Site icon SDG Move

SDG Updates | พรุ่งนี้เรายังจะมี ‘ที่อยู่’ ไหม? เมื่อราคาที่อยู่อาศัยไม่สัมพันธ์กับรายได้ และจำนวนไม่น้อย ‘เช่า’ เขาอยู่

– Human Right to Adequate & Affordable Housing –

ราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้นมากในหลายประเทศทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 และเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ของครัวเรือน ผู้คนต้องใช้เงินจำนวนมากจากรายได้ของตัวเองไปกับเฉพาะค่าที่พักอาศัย คงเป็นเรื่องยากที่คนหนุ่มสาวจะสามารถจับจองเป็นเจ้าของบ้านหรืออพาร์ทเม้นท์ได้เช่นคนรุ่นพ่อแม่ในตอนที่มีอายุใกล้เคียงกัน และสถานการณ์ที่ว่านี้ยิ่งลำบากขึ้นในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

ขณะที่ภายในปี 2573 ประชากรโลกประมาณ 40% หรือ 3 พันล้านคนจะต้องการ ‘ที่อยู่อาศัย’ คิดเป็นความต้องการ ‘ที่อยู่อาศัยที่มีราคาหาซื้อได้’ 96,000 แห่งในแต่ละวัน! ทั้งจะต้องป้องกันไม่ให้ประชากรกลายเป็น ‘คนไร้บ้าน’ ซึ่งกำลังมีจำนวนมากขึ้นในปัจจุบันด้วย

SDG Updates วันนี้ จึงหยิบยกภาพรวม ‘ความสามารถในการซื้อหา – เป็นเจ้าของ – เช่าที่อยู่อาศัย’ (Housing Affordability) ในยุโรป เอเชีย และอเมริกามาเล่าสู่กันฟัง ในยุคที่ ‘คนเช่าบ้าน’ และครัวเรือนที่ยากจนมีภาระค่าใช้จ่ายด้านที่พักอาศัยที่หนักอึ้ง

และเพราะ ‘สิทธิในที่อยู่อาศัย’ เป็นสิทธิมนุษยชน จุดสำคัญอย่างใจกลางของ ‘การพัฒนาความเป็นเมือง’ จึงต้องมีความครอบคลุมให้มีที่อยู่อาศัย ‘เพียงพอ’ สำหรับทุกคน สร้างหลักประกันของการมี ‘บ้าน’ ที่ปลอดภัย อยู่อาศัยได้ ยั่งยืน และ ‘มีราคาที่เข้าถึงได้’ (affordability) ซึ่งจะเป็นประตูนำไปสู่สิทธิในการเข้าถึงงาน การศึกษา สุขภาพ และความมั่นคงในชีวิตต่อไป (Right to Work, Education, Health, and Security)


01 ที่อยู่อาศัยแบบไหนที่เรียกว่า ‘Affordable’?

โดยทั่วไป นิยาม ‘ความสามารถในการซื้อหา ­- เป็นเจ้าของ – เช่าที่อยู่อาศัย’ (Housing Affordability) ของธนาคารโลก สหประชาชาติ และองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจเเละการพัฒนา (Organization for International Cooperation and Development: OECD) นอกจากจะดูราคาของที่อยู่อาศัย ซึ่งขึ้นอยู่กับทำเลและระยะทางจากที่พัก-ที่ทำงานแล้ว ยังขึ้นอยู่กับ ‘รายได้’ ของครัวเรือน ที่จะสามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้โดยไม่ขัดสน มีเงินเพียงพอจะใช้จ่ายกับการซ่อมบำรุงที่พัก ไปจนถึงมีเงินเหลือพอสำหรับเดินทางไปทำงานและรับบริการสาธารณะได้

