อ.ดร.ลดาวัลย์ ไข่คำ[1]
ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่มาในนามของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของ COVID-19 เป็นการระบาดครั้งใหญ่ (Pandemic) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 2020 (WHO, 2020) รัฐบาลแต่ละประเทศต่างประกาศใช้มาตรการมากมายเพื่อรับมือ ควบคุมการแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคระบาด ผู้คนนับล้านทั่วโลกกำลังประสบกับความทุกข์ยากและความทรมาน เนื่องจากไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะมีฐานะร่ำรวยหรือยากจน เราต่างก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งนี้ด้วยกันทั้งสิ้น สถานการณ์ COVID-19 กำลังสร้างเงื่อนไขใหม่ต่อมิติทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ในปัจจุบันและอนาคต จนทำให้เราต้องกลับมาทบทวนการดำเนินชีวิตของเราในเกือบทุกแง่มุม
มาตรการล็อกดาวน์ช่วง COVID-19
มาตรการแรกๆ ของรัฐบาลเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 คือการส่งเสริมให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หยุดการเดินทาง หยุดการจราจรทั้งทางถนนและทางอากาศ (ยกเว้นการขนส่งสินค้าและการบริการฉุกเฉิน) ปิดพรมแดนและงดการเดินทางระหว่างประเทศ หยุดกิจกรรมทางอุตสาหกรรมและการค้า ปิดกิจการ ประกาศเคอร์ฟิว ปิดสถาบันการศึกษา ตลาดสด และร้านอาหาร ไปจนถึงการจำกัดการเคลื่อนที่ระหว่างเมืองของประชากร ส่งเสริมให้ทุกคนทำงานที่บ้าน (Work from home) และให้อยู่แต่ในที่พักอาศัย (Stay at home) เรื่อยไปจนถึงการบังคับปิดเมือง หรือการล็อกดาวน์ (Lockdown) โดยเริ่มจากล็อกดาวน์บางส่วน (Partial lockdown) การล็อกดาวน์เมือง (City lockdown) จนถึงการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ (Country lockdown) ในที่สุด (Financial Times, 2021)
มาตรการล็อกดาวน์ คือ นโยบายสาธารณะที่รัฐบาลตัดสินใจเลือกที่จะดำเนินการเพื่อเพิ่มและขยายอำนาจทางกฎหมายให้แก่รัฐในการออกคำสั่ง และข้อปฏิบัติแก่ประชาชน โดยมีเป้าหมายในการจำกัดการระบาดของโรคติดต่อและลดจำนวนผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นผลเชิงบวกแก่ประชาชนส่วนใหญ่ (พรพรรณ เหมะพันธุ์, 2020) มาตรการล็อกดาวน์แสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถควบคุมโรคระบาดได้เป็นอย่างดี เพราะประชากรลดการติดต่อระหว่างกันซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ในทางตรงกันข้าม การประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (Economic slowdown) และความไม่มั่นคงทางสังคม (Social instability) ทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการดำเนินการตามนโยบายการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศทั่วโลกอย่างชัดเจน
แม้ว่าการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เพราะมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลทำให้การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจถดถอยลงอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาในช่วงเวลาแห่งการระบาดของ COVID-19 หลายชิ้น พบข้อมูลที่น่าสนใจอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน คือในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ที่รัฐบาลประกาศให้ล็อกดาวน์ โดยให้ประชาชนหยุดการเคลื่อนที่และหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นช่วงเวลาที่ชั้นบรรยากาศโลกเริ่มมีการฟื้นคืนสภาพ ช่องโหว่ในชั้นโอโซนมีขนาดเล็กที่สุดนับแต่ปี ค.ศ. 1982 คือลดลงมาเหลือ 16.4 ล้านตารางกิโลเมตร เพราะสารมลพิษในชั้นบรรยากาศ เช่น สารเคมีจำพวกคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFC) และความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลดลงถึง 6% จากการสำรวจทั่วโลก (Roy, Saha, Dhar, Pandit, & Nasrin, 2021) และไฮโดรสเฟียร์ (Hydrosphere: ส่วนที่ห่อหุ้มเปลือกโลกที่เป็นน้ำทั้งหมด) กำลังฟื้นฟูตัวเองจนอาจส่งผลดีต่อระบบภูมิอากาศโดยรวมของโลก (BBC News, 2020)
