มาตรการล็อคดาวน์อย่างเข้มงวดของเมืองในแอฟริกาใต้เมื่อปีก่อนส่งผลอย่างยิ่งต่อประชาชน ที่ 1 ใน 5 อยู่กับความหิวโหย และ 7.2 ล้านคน (32.5%) กลายเป็นคนว่างงาน ซ้ำยังเผชิญกับปัญหาด้านการจัดการขยะ โดยเฉพาะในย่านผู้อยู่อาศัยที่มีฐานะที่ยากจน
Ilka Stein นักเคลื่อนไหวทางสังคมจึงได้ระดมสมองจากโลกออนไลน์และบรรดาผู้ประกอบการเพื่อสังคม หาหนทางที่จะช่วยบรรเทาความท้าทายข้างต้นลง จนเกิดเป็น ‘รถเมล์พุ่มพวง’ ในชื่อ Skhaftin ที่แปลว่า ‘กล่องอาหารกลางวัน’ จัดโซนบนรถเมล์คันเก่าให้มีที่สำหรับผักสด ถั่ว เครื่องเทศ-เครื่องปรุง ซีเรียล ฯลฯ วิ่งไปรอบเมืองโจฮันเนสเบิร์กตั้งแต่เมื่อมีนาคมที่ผ่านมานี้ หวังให้ ‘คนยากจน’ ในเมืองได้เข้าถึงอาหารที่สะอาด มีคุณภาพ และราคาถูก ไปจนถึงรณรงค์ให้นำภาชนะมาใส่อาหารเองเพื่อลดขยะ
โดยรถเมล์พุ่มพวงคันนี้จะวิ่งเป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ และมีการตั้งเป้าหมายของพื้นที่ในเมืองที่จะต้องวิ่งไปก่อนเป็นอันดับแรก ขณะที่ส่วนการบริหารท้องถิ่นได้ให้การสนับสนุนชาวเกษตรกรรายย่อยเป็นเครื่องมือเก็บความเย็น ไฟฟ้า น้ำ เมล็ดพันธุ์ อุปกรณ์การเกษตรอื่น ๆ และโครงการอบรมเพื่อช่วยจัดการปัญหาความหิวโหยควบคู๋ไปด้วย
ส่วนวิธีการใช้บริการก็คือ
- ให้นำภาชนะใส่อาหารมาเอง ไม่ว่าจะเป็นกล่องข้าว ขวดแก้ว ฯลฯ ที่สามารถปิดฝาได้
- เมื่อมาถึงที่รถเมล์พุ่มพวงแล้ว จะชั่งน้ำหนักภาชนะนั้นก่อน
- และเติมอาหารที่ต้องการไปในภาชนะนั้นในปริมาณที่ต้องการ
- ชั่งน้ำหนักอีกครั้ง และจ่ายเงินตามปริมาณที่ซื้อ – ซึ่งราคาอาหารถูกลงแน่นอน เพราะจ่ายราคาอาหารจริง ๆ ไม่ได้จ่ายค่าบรรจุภัณฑ์นั่นเอง
นอกจากจะช่วยบรรเทาความไม่มั่นคงทางอาหาร ยังช่วยลดภาระค่าอาหารหรือค่าเดินทางไปซื้ออาหารของครัวเรือนที่ยากจนเหล่านั้นด้วย
เข้าถึงรถเมล์พุ่มพวง Skhaftin ที่: https://www.skhaftin.org.za/
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ เกษตรกรรมที่ยั่งยืน – (2.1) หลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะที่ยากจนและเปราะบางเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการ และเพียงพอ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (12.5) ลดของเสีย การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่
แหล่งที่มา:
https://www.weforum.org/agenda/2021/05/south-africa-johannesburg-school-bus-groceries/
https://www.bbc.co.uk/programmes/p09g0m3q
Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021