ซึ่งความสามารถในการซื้อหาจะต่างกันไปในแต่ละเมือง เพราะแน่นอนว่ารายได้ ค่ากินอยู่หรือ ‘ค่าครองชีพ’ และราคาที่อยู่อาศัยย่อมแตกต่างกันระหว่างเมืองหรือต่างกันตามระยะเวลา แต่รูปแบบที่คล้ายคลึงคือ ราคาที่อยู่อาศัยมักสูงกว่ารายได้ ด้วยเหตุที่ (ในภาพรวม) ประชากรมีเพิ่มมากขึ้นแต่จำนวนที่อยู่อาศัยมีไม่เพียงพอจะครอบคลุมทุกคน บางแห่งขาดแคลนที่ดิน บางแห่งทำเลมีราคาแพง สภาพของตลาดการเงิน และรายได้ที่สัมพันธ์กับตลาดที่อยู่อาศัย (Housing Market) ซึ่งเกี่ยวข้องกับระยะทางและระยะเวลาการเดินทางไปทำงานในพื้นที่ตัวเมือง เป็นต้น โดยหากตลาดที่อยู่อาศัยมีกลไกการทำงานที่ดี (well-functioning market) ครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางก็ยังจะพอหาซื้อที่อยู่ที่มีราคากลาง ๆ ได้

ในหลายประเทศ ราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้นมากถึง 3 เท่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ของครัวเรือน ผู้คนต้องใช้เงินจำนวนมากจากรายได้ของตัวเองไปกับเฉพาะค่าที่พักอาศัย ทำให้บรรดาประเทศภายใต้ OECD (ยังไม่รวมโคลอมเบียซึ่งเข้าเป็นสมาชิกปี 2020) มีความสามารถในการซื้อหาน้อยลง ครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวทั้งหลายต้องเผชิญกับค่าที่พักอาศัยที่สูงลิ่วจนไม่อาจจับจองซื้อเป็นเจ้าของได้เช่นคนรุ่นพ่อแม่ในตอนที่มีอายุใกล้เคียงกัน แสดงถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นสวนทางกับมาตรฐานของความเป็นอยู่

ตาม #SDG11 เป้าประสงค์ที่ 11.1 ที่อยู่อาศัยจะ ‘affordable’ ก็ต่อเมื่อใช้เงินน้อยกว่า 30% ของรายได้ไปกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พักอาศัย อาทิ การชำระหนี้จำนอง (กรณีซื้อ) การจ่ายค่าเช่าที่พัก (กรณีเช่า) รวมถึงจำพวกภาษี ประกัน และเงินค่าบริการต่าง ๆ (UN-Habitat)

นอกจากนี้ การศึกษาล่าสุดของ IMF ระบุว่า ปัจจัยเบื้องหลังของปัญหาความสามารถในการเช่าที่อยู่อาศัยที่มีมากขึ้น ไม่สามารถจัดการได้ด้วยการเร่งให้เศรษฐกิจเติบโตเพียงอย่างเดียว เพราะไม่อาจช่วยให้ทุกคนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจนสามารถชดเชยกับค่าที่พักอาศัยที่สูงเช่นนั้น แต่จะต้องสำรวจภาพรวมอย่างการขยายตัวของเมือง ประเด็น ‘เชิงโครงสร้าง’ ในเรื่องการจ้างงานบุคคลที่มีทักษะสูง ที่ทำให้คนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถปรับตัวหรือเข้าถึงโอกาสของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้

ชวนดู Series ของ BuzzFeed Apartment Around the World สำรวจว่าชีวิตกับการเช่าที่พักในแต่ละเมืองเป็นอย่างไร

02 ภาระที่พักอาศัยที่หนักอึ้งของ ‘คนเช่าบ้าน’ และครัวเรือนที่ยากจน

‘ความสามารถในการซื้อหา-เป็นเจ้าของ-เช่าที่อยู่อาศัย’ เป็นปัญหาของชาวยุโรปตั้งแต่ที่ปารีส (ฝรั่งเศส) วอร์ซอ (โปแลนด์) ดับลิน (ไอร์แลนด์) และเอเธนส์ (กรีซ) เป็นต้น โดย 1 ใน 3 ของชาวยุโรปยังคง ‘เช่าเขาอยู่’ ขณะที่ราคาที่พักอาศัยสูงขึ้น ทำให้ชาวยุโรปอยู่ในที่นั่งลำบากหากวันหนึ่งตกงาน กลายเป็นว่าเมืองจะบีบบังคับให้คนจำต้องออกจากเมือง หรือมิเช่นนั้น อาจจะต้องอยู่อาศัยร่วมกันใต้หลังคาหนึ่งอย่างแออัด ในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่กับค่าใช้จ่ายที่ยังคงสูงมากอยู่ดี