COVID-19 กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ในปี ค.ศ. 2020 United Nations Development Programme (UNDP) ประมาณการว่าการพัฒนามนุษย์ (Human development) ทั่วโลกอาจลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สาธารณสุข และมาตรฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์ เนื่องมาจากการแพร่ระบาด COVID-19 (UNDP, 2020) นอกจากนี้ เป้าหมาย 17 ประการของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่มุ่งเน้นไปที่การบรรลุความยั่งยืนและการขจัดความยากจนภายในปี ค.ศ. 2030 กำลังถูกท้าทายจากสถานการณ์โรคระบาด เป้าหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเขตเมือง (Urban areas) ด้านสาธารณสุข (Population health) ด้านสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (Cheval et al., 2020)
ในแง่หนึ่ง การระบาดของ COVID-19 แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของประเทศยากจน มาตรการในการรับมือกับโรคระบาด เช่น การล็อกดาวน์ ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสาธารณสุข และมีผลต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนี้ (UNDP, 2020)
- เป้าหมาย SDG1 ขจัดความยากจน: ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศจีนและอินเดีย ทำให้ผู้คนหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน แต่ในปีนี้ องค์การอ็อกแฟม (Oxfam)[2] คาดการณ์ว่าวิกฤต COVID-19 อาจผลักดันให้ผู้คนกว่า 500 ล้านคนกลับเข้าสู่ภาวะยากจนอีกครั้ง (Oxfam, 2021)
- เป้าหมาย SDG2 ยุติความหิวโหย: ในปี ค.ศ. 2017 ผู้คนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง และเอเชียตะวันออก ละตินอเมริกาและแคริบเบียน ประสบภาวะขาดสารอาหารเรื้อรังกว่า 821 ล้านคน แม้ว่าจำนวนผู้ขาดสารอาหารทั่วโลกจะลดลงแล้วกว่าครึ่งหนึ่งในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่สถานการณ์โรคระบาดอาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานอาหารทั่วโลกขาดหายไปเพราะการระงับการเดินทาง และมาตรการล็อกดาวน์
- เป้าหมาย SDG3 สุขภาพดีและความเป็นอยู่ที่ดี: โรคระบาดส่งผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ติดเชื้ออาจจะมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย โดยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล หรือมีอาการหนักจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตได้ ขณะเดียวกัน โรคระบาดก็ส่งผลต่อจิตใจ เช่น ความไม่มั่นคง ความวิตกกังวล ความกลัว การเว้นระยะห่างและการล็อกดาวน์ อาจทำให้เกิดความโดดเดี่ยว ความเหงาและการขาดการสนับสนุนทางสังคม (Social support) (Vujnovic, 2020)
- เป้าหมาย SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ: สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ 86% ของเด็กระดับชั้นประถมศึกษาในประเทศยากจนไม่ได้รับการศึกษา และเกิด ‘การแบ่งแยกทางดิจิทัล’ (Digital divide) เพราะนักเรียนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้
- เป้าหมาย SDG8 งานที่ดีและการเติบโตทางเศรษฐกิจ: กว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานทั่วโลก หรือราว 1.6 พันล้านคนทำงานนอกระบบเศรษฐกิจ โรคระบาดทำให้พวกเขาเกิดความไม่มั่นคงทางอาชีพทันที องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รายงานว่า นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดมีคนตกงานแล้วมากกว่า 1 ใน 6 ทั่วโลก และหลายล้านคนถูกลดชั่วโมงการทำงานลง (ILO, 2021)
- เป้าหมาย SDG16 ความยุติธรรม สันติภาพและสถาบันที่เข้มแข็ง: สถานการณ์ COVID-19 ทำให้ต้องมีการเลื่อนการเลือกตั้งระดับชาติและการลงประชามติไปแล้วถึง 18 รายการ ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในประเทศที่ความมั่นคงแห่งรัฐมีความเปราะบาง ภายใต้แรงกดดันทางสังคม ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม (UNDP, 2020)
