Dr. Emma Lawrance นักวิจัยจาก Imperial College London ผู้เขียนหลักของรายงาน The impact of climate change on mental health and emotional wellbeing: current evidence and implications for policy and practice กล่าวว่า “ปัญหาด้านสุขภาพจิตเป็นผลกระทบที่มองไม่เห็นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในขณะนี้ และเป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น เป็นไปได้มากว่านี่จะเป็นต้นทุนมหาศาลที่ไม่ได้ถูกนับรวมเมื่อพูดถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
ในรายงานที่ตีพิมพ์เมื่อพฤษภาคม 2021 กล่าวถึง สถานการณ์ปัจจุบันของปัญหาสุขภาพจิตที่มีสาเหตุจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผลกระทบในทางตรงที่เกิดขึ้น ได้แก่ อัตราการฆ่าตัวตายที่เชื่อมโยงกับคลื่นความร้อนสูงขึ้น ผู้รอดชีวิตจากสภาพอากาศที่รุนแรง เช่น น้ำท่วมและไฟป่ามีความบอบช้ำทางจิตใจ การสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร ที่พักอาศัย และวิถีชีวิตแบบเดิมส่งผลให้เกิดความเครียดและโรคซึมเศร้า และนำมาซึ่งการฆ่าตัวตาย
หรือในกรณีที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ สถานการณ์ที่เด็กและวัยรุ่นมีความวิตกกังวลถึงอนาคตที่ไม่แน่นอนเพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่า (eco-anxiety) เพิ่มมากขึ้นเพราะพวกเขามองไม่เห็นว่ามีความพยายามเพื่อการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์โรคระบาด แต่ก็มีรายงานว่าคนหนุ่มสาวในสหราชอาณาจักรมีความเครียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าโควิด-19 อย่างมีนัยยะสำคัญ
นักวิจัยกล่าวว่า ภาวะที่โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ จะทำให้สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตแย่ลงเป็นวงจรอุบาทว์ กล่าวคือ เมื่อความรุนแรงจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตคนกลุ่มหนึ่ง ก็จะทำให้คนกลุ่มนั้นมีความเปราะบางมากขึ้นและเมื่อเจอผลกระทบอีกครั้งในอนาคตก็จะเกิดความเสียหายที่รุนแรงมากขึ้น
การดำเนินการเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับปัจเจกบุคคล โดยชุมชน และโดยรัฐบาล ไม่เพียงแต่ลดผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ แต่ยังช่วยยกระดับสุขภาวะทางใจของประชากรด้วยการมอบชีวิตที่สามารถมีสุขภาพดีกว่าให้ มีความรู้สึกของความหวังและความสามารถในการควบคุมชีวิตตนเองได้
รายงานสรุปปิดท้ายว่า: “วิกฤติสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตจิตใจของผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ปัจจุบันผลกระทบเหล่านี้เป็น ‘ต้นทุนแฝง’ ที่ไม่ปรากฏในนโยบายและการวางแผนเพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก”
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพจิต เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย. . - SDG 1 ยุติความยากจน ในประเด็น สร้างภูมิต้านทานและลดการเปิดรับและความเปราะบางต่อเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ (1.5) - SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดและนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี (3.4) - SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ในประเด็น ลดความเสียหายจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง (11.5) - SDG 13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่มา: The Guardian
Last Updated on พฤษภาคม 28, 2021