Site icon SDG Move

Director’s Note: 04 – ว่าด้วยการอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง SDGs และ SDG101+

สวัสดีวันจันทร์อีกครั้งครับ

หวังว่าทุกคนยังคงมีสุขภาพแข็งแรงดี

1) Weekly Update 24-28 พฤษภาคม 2564 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจเรียกได้ว่าเป็นสัปดาห์แห่งการอบรม ทีม SDG Move ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในการอบรมหลายที่ทีเดียวครับ ประกอบด้วย

โครงการ Government Data Catalog ที่เล่าให้ฟังตั้งแต่สัปดาห์ก่อน สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ยังมีการดำเนินการอีก 2 หน่วยงาน คือ กรมเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทย.) ซึ่งในฐานะผู้อำนวยการต้องขอบคุณหน่วยงานทั้งสองและทุกหน่วยงานที่ทำงานกับ SDG Move สำหรับความร่วมมืออย่างแข็งขันในการดำเนินโครงการนี้ครับ

2) ว่าด้วยที่มาที่ไปของ SDG101+

การอบรม SDG101+ (เอสดีจี 101 พลัส) เป็นการอบรมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขั้นพื้นฐาน บวกกับโจทย์ที่หน่วยงานที่ให้อบรมต้องการ ปกติการบรรยาย/อบรมของเราสามารถทำได้ตั้งแต่การให้ข้อมูล 20 นาที ไปจนถึงการอบรมเชิงปฏิบัติการ 3 วันได้เลยทีเดียวตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา เราน่าจะได้มีโอกาสไปให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ SDGs มามากกว่า 50 หน่วยงาน และหากประมาณการคร่าว ๆ น่าจะมีผู้คนที่ผ่านการอบรมจาก SDG Move มามากกว่า 3,000 คน จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม มหาวิทยาลัย เยาวชน และ ณ วันนี้ก็ยังมีหน่วยงานต่าง ๆ ติดต่อมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

แรกเริ่มเดิมที พวกเราไม่เคยคาดหวังว่าจะต้องมาออกแบบหลักสูตรการอบรมเหล่านี้เอง จริง ๆ แล้วพวกเราเฝ้ารอเฝ้าคอยจะเข้าร่วมการอบรมที่ทำให้พวกเรามีความรู้เรื่อง SDGs ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศ แต่พวกเรารออยู่นานและพยายามเข้าร่วมการอบรมหรือการบรรยายในหลายโอกาส แต่ก็ไม่เคยมีสักครั้งที่เรารู้สึกประทับใจหรือรู้สึกว่าได้เข้าใจสาระสำคัญของ SDGs 

เราเลยลองร่างแนวเนื้อหาที่เราอยากเห็นขึ้นมาเอง เรียกว่า SDG101 

SDG101 ประกอบด้วยเนื้อหาหลัก ๆ 4 ส่วน คือ

  1. การเข้าใจนิยามพื้นฐานและที่มาที่ไปของ SDGs
  2. เข้าใจโครงสร้างของ SDGs ทั้ง Goals, Targets, Indicators และที่เราเน้นมากคือ การเข้าใจว่า SDGs มีหลักการที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญอยู่ด้วย และสามารถมองได้หลายมุม เช่น มองผ่านมุม stakeholders หรือผ่านมุมเชิงพื้นที่ เป็นต้น
  3. รับรู้ถึงสถานการณ์ตามกรอบ SDGs
  4. ทราบถึงกลไกการขับเคลื่อน รวมถึงการวิพากษ์การขับเคลื่อนในปัจจุบัน

ซึ่งที่ผ่านมาคิดว่าเนื้อหานี้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการสื่อสารเรื่อง SDGs และทำให้คนเข้าใจเรื่อง SDGs ในแบบที่กว้างและลึกกว่าแค่ 17 เป้าหมายและตัวชี้วัดของมัน ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ เข้าใจว่ามันเป็น จนลืมสาระสำคัญและลืมเจตนารมย์ของ SDGs อีกทั้งยังใช้มันเป็นเครื่องมือในการฟอกขาวโครงการหรือนโยบายที่จริง ๆ แล้วขัดต่อเจตนารมย์ของ SDGs อีกด้วย

จากที่เป็นเพียง Power Point และการบรรยายทั่วไป ในเวลาต่อมาเราได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า SDG Card ขึ้น โดย การ์ดนี้มี 2 ส่วน ส่วนที่เป็น SDG Target จำนวน 169 Targets ก็คือมีการ์ดจำนวน 169 ใบ แล้วอีกส่วนหนึ่งเป็นการ์ดแผ่นป้าย ที่ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ประมาณ 30 ประเด็น ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเราใช้การ์ดในการสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้เข้าร่วม และชวนเขาคุยและมองเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่าง Target ต่าง ๆ ในหลายแง่มุม จริง ๆ แล้วเครื่องมือนี้เราคิดว่าน่าจะยังสามารถพลิกแพลงและประยุกต์ใช้ได้อีกหลายวิธีเลย

ต่อมาเราก็ขยับไปสู่ Platform Online มากขึ้น เช่นการใช้ Mentimeter มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอบรม เพื่อให้ทราบพื้นฐานความรู้ และภูมิหลังเบื้องต้นของผู้เข้าร่วมอบรม รวมไปถึงความคิดความเห็นและความสนใจ และมีการพัฒนา SDG Quiz เพื่อเอาไว้ใช้ในการเรียนการสอนย้ำเตือนอีกครั้งในช่วงท้ายของการอบรม