อุปสรรคเหล่านี้เป็นปัญหาที่ประเทศยากจนล้วนแต่ต้องเผชิญอยู่แล้ว ดังนั้นเป้าหมาย 17 ประการของ SDGs ที่ต้องบรรลุให้สำเร็จภายใน ค.ศ. 2030 อาจเป็นเรื่องยากและล่าช้าในประเทศยากจนและเปราะบาง โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย ละตินอเมริกาและแอฟริกา (Srivastava, Sharma, & Suresh, 2020)
ในทางตรงกันข้าม ผลที่ตามมาจากการรับมือกับ COVID-19 กลับมีผลเชิงบวกกับความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบดิจิทัล และการบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และการบริการทางสังคมที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว จากมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม การล็อกดาวน์และการจำกัดการเคลื่อนที่ของมนุษย์ทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น และการปล่อย CO2 ลดลงในช่วงเวลาสั้นๆ (Shulla et al., 2021) โลกทั้งใบกำลังได้รับโอกาสในการกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง อากาศบริสุทธิ์ขึ้น แม่น้ำสะอาด ภูเขาเชียวขจี สัตว์และพืชต่างๆ อาศัยอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่มีการแทรกแซงจากมนุษย์ และการต่อสู้กับโรคระบาดครั้งนี้ก่อให้เกิดความร่วมมือในระดับสากล (SDG17) (Srivastava et al., 2020)
มาตรการล็อกดาวน์กับ PM2.5
จากการศึกษาคุณภาพอากาศได้รับการยืนยันแล้วว่า อากาศที่สกปรกมากเกินไปเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต รวมทั้งมนุษย์อย่างมหาศาล มลพิษทางอากาศจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่น่ากังวลระดับโลก ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประเทศส่วนใหญ่ใช้มาตรการการบังคับล็อกดาวน์ (Forced lockdown) ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และกิจกรรมทางสังคมที่เข้มงวด ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางกายภาพจำนวนมากและระบบนิเวศทันที (Cheval et al., 2020) การศึกษาหลายชิ้นพบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างมาตรการของรัฐกับคุณภาพอากาศ การล็อกดาวน์ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน และจีน ทำให้รัฐบาลต้องสั่งปิดโรงไฟฟ้า หยุดการขนส่งและปิดโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยปริยาย ซึ่งทำให้ระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก (GHGs), ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2), ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), PM2.5, PM10 และ CO2 ลดลงอย่างมาก (Fu, Purvis-Roberts, & Williams, 2020; Nigam, Pandya, Luis, Sengupta, & Kotha, 2021) ส่งผลให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศดีขึ้น และมีการประมาณว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) จะลดลงอย่างมากในช่วงที่เหลือของปี ค.ศ. 2020 (Ali et al., 2021)
แม้ว่าเมืองหลวงหลายเมืองในยุโรปจะมีคุณภาพอากาศดีอยู่แล้ว โดยมีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ต่ำกว่า 80 μg/m3 แต่การศึกษาของ Rodríguez-Urrego และ Rodríguez-Urrego (2020) พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของเมืองหลวงในยุโรปที่มีการล็อกดาวน์จะมีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ลดลงโดยเฉลี่ย 23% เช่น กรุงปารีส กรุงลอนดอน กรุงเวียนนา กรุงบรัสเซลส์ และกรุงปราก เป็นเมืองหลวงที่มีคุณภาพ AQI ที่ดีอยู่แล้ว ประกอบกับการล็อกดาวน์ก็ทำให้ PM2.5 ลดลงอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น (Rodríguez-Urrego & Rodríguez-Urrego, 2020) ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ กรุงลอนดอนที่ต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ แต่เมื่อรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศให้มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศในวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2020 ทำให้การขนส่งหยุดชะงัก และเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของชาวลอนดอน