ตามคำอธิบายของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ Child, Early and Forced Marriage (CEFM) หรือ ‘การบังคับเด็กแต่งงาน’ หรือจะแปลเป็นการแต่งงานในวัยเด็ก/วัยเยาว์/ก่อนวัยอันควร ทั้งหมดที่ว่าเป็น ‘การละเมิดสิทธิมนุษยชน’ ที่กระทบกับผู้หญิงและเด็กหญิงทั่วโลก ไม่ให้ได้มีชีวิตที่มีอิสรภาพ ไม่ให้ได้ตัดสินใจในหนทางชีวิตของตัวเอง เป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาและหน้าที่การงาน ทั้งยังทำให้พวกเธอเปราะบาง ตัดขาดจากโลกภายนอก รวมถึงสุ่มเสี่ยงต่อการถูกเลือกปฏิบัติและใช้ความรุนแรงโดยคู่ครอง จนไม่สามารถใช้ศักยภาพของตัวเองไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้
การบังคับเด็กแต่งงานยังนำมาซึ่ง ‘การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร’ ส่งผลต่ออัตราการเจ็บป่วยและการตายของมารดาที่สูงมากกว่าค่าเฉลี่ย และเพื่อหลีกหนีจากความโหดร้ายของการบังคับแต่งงาน ยังทำให้ในบางกรณี นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตาย
ขณะที่ ปัจจัยอย่างความยากจน มุมมองที่มองว่าการแต่งงานเป็นการปกป้องคุ้มครอง เป็นค่านิยมในสังคม เป็นประเพณี เป็นกฎทางศาสนา หรือเป็นเกียรติของวงศ์ตระกูล เป็นต้น ทำให้เด็กเสี่ยงต่อการแต่งงานก่อนวัยอันควร โดยเกิดขึ้นกับทั้งเด็กผู้หญิงและผู้ชาย แต่กรณีส่วนมากนั้นเกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงมากกว่า ในแง่นี้ จึงเป็นเรื่องของ ‘ความไม่เท่าเทียมทางเพศ’ ด้วย
ทีนี้ เราอาจจะแยกเป็นนิยามของ ‘การแต่งงานในวัยเด็ก’ (Child Marriage) กับ ‘การบังคับแต่งงาน’ (Forced Marriage) กล่าวคือ การแต่งงานในวัยเด็กหมายถึง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอายุ ‘ต่ำกว่า 18 ปี’ ขณะที่การบังคับ หมายถึงความไม่ได้ตัดสินใจอย่างมีอิสระและไม่ได้เต็มใจยินยอมที่จะผูกพัน โดยทั่วไป เมื่อเราใช้คำว่าการแต่งงานในวัยเด็ก นั่นหมายถึงเป็น ‘การบังคับ’ ไปแล้วในตัว
การบังคับเด็กแต่งงานเป็นประเด็นที่กล่าวถึงในหลาย ๆ อนุสัญญา/ข้อตกลงระหว่างประเทศ อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women) ที่ครอบคลุมการคุ้มครองเด็กจากการบังคับแต่งงาน ตลอดจนการย้ำถึงสิทธิในเสรีภาพและความเต็มใจยินยอม (ที่จะแต่งงาน) ซึ่งระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) จวบจนเกี่ยวพันกับสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ อาทิ สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการละเมิดในทุกรูปแบบและการปฏิบัติที่เป็นอันตราย รวมถึงมีปรากฏในอนุสัญญาว่าด้วยความยินยอมในการแต่งงานอายุขั้นต่ำสำหรับการแต่งงานและการจดทะเบียนสมรส (Convention on Consent to Marriage, Minimum Age for Marriage and Registration of Marriages) และข้อตกลงอื่น ๆ ตามรายภูมิภาค เป็นต้น แม้ว่าจะไม่ได้มีการระบุไว้โดยตรงในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ก็ตาม จะเห็นได้ว่าประชาคมโลกให้ความสำคัญและพยายามออกมาตรการเพื่อจัดการกับปัญหานี้ รวมทั้งได้ระบุเอาไว้ใน #SDG5 ด้วย
ปัจจุบัน 1 ใน 5 ของเด็กผู้หญิงทั่วโลก หรืออย่างน้อยเด็กผู้หญิง 12 ล้านคนที่อายุน้อยกว่า 18 ปีถูกบังคับแต่งงานในทุกปี กล่าวคือ ทุก ๆ 1 นาที จะมีเด็กผู้หญิง 28 คนที่ถูกบังคับให้แต่งงาน! ตัวเลขนี้ยิ่งเป็นทวีคูณในประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดที่มีเด็กผู้หญิง 40% ที่แต่งงานก่อนอายุ 18 และ 12% ที่แต่งงานก่อนอายุ 15
หากมองระดับภูมิภาค จำนวนการบังคับเด็กแต่งงานมีมากที่สุดในแถบแอฟริกาซับซาฮาราและเอเชียใต้ ที่ 35% และ 30% ตามลำดับ ตามมาด้วยอเมริกาใต้และแคริบเบียนที่ 24% ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่ 17% ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง 12% (UNICEF, 2020)
การบังคับเด็กแต่งงานยังเป็นการปฏิบัติที่มักเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศที่มีความขัดแย้งและที่อยู่ในสภาพที่ต้องอาศัยความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมด้วย (OHCHR)
อ่านต่อสถานการณ์บังคับเด็กแต่งงานกับโควิด-19 ที่ : ผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้เด็กหญิงกว่า 10 ล้านคนเสี่ยงกับการแต่งงานก่อนวัยอันควร
สำหรับประเด็นการบังคับเด็กแต่งงาน ปรากฏอยู่ใน ‘#SDG5 เป้าประสงค์ที่ 5.3 – ขจัดการปฏิบัติที่เป็นภัยทุกรูปแบบ อาทิ การบังคับเด็กแต่งงาน และการขลิบอวัยวะเพศหญิง’ โดยวัดสัดส่วนของผู้หญิงอายุ 20-24 ปีที่แต่งงาน (ทางการ – ใช้คำว่า marriage) หรืออยู่ด้วยกัน (ไม่เป็นทางการ – ใช้คำว่า union หรือ cohabitation) ก่อนอายุ 15 หรือก่อน 18 ปี และสามารถสำรวจ/ประเมิน/ตีความควบคู่ไปกับตัวชี้วัดของ SDGs ตัวอื่นที่เกี่ยวกับสุขภาวะของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ (#SDG3) การศึกษา (#SDG4) สถานภาพ-ความเป็นไปในสังคม ความเท่าเทียมทางเพศ (#SDG5) ตลอดจนการเผชิญกับความรุนแรง (#SDG16)
Target 5.3: Eliminate all harmful practices, such as child, early and forced marriage and female genital mutilation
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
Child Marriage (OHCHR)
Child Marriage (UNICEF)
Unstat Metadata 5.3.1
Last Updated on มกราคม 3, 2022