ส่วนที่เป็น “พลัส” คือ ส่วนที่หน่วยงานหรือผู้จัดต้องการให้เราเพิ่มเนื้อหาเข้าไป ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเรายินดีมากเพราะทำให้ได้ศึกษาประเด็นอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อเตรียมประเด็น บ้างก็เป็นการเพิ่มประเด็น บ้างเป็นการเพิ่มกระบวนการ เช่น ฝึกให้ผู้เข้าร่วมเชื่อมโยงประเด็น SDGs กับงานของตน บ้างก็อยากจะให้มีการคิดต่อเรื่องนโยบาย กิจกรรมหรือโครงการ บ้างก้าวหน้าไปถึงการพัฒนาตัวชี้วัดของงานของเขาแต่อยู่ภายใต้กรอบ SDGs

ที่น่าสนใจคือ การอบรมเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วงท้ายปีงบประมาณ และพวกเราก็จะวุ่นกับเรื่องการอบรมเป็นอันมาก

ถามว่าดีหรือไม่ ผมมีข้อสังเกตดังนี้ครับ

ประการแรก มันดีกับ SDG Move แน่นอน เพราะเราได้มีโอกาสทำตัวให้เป็นที่รู้จักกับหน่วยงาน ได้เผยแพร่ความรู้และสถานการณ์เกี่ยวกับ SDGs รวมถึงกระตุ้นให้คนในภาคส่วนต่าง ๆ มองเห็น SDGs ในมุมใหม่ ๆ และมาร่วมกันขับเคลื่อนความยั่งยืนในประเทศ

ประการที่สอง ช่วงเวลาที่หน่วยงานต้องการจัดอบรม มันทำให้เราเห็นลำดับความสำคัญของหน่วยงานโดยนัยเหมือนกัน การที่เขาเก็บประเด็น SDGs มาอบรมในช่วงท้ายเพื่อให้ใช้เงินให้หมดอาจเป็นภาพสะท้อนว่าหน่วยงานภาครัฐอาจไม่ได้จริงจังตั้งใจกับการขับเคลื่อน SDGs ขนาดนั้นหรือไม่ เพราะการเพิ่มศักยภาพซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญกับการขับเคลื่อนกลับถูกนำมาไว้ในช่วงท้ายของปีงบประมาณ

ประการที่สาม แม้ว่าการที่ SDG Move มีคนมาติดต่อให้ไปอบรมจะเป็นเรื่องดีกับองค์กร แต่ในภาพรวมอาจไม่ใช่สัญญาณที่ดีนัก การที่หน่วยงานต้องเสาะหาคนอบรมเรื่อง SDGs แล้วมาเจอแต่ SDG Move นี้ทำให้เห็นว่ากระทั่งในกลไกทางการของภาครัฐก็ยังไม่สนใจที่จะจัดให้มีกลไกการฝึกอบรมแบบเต็มรูปแบบที่อย่างน้อยจะทำให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับ SDGs และรู้ถึงบทบาทของตนในการขับเคลื่อน

การสื่อสารและให้ความรู้เรื่อง SDGs ไม่ใช่เรื่องง่าย การที่ไปบรรยายว่า SDGs สอดคล้องกับยุทธศาสตร์อย่างไร หรือหน่วยงานไหนรับผิดชอบ ไม่ได้ช่วยให้คนเข้าใจอะไรเกี่ยวกับ SDGs ไม่ได้เห็นถึงความสำคัญและเร่งด่วนของวาระการพัฒนา 2030 นอกจากนี้ การสื่อสารให้เหมาะกับช่วงวัยและบริบทท้องถิ่นยิ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งขึ้นไปอีกและหากทำได้จะทำให้การสื่อสารเรื่อง SDGs เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

แต่เรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ต้องมีทุนรอนมาใช้ในการดำเนินการ … ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสนใจ 

ทุกคนคิดถึงแต่จะต้องเพิ่มยอดการตีพิมพ์ ต้องเป็นที่หนึ่งด้านการวิจัย ต้องนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ แต่เรื่องเบสิคพื้นฐานซึ่งเป็นอิฐก้อนแรกสำหรับทุกสิ่งกลับละเลย มิใช่แค่เรื่อง SDGs แต่เป็นทุกเรื่อง 

หากนักวิชาการไม่ทำงานหรือไม่มีโอกาสทำงานกับสังคม ในเชิงของการสื่อสารองค์ความรู้พื้นฐานเพื่อให้เกิดความเข้าใจเบื้องต้นกับเรื่องต่าง ๆ ก็ยากเหลือเกินที่จะสังคมจะมีความรู้และสนใจที่จะใช้ความรู้ที่ก้าวหน้าที่เกิดจากการวิจัย เพราะเขายังไม่เข้าใจเรื่องพื้นฐานเลย และความไม่เข้าใจนี่เองที่ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายที่ควรจะเป็นไปตามหลักการนั้นยากเหลือเกิน

อย่างไรก็ดี ณ จุดนี้เราก็น้อมรับกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และจะทำให้เต็มที่มากขึ้นกับการสื่อสารเรื่อง SDGs และสร้างคนที่สามารถสื่อสารเรื่องเหล่านี้ให้เพิ่มขึ้น

Author

  • ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

Exit mobile version