสามารถที่จะใช้ทักษะ-ความรู้นั้นจริงหรือไม่
ถึงกระนั้น การมีทักษะการอ่านออกเขียนได้ คำนวณได้ ก็ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดอยู่ดี เพราะหมายถึงการขับเคลื่อนไปสู่การที่ครอบครัว ชุมชน และสังคม กอปรไปด้วยบุคคลที่มีทักษะ ความรู้ และความสามารถ เป็น ‘นักเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ที่มีความมั่นใจและมีประสิทธิภาพนั่นเอง
‘#SDG4 เป้าประสงค์ที่ 4.6 – สร้างหลักประกันว่าเยาวชนทุกคนและผู้ใหญ่ ทั้งชายและหญิง สามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้ ภายในปี 2573’
Target 4.6: By 2030, ensure that all youth and a substantial proportion of adults, both men and women, achieve literacy and numeracy.
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 4 (2560)
Literacy and numeracy from a lifelong learning perspective (UNESCO Institute for Lifelong Learning)
Learning Portal (UNESCO)
Unstat Metadata 4.6