โดยค่าเช่าที่พักในท้องตลาดนั้นสูงมาตั้งแต่ปี 2013 – 2018 อาทิ ในลิสบอน (โปรตุเกส) มาดริด (สเปน) เรคยาวิก (ไอซ์แลนด์) สต็อกโฮล์ม (สวีเดน) และลักเซมเบอร์ก นอกจากนี้ ผู้เช่าเสียค่าที่พักมากกว่าผู้ซื้อ 1.5 เท่า ขณะที่กรณีของผู้ซื้อ ค่าใช้จ่ายกลับลดลงมาตั้งแต่ปี 2014 และความต่างยิ่งห่างขึ้นในปี 2011–2013 และ 2016–2018 ตัวอย่างเช่น ในปี 2016 ผู้เช่าในสวีเดนจ่ายค่าเช่าที่พักมากถึง 29% ของรายได้ ขณะที่ผู้ที่ชำระหนี้จำนองใช้เพียง 8% สถานการณ์นี้ยังเกิดขึ้นเช่นเดียวกับนอร์เวย์ (34% vs.18%) ฟินแลนด์ (31% vs.15%) เนเธอร์แลนด์ (30% vs.19%) และสหราชอาณาจักร (28% vs.17%) เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้ว ชาวยุโรปที่เช่าอยู่จ่าย 25% ของรายได้ไปกับค่าเช่าที่พักในปี 2018 อย่างไรก็ดีสถานการณ์ดังกล่าวหนักหนาขึ้นในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ 20% ล่างสุดของการกระจายรายได้ ที่ต้องใช้เงินมากกว่า 40% ของรายได้จ่ายให้กับค่าที่พักเพียงอย่างเดียวตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดโควิด-19 เสียอีก แม้ว่าในบางกรณีอาจได้รับการช่วยเหลือ (subsidized rental housing) ก็ตาม เช่นครัวเรือนที่ยากจนในนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ สโลวาเกีย และสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ การใช้เงินมากถึง 40% ของรายได้ที่ใช้ได้จริง (disposable income) ไปกับค่าเช่าที่พักเช่นนี้ ถือเป็นภาระที่หนักหนาเกินไป (overburdened) โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มประชากรอายุ 16 – 29 ปี

หันกลับมาดูฟากเอเชีย ปัญหา ‘ที่อยู่อาศัยที่ไม่สามารถซื้อหาได้’ (unaffordable housing) มีมาก่อนจะเกิดโควิด-19 เช่นกัน ความเป็นเมืองของประเทศในเอเชียอย่างสิงคโปร์ โซล (เกาหลีใต้) และปักกิ่ง (จีน) เป็นแรงกดดันต่อทั้งความสามารถในการซื้อหา – เป็นเจ้าของ – เช่าอยู่ ทั้งยังมีประเด็นขนาดของบ้านที่เล็กลงกับเมืองที่แออัดขึ้น ถึงแม้กระนั้นก็ยังมีประชากรจากที่อื่น ๆ กว่า 130,000 คนมุ่งหน้ามายังเมืองต่าง ๆ ของเอเชียในแต่ละวัน

บทความซึ่งเผยแพร่ใน East Asia Forum ระบุว่าปัญหาความสามารถในการซื้อหา-เป็นเจ้าของ-เช่าที่อยู่อาศัยในเมืองของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียส่วนใหญ่มีความรุนแรงมาก ไม่ว่าเมืองจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ประชากรน้อยหรือมาก ผลที่ตามมาคือเมืองได้ผลักให้ผู้คนสรรหาที่อยู่อาศัยที่ ‘ไม่เป็นทางการ’ หรือชุมชนสลัม หรือจำนวนหนึ่งต้องตัดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นด้านอื่นลง อาทิ บริการสาธารณสุขและการศึกษา เพื่อให้มีเงินเพียงพอจ่ายค่าที่พัก แต่ทั้งหมดนี้ย่อมไม่ส่งผลดีต่อความเป็นอยู่และผลิตภาพของผู้คนเลย

