– 2021: Year of the Health and Care Workers: Protect. Invest. Together –
การประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 74 หรือ WHA74 (24 – 31 พ.ค. 2564) นำโดย ดร. Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจากทั่วโลกลงนามรับมติที่จะเพิ่ม ‘กำลังคนทางสาธารณสุข’ โดยเฉพาะ ‘พยาบาลและพยาบาลผดุงครรภ์’ ให้ได้อีก 6 ล้านคนภายในปี 2573 โดยตระหนักว่าพวกเขาเป็นกำลังสำคัญของโลกที่จะฝ่าวิกฤติสาธารณสุข ทว่าสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่ยังไม่ได้รับการดูแลดีพอ รัฐบาลจะต้องมีหลักประกันให้การสนับสนุนและคุ้มครอง พร้อมลงทุนเพิ่มทรัพยากรทางสาธารณสุข ฝึกอบรมทักษะ ให้มีค่าแรงที่เหมาะสม และมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย เพราะ ‘รัฐทุกรัฐจะต้องปกป้องและลงทุนกับบุคลากรทางสาธารณสุข’
WHO ประเมินว่า ณ ขณะนี้ มีจำนวนพยาบาลทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 27.9 ล้านคน แต่ยังขาดแคลนกำลังสำคัญอีก 5.9 ล้านคนซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากโดยเฉพาะในประเทศที่ยากจนและที่มีรายได้ปานกลาง ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังได้สะท้อนผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ขาดแคลนจำนวนพยาบาลมากขึ้น จนอาจเกิด ‘ภาวะสมองไหล’ (Brain Drain) หรือการเคลื่อนย้ายของพยาบาลจากประเทศกำลังพัฒนาไป ‘เติมเต็ม’ บุคลากรทางสาธารณสุขที่ขาดแคลนในประเทศพัฒนาแล้วที่ ‘ยื่นข้อเสนอ’ ดึงดูดคนไปทำงาน ไปจนถึงว่า ‘ภาวะหมดแรงและหมดไฟ’ (Burnouts) ที่จะรับมือกับโรคระบาดนั้น ทำให้จำนวนไม่น้อยอาจจะลาออกจากงานในปีนี้หรือเมื่อวิกฤติจบลง
สาเหตุเหล่านี้เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันถึงความขาดแคลนจำนวนพยาบาลในโลก โดยสภาพยาบาลระหว่างประเทศ (International Council of Nurses: ICN) ก็มองว่าโควิด-19 กระทบต่อกำลังและจำนวนพยาบาลอย่างรุนแรง คาดว่าจะมี ‘การอพยพขนานใหญ่’ (mass exodus) ระหว่างประเทศของบุคลากรทางสาธารณสุข ส่วนข้อมูลการสำรวจ The Global Nursing shortage and Nurse Retention ได้ระบุว่า จากเหตุที่พยาบาลต้องทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ มีภาวะเบิร์นเอาท์ (Burnouts) หรือหมดกำลังหมดไฟที่จะทำงาน และมีความเครียดที่จะต้องรับมือกับโรคระบาด ทำให้จะมีพยาบาลจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ ‘ตั้งใจ’ จะลาออกจากงานในตอนนี้หรือเมื่อวิกฤติจบลง และนั่นเป็นหนึ่งปัจจัยของสัญญาณการขาดแคลนแรงงานพยาบาล
อีกหนึ่งปัจจัยอย่างภาวะสมองไหล สะท้อนโดย Sheila Tlou ประธานร่วมโครงการ Nursing Now และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประเทศบอตสวานา (Botswana) ระบุว่าตามจริงแล้ว ภาวะสมองไหลเกิดขึ้นมาก่อนจะมีโควิด-19 เสียอีก ทว่าโรคระบาดจะทำให้มีภาวะสมองไหลครั้งใหญ่จากที่ประเทศร่ำรวยหลาย ๆ ประเทศยื่น ‘ข้อเสนอ’ ที่ดึงดูดให้คนมาทำงานในประเทศเหล่านั้น จุดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรทางสาธารณสุขใน ‘ยุคหลังโควิด-19’ ทำให้ประเทศที่ยากจนหรือมีรายได้ปานกลางจะต้องปรับตัวและตระหนักถึงความสำคัญของบุคลากรเหล่านี้
พยาบาลมีบทบาทที่หลากหลายและสำคัญมากในการให้บริการสาธารณสุข หากได้รับการอบรมฝึกฝนความเชี่ยวชาญมากพอ เขาก็จะสามารถให้บริการได้อย่างเยี่ยมยอดในคลินิกเฉพาะทางหรือบริการสาธารณสุขมูลฐาน… ฉันเชื่อว่านี่เป็น ‘การลงทุน’ ที่ดีที่สุด และในทุก ๆ แห่งหน เราควรที่จะคิดใหม่ทำใหม่เรื่องบุคลากรทางสาธารณสุขเสียที มันถึงเวลาที่จะต้องพิจารณาให้มากและลงมือเปลี่ยนแปลง
Sheila Tlou, โครงการ Nurse Now
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี – (3.4) สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี และ (3.c) เพิ่มการใช้งบประมาณด้านสุขภาพ การสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน การรักษา ‘กำลังคน’ ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
#SDG8 เศรษฐกิจและงาน – (8.2) เกี่ยวกับผลิตภาพแรงงาน (8.5) จ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ มีงานที่สมควรสำหรับหญิงและชายทุกคน และ (8.8) สิทธิแรงงาน และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย
#SDG10 ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ – (10.2) เกี่ยวกับการให้อำนาจ ส่งเสริมความครอบคลุมคนทุกกลุ่ม และ (10.6) เสียงของประเทศกำลังพัฒนาในองค์กรระหว่างประเทศ
แหล่งที่มา:
https://www.theguardian.com/global-development/2021/may/28/protect-and-invest-who-calls-for-6m-more-nurses-worldwide
ไทยเตรียมการเข้าร่วม WHA74 (เม.ย. 64) https://cic.anamai.moph.go.th/th/news-anamai/204242
Last Updated on มิถุนายน 1, 2021