งานวิจัยในวารสาร Safety Science ระบุว่า คนที่มีอาการ Shift Work Sleep Disorder (SWSD) หรือ ความผิดปกติด้านการนอนที่เกิดจากการมีเวลาทำงานที่ไม่ปกติ เช่น การทำงานเป็นกะเช้าหรือกะดึก จะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์มากกว่าถึง 3 เท่า
Praveen Edara ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมแห่ง University of Missouri ผู้วิจัยใช้ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางการจราจร 1892 ครั้งที่เกิดขึ้นในหกรัฐของสหรัฐอเมริกาเพื่อการวิเคราะห์ ระบุว่า “การค้นพบนี้มีนัยสำคัญหลายประการ รวมถึงความจำเป็นในการคิดมาตรการรับมือทางวิศวกรรมเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น
“มาตรการดังกล่าวอาจรวมถึง ความพร้อมใช้งานของพื้นที่พักผ่อนบนทางหลวง การแสดงข้อความจากริมถนนและการแสดงข้อความในรถเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้ขับขี่ให้มีสติและตื่นตัว และวิธีการส่งเสริมให้ผู้ขับขี่ที่อาจมีกะทำงานช่วงดึกใช้รูปแบบการเดินทางอื่นๆ เช่น การขนส่งสาธารณะหรือการเดินทางร่วมกับผู้อื่น (ride-sharing)”
ความต้องการในการเปิดดำเนินการธุรกิจทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมงเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทำให้คนทำงานหลายคนต้องเปลี่ยนแปลงวันทำงานแบบเดิมที่เคยกำหนดไว้คือ 9.00 น. ถึง 17.00 น. ไปทำงานเป็นกะในช่วงกลางคืนซึ่งทำให้ร่างกายกับนาฬิกาชีวิตไม่สัมพันธ์กัน ทำให้ต้องเผชิญภาวะนอนหลับยาก และนำไปสู่อาการ Shift Work Sleep Disorder (SWSD) ในที่สุด
ผู้ขับขี่ที่มีความผิดปกติ SWSD จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้นเกือบ 300% ในขณะที่ผู้ขับขี่ที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับหรือมีภาวะนอนไม่หลับ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขึ้นเพียงแค่ประมาณ 30% เท่านั้น
ผู้วิจัยกล่าวว่า เขาหวังว่าผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงสูงสำหรับการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจากภาวะง่วงนอนในช่วงกลางวัน (daytime sleepiness) นี้จะช่วยดึงความสนใจให้ผู้เกี่ยวข้องหามาตรการรักษาความปลอดภัยผู้ขับขี่ รวมถึงเพิ่มตัวเลือกการเดินทางที่ไม่ต้องขับรถเอง เช่น การใช้บริการรถโดยสาร หรือ ยานพาหนะไร้คนขับให้มากขึ้น เพื่อป้องการการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียต่อทั้งผู้ขับขี่และผู้ใช้ท้องถนนร่วมกัน
อุบัติเหตุบนท้องถนนที่มาสาเหตุมาจากสภาพการทำงานที่ไม่ปกติ เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย .. - SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น การตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน (3.6) - SDG8 งานที่ดีและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในประเด็น ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกกลุ่ม (8.8)
ที่มา: Futurity