‘Saildrone’ โดรนบนผิวน้ำเก็บข้อมูลพลังงานจากทะเล เพื่อพยากรณ์การเกิดพายุเฮอร์ริเคนในสหรัฐฯ

เฮอร์ริเคนเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของมนุษย์ตามพื้นที่รอบชายฝั่ง ทั้งยังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจ สำหรับสหรัฐฯ เฮอร์ริเคนก่อให้เกิดความเสียหายราว ๆ 54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ทำให้การมีองค์ความรู้เฉพาะทางเพื่อคาดการณ์พายุเฮอร์ริเคนได้ดีขึ้นไม่ว่าจะทางบก ทะเล หรืออากาศ จะเป็น ‘การป้องกัน’ อันตรายต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนได้

หน่วยงาน The National Oceanic and Atmosphere Association (NOAA) จึงร่วมมือกับบริษัทเอกชน Saildrone ผู้ผลิตยานผิวน้ำไร้คนขับ (USVs) วางแผนปล่อย ‘โดรนสำหรับใช้บนผิวน้ำ’ ในชื่อ ‘Saildrone’ 5 ลำจากหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคมนี้ เตรียมพร้อมเก็บข้อมูลสัญญาณพลังงานจากท้องทะเลเพื่อรับมือกับฤดูกาลเฮอร์ริเคนอีกครั้ง และนี่เป็นครั้งแรกของการใช้โดรน ‘บนผิวน้ำ’ เข้ามาช่วยงานด้านพยากรณ์พายุเฮอร์ริเคน อันจะช่วยรักษาชีวิตผู้คนเอาไว้ได้

เข้าถึงเว็บไซต์บริษัท Saildrone : https://www.saildrone.com/

ทางทีมผู้พัฒนามองว่า มนุษย์ยังไม่สามารถที่จะคาดเดาได้อย่างแม่นยำว่าเฮอร์ริเคนที่เกิดขึ้นจะมีระดับความร้ายแรงมากแค่ไหน นอกจากนี้จุดบอดขององค์ความรู้เพื่อทำความเข้าใจเรื่องเฮอร์ริเคน คือ ด้วยกระบวนการใดที่ทำให้มันมีความรุนแรงขึ้นอย่างฉับพลัน? แม้จะทราบว่าพายุเกิดจากการแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างมหาสมุทรและสภาพอากาศก็ตาม

ทำให้การพัฒนาโดรนชุดนี้ขึ้นเป็น ‘เครื่องมือ’ ของการสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจที่ยังขาดไป โดยจะออกไปยังท้องทะเลเพื่อสำรวจความร้อน ความเร็วลม แรงดันน้ำ อุณหภูมิน้ำ ความเค็มของน้ำ องค์ประกอบทางเคมี และความสัมพันธ์ของพลังงานในมหาสมุทรกับการเกิดพายุเฮอร์ริเคนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรและทำไมถึงมีความรุนแรง แล้วข้อมูลเหล่านั้นจะถูกส่งมาศึกษาทำความเข้าใจ พัฒนาเป็นองค์ความรู้ด้านทะเล และพัฒนาเป็นโมเดลใช้คาดการณ์พายุเฮอร์ริเคนต่อไปที่จะช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้จากภัยพิบัตินี้ในอนาคต

โดยข้อมูลเหล่านั้นจะถูกส่งมายังแลปสภาพแวดล้อมทางทะเลแปซิฟิก (Pacific Marine Environmental Laboratory: PMEL) และแลปสมุทรศาสตร์และอุตุนิยมวิทยา (Atlantic Oceanographic and Meteorological Laboratory: AOML) ภายใต้ NOAA รวมถึงส่งไปที่เครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคม​อุตุนิยมวิทยาโลก (Global Telecommunication System: GTS) ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) และศูนย์พยากรณ์อากาศหลัก ๆ อีก 20 แห่งทั่วโลก

ทางทีมผู้พัฒนามั่นใจว่าข้อมูลที่ได้จะเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับการนำไปใช้งาน อาทิ ศูนย์พยากรณ์อากาศ (National Weather Service) และศูนย์ดาวเทียมสิ่งแวดล้อม ข้อมูล และสารสนเทศ (National Environmental Satellite, Data and Information Service: NESDIS)

นอกจากนี้ ด้วยความที่ต้องทำหน้าที่เก็บข้อมูลในสภาพอากาศที่มีความร้ายแรง ซึ่งการใช้เทคโนโลยีที่ผ่านมาอาจจะยังไม่สามารถรองรับสภาพอากาศเช่นนั้นได้ โดรน 5 ตัวนี้จึงถูกออกแบบมาให้มีความทนทานเป็นการเฉพาะ โดยมีความสูงที่ 23 ฟุต มี ‘ปีก’ รองรับพายุเฮอร์ริเคนที่สามารถทนแรงลมได้มากกว่า 70 mph และมีลักษณะเป็นเซิรฟบอร์ดที่สามารถรองรับคลื่นที่สูงกว่า 10 ฟุตได้

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม นวัตกรรม – (9.5) ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรม
#SDG13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ – (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ- (13.3) ในด้านขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG14 ทะเลและทรัพยากรทางทะเลที่ยั่งยืน – (14.a) ในด้านการเพิ่มความรู้ทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัย เทคโนโลยีทางทะเล
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน –(17.17) หุ้นส่วนความร่วมมือภายในประเทศ อาทิ ระหว่างรัฐ-เอกชน

แหล่งที่มา:
https://www.saildrone.com/press-release/noaa-pmel-aoml-atlantic-hurricane-mission
https://www.washingtonpost.com/weather/2021/06/01/surfboard-saildrone-hurricanes/
https://newatlas.com/marine/saildrone-explorer-hurricanes/

Last Updated on มิถุนายน 4, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น