การศึกษาของ Kazakos, Taylor, & Luo (2021) พบว่าความเข้มข้นของมลพิษในอากาศภายนอก (Outdoor) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ความเข้มข้นของ NO2 ลดลงโดยเฉลี่ยมากกว่า 50% สอดคล้องกับการลดการเดินทางบนท้องถนน แต่ PM2.5 ที่ลดลงถึง 16% ยังไม่อาจสรุปได้ว่าเกิดจากการจราจรที่ลดลง เพราะ PM2.5 นั้นมีแหล่งกำเนินอื่นๆ อีก เช่น สภาพทางภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม มลพิษในอากาศในช่วงเวลาเร่งด่วนช่วงเช้าลดลงอย่างมากเพราะการหยุดเดินทางของประชาชน แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของมนุษย์มีผลต่อคุณภาพอากาศอย่างชัดเจน (Kazakos, Taylor, & Luo, 2021)
กรณีของกรุงลอนดอนเป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างมาตรการล็อกดาวน์กับคุณภาพอากาศที่ชัดเจน ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก การศึกษาของ Kumari และ Toshniwal (2020) เปรียบเทียบระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ในเมืองใหญ่ระหว่างปี ค.ศ. 2019-2020 พบว่าความเข้มข้นของ PM2.5 ในลาสเวกัส (สหรัฐอเมริก) และกรุงมอสโก (รัสเซีย) เพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 ก่อนรัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์ และระดับความเข้มข้นของ PM2.5 กรุงโรมเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม ก่อนการประกาศล็อกดาวน์เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งสอดคล้องกับคุณภาพอากาศในเมืองหวู่ฮั่น (จีน) ที่มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 อยู่ในระดับต่ำในเดือนเมษายนและพฤษภาคมอันเป็นผลมาจากการประกาศล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนเมษายน ดังนั้น การล็อกดาวน์ทำให้เมืองใหญ่ๆ มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ในปี 2020 ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน (Kumari & Toshniwal, 2020)
รายงานของสำนักข่าว Bloomberg (2020) ระบุว่ามาตรการล็อกดาวน์ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือมลพิษทางอากาศลดลง 25% ถึง 65% เมื่อเปรียบเทียบกับปี ค.ศ. 2019 ในเมืองทั่วโลก 7 แห่ง คือ กรุงเดลี กรุงโซล เมืองลอสแองเจลิส เมืองนิวยอร์ก เมืองเซาเปาโล กรุงมาดริด กรุงลอนดอน เมืองหวู่ฮั่น และเมืองมุมไบ ยกตัวอย่างเช่น เมืองหวู่ฮั่น (จีน) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของโรคระบาดถูกบังคับล็อกดาวน์ 10 สัปดาห์ ทำให้โรงงานต้องปิดลงและผู้คนกว่า 11 ล้านคนต้องอาศัยอยู่แต่ในบ้าน ทำให้ระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ลดลง 44% นอกจากนี้ กรุงเดลี (อินเดีย) ที่ปกติแล้วจะติดอันดับ 5 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุด และเป็นเมืองหลวงที่มีมลพิษมากที่สุดในปี ค.ศ. 2019 แต่มาตรการล็อกดาวน์ของนายกรัฐมนตรีนเรนทราโมดี ทำให้คนอินเดียกว่า 1.3 พันล้านคนต้องหยุดการเคลื่อนย้าย มีการปิดกั้นพรมแดน การปิดกิจการและการระงับระบบขนส่งสาธารณะทั่วประเทศ ส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ลดลง 60% และกรุงโซล (เกาหลีใต้) มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ลดลง 54% แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด แต่ยังคงใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และการทำงานที่บ้าน (Dormido, 2020)
