บริโภคผักนำเข้ายังยั่งยืนกว่าเนื้อสัตว์ผลิตในท้องถิ่น เพราะการขนส่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์

แนวคิดสนับสนุนผลิตภัณฑ์อาหารจากท้องถิ่นเกิดขึ้นเพราะมีหลักฐานบ่งชี้อีกว่าการผลิตและการบริโภคอาหารในพื้นที่ใกล้เคียงส่งผลดีต่อการจ้างงาน สุขภาพ การพัฒาชุมชน เศรษฐกิจในท้องถิ่น ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ และยังมีความยั่งยืนกว่าเพราะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งอาหารจึง แต่อาหารท้องถิ่นอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ยั่งยืนที่สุดเสมอไป การพิจารณาความยั่งยืนของระบบอาหารต้องคำนึงถึงตัวแปรอื่นๆ ด้วย

งานวิจัยในวารสาร Science วิเคราะห์ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตอาหารแต่ละประเภทตลอดทั้งระบบ ตั้งแต่การใช้พื้นที่ การผลิต การแปรรูป การขนส่ง การจัดจำหน่าย พบว่ากิจกรรมในระบบอาหารที่เป็นต้นตอการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดสองอย่าง หนึ่ง คือ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เช่น การเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นทุ่งนาหรือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ สอง คือ การทำฟาร์ม ซึ่งรวมถึงการปล่อยก๊าซมีเทนจากสัตว์เคี้ยวเอื้องและการปลูกข้าว ก๊าซเรือนกระจกจากปุ๋ยธรรมชาติและปุ๋ยเคมี ไปจนถึงการใช้เครื่องจักร กิจกรรมทั้งสองนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 80% ของการผลิตอาหารส่วนใหญ่ ในขณะที่การขนส่งอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 10% เท่านั้น (ยกเว้นการขนส่งอาหารทางอากาศแทนการขนส่งทางทะเลหรือทางรถ) และเมื่อนำมาเทียบกับกิจกรรมหลังการผลิตอื่นๆ ทั้งหมดจะเห็นว่าการขนส่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างน้อยกว่ากิจกรรมอื่น

ความท้าทายที่สำคัญประการหนึ่งในปัจจุบันคือความต้องการผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์โดยรวมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการผลิตอาหารจากสัตว์และจากพืชปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่แตกต่างกันมาก การเลี้ยงวัวเพื่อให้ได้เนื้อวัว 1 กก. ปล่อย CO₂ ถึง 60 กก. ในขณะที่การปลูกถั่วเพื่อให้ได้ถั่ว 1 กก. ปล่อย CO₂ เพียง 0.3 กก.

ส่วนการทำประมงทั้งการจับสัตว์น้ำและการทำฟาร์มปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์อยู่มาก โดยมีปริมาณ CO₂ เทียบเท่า 3-5 กก. ต่อปลาหนึ่งกิโลกรัม แต่ก็ก่อปัญหาด้านมลพิษจากขยะพลาสติกและอันตรายอื่นๆ ให้กับแหล่งน้ำอย่างน่ากังวล

แม้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชโดยทั่วไปจะมีความยั่งยืนมากกว่า แต่การปลูกพืชบางชนิดก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กาแฟ โกโก้ และน้ำมันปาล์ม

ดังนั้น การบริโภคอย่างยั่งยืนจึงไม่ตรงไปตรงมาเพียงแค่สินค้านี้มาจากท้องถิ่นเท่านั้นหรือไม่ และจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยหลายประการ แต่หากพิจารณาเพียงแค่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตเท่านั้น และมองข้ามมิติความยั่งยืนด้านอื่นๆ ผู้บริโภคสามารถใช้หลักการง่ายๆ คือ ผักที่นำเข้ามาจากจุดที่ไกลที่สุดของโลกมีความยั่งยืนมากกว่าผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ในท้องถิ่นอย่างแทบจะแน่นอน

กระบวนการเลี้ยงสัตว์ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย
- SDG2 ยุติความหิวโหย ในประเด็น เกษตรกรรมที่ยั่งยืนและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยพัฒนาคุณภาพดินได้ (2.4)
- SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ในประเด็น การจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน (12.2) และ ลดการปล่อยสารเคมีและของเสียเป็นพิษออกสู่ธรรมชาติและจัดการอย่างถูกต้อง (12.4)
-  SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (13.2)
- SDG15 ระบบนิเวศบนบก ป่าไม้ ที่ดิน และความหลากหลายทางชีวภาพ

ที่มา: The Conversation

Last Updated on มิถุนายน 4, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น