นอกจากนี้ หากปัญหาดังกล่าวหนักหนาขึ้น จะยิ่งทำให้กระบวนการพัฒนาความเป็นเมืองช้าลง ส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลิตภาพ และสวัสดิภาพด้วยในทางหนึ่ง

ค่าเช่าที่พักเป็นปัญหาของเมืองทั่วโลก อ่านต่อที่ WEF

ประเด็น Housing Affordability ยังเป็นประเด็นปัญหาของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เช่นเดียวกับฝากยุโรปและเอเชีย ข้อมูลจากรายงาน The GAP: A Shortage of Affordable Homes (March 2021) บอกเล่าสถานการณ์ที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ระบุว่าคนที่ประสบกับภาวะไร้บ้าน การอยู่กันอย่างแออัด และการไม่มีเสถียรภาพเรื่องที่อยู่อาศัย (housing instability) ยิ่งเปราะบางต่อการรับเชื้อไวรัสโคโรนา ในแง่นี้ โรคระบาดเพียงเข้ามาตอกย้ำความสำคัญของ ‘ที่อยู่อาศัยที่มีราคาหาซื้อได้’ (Affordable homes) ที่จะช่วยประกันความปลอดภัยของทุกคนและเป็นผลดีต่อการสาธารณสุข

โดยบริบทของสหรัฐฯ นอกจากเรื่องรายได้และค่าที่อยู่อาศัย ยังมีมิติของความหลากหลายทางเชื้อชาติเสริมเข้ามาด้วย ในเดือนมกราคม 2021 ข้อมูลชี้ว่า 21% ของผู้เช่าที่มีรายได้น้อย และมากกว่า 30% ของกลุ่มผู้เช่าซึ่งมีรายได้น้อยกว่า 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี จ่ายค่าเช่าที่พักช้ากว่าที่กำหนด หากแบ่งออกตามเชื้อชาติแล้ว จะพบว่ามีจำนวนคนผิวขาว 12% คนลาตินอเมริกา 29% และคนผิวดำ 36% ที่จ่ายค่าเช่าที่พัก ‘ช้ากว่าที่กำหนด’ แสดงให้เห็นเรื่องรายได้ที่ผูกติดกับกลุ่มเชื้อชาติ ที่น่ากังวลคือ เกือบ 1 ใน 3 ของผู้เช่าทั้งหมดและเกือบครึ่งของผู้เช่าที่มีรายได้น้อย ‘ไม่มั่นใจว่าจะสามารถจ่ายค่าเช่าเดือนต่อไปได้ตรงเวลาหรือไม่ และมีมากกว่า 47% ที่คาดว่าจะถูกขับออกจากที่พักที่ให้เช่าในอีก 2 เดือนข้างหน้าด้วย (*รายงานเผยแพร่เมื่อ มีนาคม 2021)

ภาพฉายปัญหาของการที่ที่อยู่อาศัยมีราคา ‘ไม่สามารถซื้อหาได้’ และมีไม่เพียงพอในสหรัฐฯ เผยออกมาผ่านการที่แม้ในยามที่เศรษฐกิจของประเทศดี แต่ก็ยังมี 70% ของผู้เช่าที่ยากจนที่สุดที่ต้องใช้เงินมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ไปกับค่าเช่า ไม่ต้องพูดกันถึงเรื่องการเก็บออมเงิน เพราะในภาวะเช่นนี้ก็สุ่มเสี่ยงกับการถูกไล่ออกจากห้องพักและเสี่ยงต่อการเป็น ‘คนไร้บ้าน’ มากพอแล้ว

โดยภาพรวมของสถานการณ์ Housing Affordability ในสหรัฐฯ (ข้อมูล 2019) มีดังนี้

ภาพแสดงให้เห็นจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้แตกต่างกันและความสามารถในการเช่าอยู่ :
สีแดง – รายได้น้อยที่สุด 10.8 ล้านครัวเรือน / สีน้ำเงิน – รายได้น้อยมาก 6.9 ล้านครัวเรือน / สีส้ม – รายได้น้อย 9.2 ล้านครัวเรือน / สีเหลือง – รายได้ปานกลาง 4.6 ล้านครัวเรือน / สีฟ้า – รายได้มากกว่ามัธยฐาน 12.5 ล้านครัวเรือน , เข้าถึงได้ที่ รายงาน The GAP: A Shortage of Affordable Homes 2021
ครัวเรือนที่มีรายได้แตกต่างกัน มีภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องที่อยู่อาศัยมากกว่า 50% ของรายได้ที่แตกต่างกัน – จนมากมีภาระค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยมาก , เข้าถึงได้ที่ รายงาน The GAP: A Shortage of Affordable Homes 2021