นอกจากนี้ ระดับความเข้มข้นของ PM2.5 และการปล่อย CO2 ในเมืองหลวงของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ตัวอย่างเช่น กรุงธากา (Dhaka) เมืองหลวงของบังกลาเทศที่มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 สูงที่สุด จากที่มีค่าเฉลี่ยรายสัปดาห์สูงถึง 183 μg/m3 แต่เมื่อมีการล็อกดาวน์ ทำให้ระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ในเมืองนี้ลดลง 24% เมืองเดลี (อินเดีย) ลดลง 40% เมืองหลวงในประเทศอื่นๆ เช่น กรุงคาบูล (อัฟกานิสถาน) กรุงอูลานบาตาร์ (มองโกเลีย) และกรุงคูเวตซิตี้ (คูเวต) ที่ลดลงเฉลี่ย 33% กรุงโคลัมโบ (ศรีลังกา) และกรุงทาชเคนต์ (อุซเบกิสถาน) ลดลงเฉลี่ย 28% และ กรุงเตหะราน (อิหร่าน) มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ลดลง 39% (Hanaoka & Masui, 2020) นอกจากนี้ การศึกษาของ Rodríguez-Urrego และ Rodríguez-Urrego (2020) พบว่าประเทศในทวีปอเมริกาและแอฟริกาที่ประกาศมาตรการกักตัว (quarantine by COVID-19) หรือล็อกดาวน์นั้นมีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น โดยมีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ลดลง เช่น เขตเมืองหลวงโบโกตา (สเปน) ลดลง 57% ขณะเดียวกัน ซานเตียโก (ชิลี) ที่มีการล็อคดาวน์บางส่วนเฉพาะในเจ็ดชุมชน ส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ลดลง 10% หรือแม้กระทั่ง กรุงเม็กซิโกซิตี (เม็กซิโก) ที่ไม่ได้มีการประกาศล็อกดาวน์อย่างเป็นทางการ มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ลงลด 2% จากการกักตัวโดยสมัครใจของประชาชน (Rodríguez-Urrego & Rodríguez-Urrego, 2020)
ในทางตรงกันข้าม สำหรับประเทศไทย Dejchanchaiwong & Tekasakul (2021) ศึกษามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร พบว่ามาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมถึงวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 2020 ช่วยลดการจราจรและการใช้น้ำมันดีเซลลงอย่างมาก ส่งผลให้ NO2 ในอากาศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ได้ทำให้ระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ลดลงมากนักเมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2019 เพราะยังมีแหล่งที่มาอื่นๆ ของ PM2.5 ในกรุงทพฯ อีก เช่น ทิศทางลมที่พัดเอาฝุ่นละอองลอยข้ามแดน และการเผาชีวมวลในที่โล่งแจ้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของ PM2.5 และคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ (Dejchanchaiwong & Tekasakul, 2021)
ประเด็นเรื่องคุณภาพอากาศ และมลพิษจากกิจกรรมของมนุษย์ อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่างๆ เช่น ○ SDG 3.9 ที่พยายาม “ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและมลพิษทางอากาศน้ำและดิน และการปนเปื้อนให้ได้” ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยมีตัวชี้วัดคืออัตราการเจ็บป่วยและการตายที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ ○ SDG 7.1 ที่เน้นการเข้าถึงพลังงานสะอาด โดยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน (Renewable Energy) และ SDG 7.2 การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อลดการปล่อยมลพิษไปเข้าสู่อากาศลง ○ SDG9.4 ที่ต้องการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และปรับปรุงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ○ SDG 11.2 ที่เน้นเข้าถึงการขนส่งที่ยั่งยืนและ SDG 11.6 เรื่องเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ที่พยายามลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเมืองโดยเน้นคุณภาพอากาศในเมือง และการจัดการของเสียของเทศบาล ○ SDG 13.2 ที่การบูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับนโยบายยุทธศาสตร์และการวางแผนระดับชาติ รวมถึงข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement on climate change)
การไม่ล็อกดาวน์กับ PM2.5
