นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Uppsala เผยแพร่การศึกษา 6 ปีที่ได้ติดตามวัยรุ่นที่เกิดและอาศัยในเมือง Västmanland ประเทศสวีเดน ระบุว่า ‘การกลั่นแกล้ง’ (Bullying) เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่ ‘อาการซึมเศร้า’ ในวัยรุ่นชายและหญิง (อายุเฉลี่ย 14 – 20 ปี) มากกว่าภาวะน้ำหนักเกินเสียอีก ขณะที่ถ้าแยกตามเพศ อาการซึมเศร้ากลายเป็นเรื่องปกติในหมู่วัยรุ่นหญิงมากกว่าเพื่อนวัยรุ่นชาย ส่วนวัยรุ่นชายนั้น ประเด็นสุขภาพจิตมักมาจากเรื่อง ‘โรคอ้วน’ มากกว่าวัยรุ่นหญิง
เป้าหมายของการศึกษานี้ เริ่มจากสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) กับอาการซึมเศร้า ควบคู่กับสำรวจดูว่าการกลั่นแกล้งมีผลต่อความสัมพันธ์นี้หรือไม่เมื่อเวลาผ่านไป และมีความแตกต่างในเพศชายและหญิงหรือไม่ โดยให้วัยรุ่น 1,729 คน (วัยรุ่นหญิง 962 คนและวัยรุ่นชาย 767 คน) ตอบแบบสำรวจด้านส่วนสูง น้ำหนัก อาการซึมเศร้า ไปจนถึงความเป็นอยู่ด้านอื่น ๆ อาทิ การนอนหลับ พฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ การเล่นเกม ความรู้สึก/เป็นอยู่ในโรงเรียน ในช่วง 3 ปี ในปี 2555, 2558 และ 2561 ซึ่งอายุเฉลี่ยเมื่อตอบแบบสำรวจครั้งแรกคือที่ 14.4 ปี และเมื่อตอบแบบสำรวจครั้งสุดท้ายที่ 19.9 ปี
ถ้าดูเฉพาะค่า BMI จะสามารถแบ่งกลุ่มวัยรุ่นทุกเพศได้เป็น 3 กลุ่ม คือ น้ำหนักปกติ น้ำหนักเกิน และโรคอ้วน
ขณะที่ในภาพรวมโดยไม่แบ่งกลุ่มตามน้ำหนักนั้น ผลระบุว่าวัยรุ่นหญิงมีอาการซึมเศร้าบ่อยครั้งกว่า ในปี 2555 (วัยรุ่นหญิง 17% และวัยรุ่นชาย 6%) ในปี 2558 (วัยรุ่นหญิง 32% และวัยรุ่นชาย 13%) และเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ในปี 2561 (วัยรุ่นหญิง 34% และวัยรุ่นชาย 19%)
อย่างไรก็ดี นักวิจัยระบุว่าหากนำค่า BMI เข้าไปพิจารณาร่วม แม้วัยรุ่นหญิงจะมีค่า BMI สูง แต่ก็ไม่ได้กระทบกับสุขภาพทางจิตในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ขณะที่ค่า BMI กลับมีผลต่อวัยรุ่นชาย อาทิ วัยรุ่นชายที่มีโรคอ้วนในปี 2555 มีความเสี่ยงที่จะมีอาการซึมเศร้าในปี 2558 ถึง 5 เท่า มากกว่าวัยรุ่นชายที่มีน้ำหนักปกติ ถึงกระนั้น ในการศึกษานี้อาจจะยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าทำไมถึงมีความต่างระหว่างเพศในประเด็นข้างต้น
ทั้งนี้ นอกจากค่า BMI แล้วยังมีให้ตอบคำถามเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งด้วย อาทิ เคยถูกกลั่นแกล้งทางกายหรือไม่ในช่วงปีก่อนหน้า เช่น ถูกเตะต่อย ถูกล้อถูกแซว ถูกกีดกันออกไป ถูกกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ (cyberbullying) ไม่ว่าจะเป็นด้วยข้อความหรืออื่น ๆ ทางอินเตอร์เน็ต รวมถึงการถูกกลั่นแกล้งโดยผู้หลักผู้ใหญ่ในโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งในทุกกรณีของการวิเคราะห์ (แบ่งกลุ่มตามค่า BMI และไม่แบ่งกลุ่มค่า BMI) ผลพบว่า ‘ประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้าเป็นอย่างมาก’ และยังมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์สนับสนุนความเกี่ยวข้องกันเช่นนี้ในอีก 6 ปีให้หลังในหมู่วัยรุ่นชายที่มีน้ำหนักเกิน ซึ่งเป็นจุดที่นักวิจัยคาดว่า ‘การกลั่นแกล้ง’ เป็นปัจจัยนอกเหนือไปจากค่า BMI ที่นำไปสู่อาการซึมเศร้าของวัยรุ่น
การศึกษานี้จึงยิ่งตอกย้ำว่าการกลั่นแกล้งส่งผลกระทบต่อความเจ็บป่วยทางใจได้ในระยะยาว และนั่นทำให้มาตรการป้องกัน/จัดการกับการกลั่นแกล้งในโรงเรียนมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ส่วนในระยะยาว ทางทีมผู้วิจัยตั้งใจที่จะเก็บข้อมูล ศึกษา พัฒนาเป็นองค์ความรู้ว่า ‘สภาพแวดล้อม’ และ ‘การสืบทอดส่งต่อกันมาเป็นความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบัน’ (inheritance) ได้กระทบกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้น ๆ อย่างไร
เข้าถึงการศึกษาที่ : https://link.springer.com/article/10.1007/s10389-020-01460-3
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี – โรคอ้วนซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อ และการกลั่นแกล้งที่กระทบกับสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี (3.4)
#SDG4 การศึกษา – สภาพแวดล้อมในโรงเรียน/สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่ปลอดภัยปราศจากความรุนแรง ครอบคลุม และมีประสิทธิผลสำหรับทุกคน (4.a)
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย – ในการศึกษานี้ หมายถึง เมืองและสภาพแวดล้อม/ความเป็นมา-เป็นไปของเมืองที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและใจของผู้อยู่อาศัย
แหล่งที่มา:
https://www.uu.se/en/news/article/?id=16898&typ=artikel&lang=en
Last Updated on พฤษภาคม 31, 2021