งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Science Advances พบว่า ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมามีการซื้อขายสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายมากกว่า 420 ล้านตัว ใน 226 ประเทศทั่วโลก นักวิจัยระบุว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นตัวผลักดันให้เกิดการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ
จากการวิเคราะห์ข้อมูลการค้าสัตว์ป่าตั้งแต่ปี 1998 ถึง 2018 พบว่า รูปแบบการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศส่วนใหญ่ คือ การส่งออกจากประเทศที่มีรายได้น้อยไปยังประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง ตัวอย่างเช่น การค้ากบป่าระหว่างมาดากัสการ์และสหรัฐอเมริกา และการขนย้ายปลาหายากจากไทยไปยังฮ่องกง และในตลอดช่วงเวลาดังกล่าวเครือข่ายการค้าสัตว์ป่าก็ขยายตัวมากขึ้น
ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่ารายใหญ่ที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย จาเมกา และฮอนดูรัส ขณะที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุด โดยมีฝรั่งเศสและอิตาลีเป็นอันดับสองและสาม
Jia Huan Liew นักวิจัยหลักของการศึกษา จาก Hong Kong University ให้เหตุผลต่อรูปแบบการค้านี้ว่า เป็นเพราะในข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการห้ามการค้าสัตว์ป่าที่มีอยู่ในปัจจุบันขาดแรงจูงใจทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีศักยภาพมากพอ และมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีกองทุนที่มาจากเงินของประเทศที่มีรายได้สูงซึ่งเป็นประเทศนำเข้าสัตว์ผิดกฎหมายส่วนใหญ่ นำมาจ่ายให้แก่ประเทศที่มีรายได้ต่ำเพื่อเป็นแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่า ลดการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในห้วงเวลาที่กำหนด และหากประเทศใดบรรลุเป้าหมายก็จะได้รับจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า
การค้าสัตว์ป่าและพืชป่าระหว่างประเทศถือเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบัน โลกมีอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ควบคุมการค้าสัตว์ป่าที่สำคัญ คือ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกลจ้ะสูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) หรือ ไซเตส (CITES) ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2518 ปัจจุบันไซเตสมีภาคีทั้งสิ้น 183 ประเทศสมาชิก โดยไทยให้สัตยาบันเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 80 ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2526
อ่านเพิ่มเติม : งานวิจัยชี้ ไทยยังเป็นเส้นทาง “การค้าสัตว์ป่า” ของเอเชีย
การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นแรงผลักดัน เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย .. - SDG15 ระบบนิเวศบนบก ในประเด็น ยุติการล่าและขนย้ายพันธุ์พืชและสัตว์คุ้มครองอย่างผิดกฎหมาย (15.7) - SDG 10 ลดความเหลื่อมล้ำ
ที่มา: BBC