ในทางตรงกันข้าม เมืองหลวงกว่าครึ่งหนึ่งในทวีปยุโรปเลือกที่จะไม่ประกาศล็อกดาวน์อย่างเป็นทางการ หรือปล่อยให้การกักตัวเป็นไปด้วยความสมัครใจของประชาชน (Voluntary quarantine) เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาค เมืองเหล่านี้จึงมีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยต่อปีสูงขึ้น เช่น กรุงบูดาเปสต์ (ฮังการี) มีความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยต่อปีสูงขึ้น 35% เพราะรัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ ยังอนุญาตให้ประชาชนออกกำลังกาย ไปทำงาน และยังเดินทางได้ กรุงบราติสลาวา (สโลวาเกีย) ก็ไม่ได้ใช้มาตราการล็อคดาวน์ รัฐบาลยังคงอนุญาตให้ประชาชนเดินทางได้อย่างเสรี และออกกำลังกายนอกบ้านได้ แม้จะมีการจำกัดระยะทาง การเว้นระยะห่างทางสังคม การงดชั้นเรียน และมีการปิดเมืองบางส่วน เมืองหลวงที่ไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์เหล่านี้จะมีคุณภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจากระดับดี (Good) ไปเป็นระดับปานกลาง (Moderate) เช่นเดียวกับเมืองหลวงในภูมิภาคเอเชียที่ไม่ได้บังคับล็อกดาวน์ ได้แก่ กรุงกาฐมาณฑุ กรุงฮานอย กรุงจาการ์ตา สิงคโปร์ และกรุงโตเกียว แต่ให้การกักตัวเป็นเพียงทางเลือกของประชาชนเท่านั้น และรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ประชาชนทำงานจากที่บ้าน ทำให้ระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ในเมืองเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 11% (Rodríguez-Urrego & Rodríguez-Urrego, 2020)
รัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 แม้ว่าจะมีการประกาศล็อกดาวน์คล้ายๆ กัน แต่ความเข้มงวดของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ซึ่งถือเป็นความท้าทายของนักวิเคราะห์ที่ต้องการเปรียบเทียบนโยบายเหล่านี้ในระดับระหว่างประเทศ ผลของมาตรการล็อกดาวน์กระทบต่อคุณภาพอากาศในเมืองต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ในเมืองต่างๆ ลดลง (Chauhan & Singh, 2020) ดังนั้น เราจึงอาจได้ข้อสรุปที่สำคัญว่า กิจกรรมของมนุษย์และกิจกรรมทางอุตสาหกรรมเป็นแหล่งที่มาสำคัญของ PM2.5, PM10, CO2 และ NO2 ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศโดยที่เรายังไม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น เช่น สภาพทางภูมิศาสตร์ และภูมิอากาศของเมืองต่าง ๆ การประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นการหยุดกิจกรรมของมนุษย์ชั่วคราว การจำกัดการปล่อยก๊าซ CO2 และ NO2 ทำให้มลพิษทางอากาศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น (Kumari & Toshniwal, 2020)
ปัญหาสำคัญของการล็อกดาวน์คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักลง รัฐบาลต้องคำนึงถึงสภาวะทางเศรษฐกิจและพลวัตทางสังคมของมนุษย์ ทำให้มาตรการล็อกดาวน์ต้องถูกใช้อย่างอย่างจำกัดและมีเวลาที่แน่นอนชัดเจน ทั้งนี้ หลายประเทศเลือกที่จะไม่ประกาศล็อกดาวน์อย่างเป็นทางการเพราะรัฐบาลหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ภาคเอกชนที่ต้องสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากนโยบายของรัฐ ในช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ค.ศ. 2020 รัฐบาลในหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เช่น กรุงปักกิ่ง กรุงเดลี กรุงลอนดอน กรุงโรม เมืองหวู่ฮั่น และกรุงเทพฯ ค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการและข้อจำกัดที่เข้มงวดต่าง ๆ จนประกาศยกเลิกการล็อกดาวน์ เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ เนื่องจากรัฐบาลเชื่อว่าสามารถควบคุมความรุนแรงของการระบาด COVID-19 ไว้ได้พอสมควรแล้ว สถานการณ์เริ่มกลับสู่สภาวะปกติ ผู้คนเดินทาง มีกิจกรรมทางอุตสาหกรรม และธุรกิจภายใต้แนวปฏิบัติของรัฐบาลอย่าเคร่งครัด ทำให้ค่าความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยรายเดือนในปี ค.ศ. 2020 สูงกว่าหรือเทียบเท่ากับปี ค.ศ. 2019 และต้องเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสกลายพันธุ์ที่มีความรุนแรงกว่าเดิม (Roberts, 2021)
สรุป: การล็อกดาวน์กับ PM2.5
หลักจากที่รัฐบาลประกาศใช้นโยบายล็อกดาวน์ ทำให้กว่า 90% ของเมืองทั่วโลกที่กำลังประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศ มีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น (Prasad et al., 2021) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ แม้ว่าอากาศจะดีขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่างการล็อคดาวน์ แต่มาตรการนี้ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพราะมันส่งผลประทบอย่างมหาศาลทางด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน เมื่อรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ มลพิษทางอากาศก็จะกลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมของมนุษย์เช่นเดิม
ความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายล็อกดาวน์กับคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นนี้ ตอกย้ำให้เราเห็นว่ามลพิษทางอากาศทั่วโลกส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์ (Anthropogenic pollution) มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ PM2.5 นั้นเกิดจากปัจจัยที่หลากหลายอื่นๆ เช่น สภาพอากาศ ภูมิศาสตร์ และฤดูกาลด้วย ดังนั้น มาตรการล็อกดาวน์ที่มีผลในเชิงบวกต่อคุณภาพอากาศกำลังกระตุ้นเตือนให้ผู้กำหนดนโยบาย รัฐบาล และหน่วยงานที่กำกับดูแล ต้องหาทางในการปรับปรุงคุณภาพอากาศโดยพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ในการลดมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน มีการวางแผนที่ดี การกำหนดข้อบังคับที่เข้มงวดในกิจกรรมที่เป็นแหล่งปล่อยมลพิษทางอากาศ โดยอาจดำเนินนโยบายเชิงกลยุทธ์ในการหยุดการเคลื่อนที่และกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนที่ก่อให้เกิดมลพิษในขั้นวิกฤติ เพื่อควบคุมและปรับระดับมลพิษในบริเวณนั้น และจำกัดความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด
[1] อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัเกษตรศาสตร์
[2] องค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาในระดับสากล
เอกสารอ้างอิง
Air4Thai. (2020). Retrieved May 31, 2021, from คุณภาพอากาศ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ website: http://air4thai.pcd.go.th/webV2/
Ali, S. M., Malik, F., Anjum, M. S., Siddiqui, G. F., Anwar, M. N., Lam, S. S., … Khokhar, M. F. (2021). Exploring the linkage between PM2.5 levels and COVID-19 spread and its implications for socio-economic circles. Environmental Research, 193, 110421. https://doi.org/10.1016/j.envres.2020.110421
BBC News. (2020). ช่องโหว่ชั้นโอโซนปิดแคบลง เปลี่ยนทิศลมกระแสหลักของโลกกลับเป็นปกติ. BBC News ไทย. Retrieved from https://www.bbc.com/thai/international-52068333
Chauhan, A., & Singh, R. P. (2020). Decline in PM2.5 concentrations over major cities around the world associated with COVID-19. Environmental Research, 187, 109634. https://doi.org/10.1016/j.envres.2020.109634
Cheval, S., Mihai Adamescu, C., Georgiadis, T., Herrnegger, M., Piticar, A., & Legates, D. R. (2020). Observed and Potential Impacts of the COVID-19 Pandemic on the Environment. International Journal of Environmental Research and Public Health, 17(11). https://doi.org/10.3390/ijerph17114140
Dejchanchaiwong, R., & Tekasakul, P. (2021). Effects of Coronavirus Induced City Lockdown on PM2.5 and Gaseous Pollutant Concentrations in Bangkok. Aerosol and Air Quality Research, 21(4), 200418. https://doi.org/10.4209/aaqr.200418
Dormido, H. (2020, April 22). These Major Cities Now Have Less Air Pollution During Virus Lockdowns. Bloomberg.Com. Retrieved from https://www.bloomberg.com/graphics/2020-pollution-during-covid-19-lockdown/
Financial Times. (2021). Lockdowns compared: Tracking governments’ coronavirus responses. Retrieved from https://ig.ft.com/coronavirus-lockdowns
Fu, F., Purvis-Roberts, K., & Williams, B. (2020). Impact of the COVID-19 Pandemic Lockdown on Air Pollution in 20 Major Cities around the World. Atmosphere, 11, 1189. https://doi.org/10.3390/atmos11111189
