สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เผยแพร่การศึกษา ‘How to Build Trust in Vaccines: Understanding the drivers of vaccine confidence’ สำรวจบทสนทนาของผู้คนในโลกออนไลน์ (ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เฟสบุ๊ค ฟอรัม บล็อค) 66 ล้านข้อความทั้งด้านบวกและด้านลบ เกี่ยวกับประเด็นวัคซีนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาจนถึงเมษายน 2564 เพื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจากโครงการ Vaccine Confidence Project ภายใต้ London School of Hygiene and Tropical Medicine และเผยแพร่ข้อมูลเชิงลึกพร้อมคำแนะนำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปรับปรุง ‘วิธีการสื่อสารข้อมูล’ ได้ดีขึ้นในยุคข้อมูลข่าวสาร ที่ ‘ข้อมูล-ข้อเท็จจริง’ มีความสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีน และ 5 ข้อที่จะเรียกความเชื่อมั่น มีดังนี้
> 1. Protection first: ชี้แจงและพูดคุยกันเรื่องประสิทธิภาพในการ ‘ป้องกัน’ ของวัคซีน
> 2. Moral backlash: หลีกเลี่ยงการตราหน้าหรืออ้างว่าการฉีดวัคซีนเป็นเหตุผลทางศีลธรรม
> 3. Trusted messengers: ใช้วิธีการสื่อสารที่เข้าใจง่าย เน้นย้ำคำขอบคุณ นำเสนอตัวอย่างที่เป็นเรื่องราวของคนทั่วไปที่ให้ความรู้สึกใกล้ตัว-เข้าถึงได้ มากกว่าการยกตัวอย่างนักการเมืองหรือผู้มีชื่อเสียง/นักแสดง
> 4. Safety and Systems: พยายามทำความเข้าใจว่าทำไมคนถึงมีความเชื่อมั่นต่ำ และเอาใจเขามาใส่ใจเราถึงความกังวลต่าง ๆ ที่มี โดย ‘ไม่ตัดสิน’ ซึ่งโดยมากแล้วเป็นเรื่องของความไม่มั่นใจต่อระบบสาธารณสุข/การบริหารจัดการภาครัฐ กับ ความปลอดภัยของวัคซีน
> 5. Is it safe? Does it work?: โฟกัสที่ประโยชน์ที่ชัดเจนที่สุดของการรับวัคซีน ได้แก่ การป้องกันชุมชนไม่ให้ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล รวมถึงความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
อย่างไรก็ดี ในเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นนั้นยังมีความซับซ้อน มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ
- ความเชื่อมั่น – ในตัวบุคคล สถาบัน และระบบทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการจ่ายแจกวัคซีน วัคซีนเป็นเพียงผลผลิตของทั้งกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และบริษัทยา รัฐบาล และระบบสาธารณสุขเท่านั้น หากขาดความเชื่อมั่นไปในส่วนใดส่วนหนึ่งย่อมกระทบกับความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นยังเป็นปัจจัยหลักของข้อที่ 3 และข้อที่ 4 ด้วย
- การตราหน้า (labels)– ในประเด็นวัคซีน จะมีทั้งคนที่สนับสนุนกับคนที่ต่อต้านการฉีดวัคซีนทุกประเภท/ทุกโรค (anti-vax) ซึ่งในการศึกษานี้ตั้งใจเลี่ยงการใช้คำที่แบ่งเช่นนั้น และพยายามทำความเข้าใจว่าเป็นเรื่องของ ‘ระดับความเชื่อมั่น’ และ ‘ความรู้สึก’ ที่แต่ละคนมีต่อวัคซีนแต่ละประเภท แม้แต่คนที่ฉีดวัคซีนเป็นประจำจนเกือบจะสามารถขจัดความเสี่ยงต่อโรคติดต่อได้แล้วก็มีระดับความเชื่อมั่นที่ต่างกันไป
- ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy)– หากผู้ปกครองตัดสินใจไม่ให้บุตรฉีดวัคซีนก็เป็นเพราะไตร่ตรองมาดีแล้วว่านั่นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แรงกระตุ้นของการตัดสินใจนั้นแตกต่างกันไป การที่คนหนึ่งตัดสินใจฉีดวัคซีนแต่อีกคนหนึ่งนั้นตัดสินใจไม่ฉีดเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างต้องทำความเข้าใจกันถึงแรงขับ (motives) ความกังวล ความกลัว และความรู้สึกต่าง ๆ ของแต่ละฝ่าย ดังนั้น การพูดคุยกันเรื่องวัคซีนจะต้องหลีกเลี่ยงการตัดสินว่าอะไรผิดหรือถูก เพราะวัคซีนไม่ใช่เรื่องทางศีลธรรม
- ความเสี่ยง/ประโยชน์ – คนแต่ละคนมีวิธีการคำนวณหรือพิจารณาความเสี่ยงและผลที่จะได้รับแตกต่างกันไป คนหนึ่งอาจมองว่ามีผลข้างเคียงน้อย แต่ผลข้างเคียงนั้นอาจร้ายแรงมากกว่าตัวโรคที่ต้องการจะป้องกันสำหรับอีกคนหนึ่ง เป็นต้น
Dr. Julie Louise Gerberding รองผู้บริหาร Merck & Co., Inc และผู้บริหารฝ่ายคนไข้ การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ นโยบายสาธารณะ และสุขภาพของประชากร ได้พูดถึงประเด็นความเชื่อมั่นสอดคล้องกับการศึกษาข้างต้นไว้เช่นกันว่า ในห้วงเวลาสำคัญของโลกกับการฉีดวัคซีนเช่นนี้ ปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จคือ ‘การสร้างความเชื่อมั่น’ ไม่ใช่เฉพาะต่อประสิทธิภาพของตัววัคซีนเอง แต่รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อตัวระบบ การผลิต การจ่ายแจก ฯลฯ โดยจะต้องรับฟังเสียงของผู้คนและรับประกันความปลอดภัย ต้องมีความโปร่งใสในเรื่องของข้อมูลที่รู้และไม่รู้ รวมถึงว่าให้ความสำคัญกับผู้สื่อสารด้วย
เข้าถึงรายงานการศึกษาได้ที่ : ‘How to Build Trust in Vaccines: Understanding the drivers of vaccine confidence’
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของโรคติดต่อ ภายในปี 2573
– (3.8) มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการเข้าถึงเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ และถ้วนหน้า เพื่อปกป้องสุขภาพสาธารณะ
#SDG16 สังคมที่สงบสุขและครอบคลุม ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม สถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดรับชอบ
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
แหล่งที่มา:
https://www.weforum.org/agenda/2021/05/build-trust-vaccines-protect-public-health/
https://www.weforum.org/agenda/2021/05/5-ways-to-build-trust-in-vaccines/
#Transparency #PublicGood #BuildingandSustainingTrust