Education for Sustainable Development (ESD) หรือ การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือการเรียนรู้เพื่อเสริมพลังผู้เรียนให้สามารถตัดสินใจอย่างมีข้อมูลและมีการกระทำที่มีความรับผิดชอบต่อความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ และความเป็นธรรมทางสังคม เพื่อมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม
การศึกษาเพื่อการพัฒนา เป็นการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต (life long learning) และเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาที่มีคุณภาพ (SDG 4) มีความเกี่ยวข้องกับผู้เรียนทุกคนอย่างแท้จริงเพื่อรับมือกับความท้าทายทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับโลกที่ต้องเผชิญในปัจจุบัน
การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นการศึกษาแแบบองค์รวม และเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะพูดถึงประเด็นด้านเนื้อหาและผลลัพธ์การเรียนรู้ วิธีการเรียนการสอน และสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์สูงสุดคือ การเปลี่ยนแปลงสังคม
เนื้อการศึกษา : มีเนื้อหาที่สำคัญที่ผนวกเข้าไปในหลักสูตร เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และประเด็นอื่นๆ ตามเป้าหมาย SDGs
วิธีการเรียนการสอน และสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ : การออกแบบการเรียนการสอนในรูปแบบที่มีการปฏิสัมพันธ์ เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งช่วยให้เกิดการเรียนรู้เชิงค้นคว้า การเรียนรู้ที่เน้นการลงมือทำ และการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม: เสริมพลังผู้เรียนทุกช่วงวัยที่ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบการศึกษาใด ให้สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคมที่ตนอยู่ได้
ผลลัพธ์การเรียนรู้ : กระตุ้นการเรียนรู้และส่งเสริมทักษะความสามารถ (competency) อันได้แก่ การคิดเชิงวิพากษ์และการคิดเชิงระบบ การตัดสินใจแบบมีส่วนร่วม และมีความรับผิดชอบต่อคนทั้งในรุ่นปัจจุบันและในอนาคต
เอกสาร Education for Sustainable Development Goals: Learning Objectives โดย UNESCO เสนอว่า 8 ความสามารถหลักเพื่อความยั่งยืน (Key competencies for sustainability) ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อรับมือความท้าทายที่ซับซ้อนในปัจจุบัน ซึ่งสามารถใช้ทำความเข้าใจเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้ทุกเป้าหมาย และยังสามารถช่วยให้มองเห็นความเชื่องโยงของแต่ละเป้าหมายด้วย โดย 8 ความสามารถหลัก มีดังต่อไปนี้
- ความสามารถในการคิดเชิงระบบ (Systems thinking competency)
- ความสามารถในการคาดการณ์ (Anticipatory competency)
- ความสามารถเชิงบรรทัดฐาน (Normative competency)
- ความสามารถเชิงกลยุทธ์ (Strategic competency)
- ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration competency)
- ความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking competency)
- ความสามารถในการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness competency) และ
- ความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ (Integrated problem-solving competency)
การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้รับการยอมรับว่าเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (key enabler for sustainable development) แนวคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ทั้งจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment and Development – UNCED) ปี 1992, การประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Summit on Sustainable Development – WSSD) ปี 2002, การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Conference on Sustainable Development – UNCSD) ปี 2012 และจากการประชุมคณะกรรมการที่สิง การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 74 ปี 2019 และยังได้รับการยอมรับในข้อตกลงระดับโลกที่สำคัญอื่นๆ เช่น ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ใน Article 12
UNESCO เป็นหน่วยงานหลักขององค์การสหประชาชาติด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการโดยรวม การประสานงาน และการขับเคลื่อนตามกรอบการดำเนินงานระดับโลกด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ ESD for 2030 Framework ศึกษาเนื้อหาและแนวทางการดำเนินงานสำหรับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ที่ UNESCO
คำว่า ‘การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ อยู่ใน ‘#SDG4 เป้าประสงค์ที่ 4.7 – สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้จากความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความนิยมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและในส่วนร่วมของวัฒนธรรมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573’
Target: 4.7 By 2030, ensure that all learners acquire the knowledge and skills needed to promote sustainable development, including, among others, through education for sustainable development and sustainable lifestyles, human rights, gender equality, promotion of a culture of peace and non-violence, global citizenship and appreciation of cultural diversity and of culture’s contribution to sustainable development.
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
UNESCO. (2017). Education for Sustainable Development Goals: Learning Objectives. Paris: UNESCO. http://unesdoc.unesco.org/images/0024/002474/247444e.pdf
UNESCO. (2018). Issues and trends in education for sustainable development.Paris: UNESCO. https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000261445
UNESCO Global Action Programme on Education for Sustainable Development. (2018). Education for sustainable development and the SDGs – learning to act, learning to achieve. UNESCO. https://en.unesco.org/sites/default/files/gap_pn1_-_esd_and_the_sdgs_policy_brief_6_page_version.pdf
Last Updated on มกราคม 3, 2022