Hanaoka, T., & Masui, T. (2020). Exploring effective short-lived climate pollutant mitigation scenarios by considering synergies and trade-offs of combinations of air pollutant measures and low carbon measures towards the level of the 2 °C target in Asia. Environmental Pollution, 261, 113650. https://doi.org/10.1016/j.envpol.2019.113650
ILO. (2021). Uncertain and uneven recovery expected following unprecedented labour market crisis [News]. International Labour Organization. Retrieved from International Labour Organization website: http://www.ilo.org/global/about-the-ilo/newsroom/news/WCMS_766949/lang–en/index.htm
Kazakos, V., Taylor, J., & Luo, Z. (2021). Impact of COVID-19 lockdown on NO2 and PM2.5 exposure inequalities in London, UK. Environmental Research, 198, 111236. https://doi.org/10.1016/j.envres.2021.111236
Kumari, P., & Toshniwal, D. (2020). Impact of lockdown on air quality over major cities across the globe during COVID-19 pandemic. Urban Climate, 34, 100719. https://doi.org/10.1016/j.uclim.2020.100719
Nigam, R., Pandya, K., Luis, A. J., Sengupta, R., & Kotha, M. (2021). Positive effects of COVID-19 lockdown on air quality of industrial cities (Ankleshwar and Vapi) of Western India. Scientific Reports, 11(1), 4285. https://doi.org/10.1038/s41598-021-83393-9
Oxfam. (2021). Oxfam’s response to coronavirus. Retrieved May 27, 2021, from Oxfam International website: https://www.oxfam.org/en/oxfams-response-coronavirus
Prasad, N. V. K., Sasikala, P., Ramesh, S., Sarma, M. S. S. R. K. N., Mathew, T., Babu, T. A., & Madhavi, N. (2021). A Review of COVID-19: Nature of the Virus and Impact of Lockdown on Air Pollution over India and the World. CURRENT APPLIED SCIENCE AND TECHNOLOGY, 788–795.
Roberts, M. (2021). What are the India, Brazil, South Africa and UK variants? BBC News. Retrieved from https://www.bbc.com/news/health-55659820
Rodríguez-Urrego, D., & Rodríguez-Urrego, L. (2020). Air quality during the COVID-19: PM2.5 analysis in the 50 most polluted capital cities in the world. Environmental Pollution (Barking, Essex : 1987), 266, 115042. https://doi.org/10.1016/j.envpol.2020.115042
Roy, S., Saha, M., Dhar, B., Pandit, S., & Nasrin, R. (2021). Geospatial analysis of COVID-19 lockdown effects on air quality in the South and Southeast Asian region. Science of The Total Environment, 756, 144009. https://doi.org/10.1016/j.scitotenv.2020.144009
Shulla, K., Voigt, B.-F., Cibian, S., Scandone, G., Martinez, E., Nelkovski, F., & Salehi, P. (2021). Effects of COVID-19 on the Sustainable Development Goals (SDGs). Discover Sustainability, 2(1), 15. https://doi.org/10.1007/s43621-021-00026-x
Srivastava, A., Sharma, R., & Suresh, A. (2020). Impact of Covid-19 on Sustainable Development Goals. 29, 4968–4972.
UNDP. (2020). COVID-19 and the SDGs. Retrieved May 27, 2021, from UNDP website: https://feature.undp.org/covid-19-and-the-sdgs/
Vujnovic, M. (2020). COVID-19 impact on SDG 3. Denmark: WHO Regional Office for Europe.
WHO. (2020). WHO announces COVID-19 outbreak a pandemic. Retrieved May 1, 2020, from http://www.euro.who.int/en/health-topics/health-emergencies/coronavirus-covid-19/news/news/2020/3/who-announces-covid-19-outbreak-a-pandemic
พรพรรณ เหมะพันธุ์. (2020). ล็อคดาวน์: ถอดบทเรียนเครื่องมือนโยบายสาธารณะในการสะกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย. รวมบทความพิเศษ ‘สังคมไทยเรียนรู้อะไรจาก COVID-19’ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 57–71.
Last Updated on มิถุนายน 8, 2021