ที่น่าจับตามองต่อจากนี้คือ ผลกระทบจากโควิด-19 อาทิ ในมิติที่กระทบกับการมีงานทำ การมีรายได้ การขยายกว้างความเหลื่อมล้ำ และทำให้คนเปราะบางมากขึ้น ได้เข้ามาทำให้ประเด็น ‘ความสามารถในการซื้อหา – เป็นเจ้าของ – เช่าอยู่’ รุนแรงขึ้นกว่าเดิมหรือไม่อย่างไรในระยะสั้นและระยะยาว


03 Key Messages: ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่มีราคาซื้อหาได้ อาทิ

– ข้อมูลจาก UN-Habitat, WEF, และ Penguin Homeless (สนับสนุนโดย สสส.)

เมื่อสามารถควบคุมราคาที่อยู่อาศัยให้สามารถเข้าถึง – ซื้อ – เช่าได้และมีเพียงพอ จะสามารถป้องกันการผลักให้คนเป็นคนไร้บ้านได้แล้วในแง่หนึ่ง และยังทำให้คนไร้บ้านสามารถกลับมามีที่อยู่ได้อีกครั้ง ซึ่งจะทำได้เช่นนั้นก็จะต้องโฟกัสไปที่กลุ่มผู้เช่าที่มีรายได้น้อยก่อนเป็นอันดับต้น เพราะสิทธิในที่อยู่อาศัยที่มีราคาเข้าถึงได้/ซื้อหาได้และมีเพียงพอครอบคลุมทุกคน นำมาซึ่งรากฐานที่มี ‘เสถียรภาพ’ จากการมีบ้านที่รองรับไว้ไม่ให้ร่วงหล่น และช่วยให้มีเงินเหลือพอสำหรับการใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ ในชีวิต ทั้งจับจ่ายใช้สอย เดินทาง หรือใช้บริการสาธารณะที่จำเป็น รวมทั้งนำไปพัฒนาศักยภาพของเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ในมิติอื่น ๆ ได้ ทั้งการเข้าถึงการศึกษา (#SDG4) ได้รับการอบรมพัฒนาทักษะ หางานและมีงานทำ (#SDG8) มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี (#SDG3) โดยรากฐานของทรัพยากรคนที่ได้รับการส่งเสริมศักยภาพเช่นนี้จะสะท้อนกลับมาส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยนั่นเอง (#SDG8)

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
– (1.4) ภายในปี 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะคนยากจนและกลุ่มผู้เปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐาน การถือกรรมสิทธิ์ และใช้ประโยชน์เหนือที่ดินและทรัพย์สิน
#SDG11 เมือง การตั้งถิ่นฐาน การคมนาคม ที่ปลอดภัย ยั่งยืน
– (11.1) หลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่เพียงพอ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ และจัดการชุมชนแออัดภายในปี 2573
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน วางแผนและบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการ และยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
และยังเกี่ยวข้องกับ #SDG3 (สุขภาพและสุขภาวะที่ดี) #SDG4 (การศึกษา) และ #SDG8 (เศรษฐกิจดีมีงานทำ) เป็นต้น

แหล่งอ้างอิง:
https://unhabitat.org/topic/housing
The Importance of Housing Affordability
Affordable Housing and Homelessness Challenges across the OECD 2019
THE GLOBAL HOUSING AFFORDABILITY CHALLENGE
DEMOGRAPHIA INTERNATIONAL HOUSING AFFORDABILITY 2021 EDITION
The GAP: A Shortage of Affordable Homes 2021
Europeans are paying up to 40% of their earnings on rent (WEF)
Tackling housing unaffordability in post-COVID-19 Asia

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version