Sexual and Reproductive Health หรือ สุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ แบ่งออกเป็นคำว่า ‘Sexual Heath – สุขภาพทางเพศ’ และ ‘Reprodcutive Health – อนามัยการเจริญพันธุ์’
สุขภาพทางเพศ คือ การมีสุขภาพทางเพศที่ดีทั้งกายใจ และสังคม ซึ่งไม่ใช่แค่การไม่มีโรคหรือปราศจากความทุพพลภาพเท่านั้น สุขภาพทางเพศจะดีได้ต้องมีความคิดเชิงบวกต่อความสัมพันธ์ทางเพศและมีความเคารพต่อวิถีทางเพศที่แตกต่าง นอกจากนี้ สุขภาพทางเพศยังครอบคลุมถึง การมีประสบการณ์ทางเพศที่ปลอดภัยและมีความพึงพอใจ ปราศจากการบังคับ การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรง
อนามัยเจริญพันธุ์ คือ ภาวะสุขภาพที่สมบูรณ์ทั้งกาย ใจ และสังคม ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบการเจริญพันธุ์และการทำหน้าที่ระบบเจริญพันธุ์ตลอดช่วงชีวิต
ดังนั้น สุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี คือ สภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคมในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ ซึ่งหมายรวมถึงการที่บุคคลสามารถมีชีวิตด้านเพศ (sex life) ที่น่าพอใจและปลอดภัย มีความสามารถในการสืบพันธุ์ และเสรีภาพในการตัดสินใจว่าจะมีลูกเมื่อใด และมีลูกบ่อยเพียงใด
ประชาชนจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและวิธีการคุมกำเนิดที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพง เพื่อรักษาสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่ดีไว้ และต้องได้รับข้อมูลและให้อำนาจในการป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ และเมื่อตัดสินใจมีลูก ผู้หญิงจะต้องได้รับบริการที่จะช่วยให้พวกเขามีการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์ การคลอดอย่างปลอดภัย และทารกที่แข็งแรง
สิทธิทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลซึ่งรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย และกฎหมายระหว่างประเทศ
ปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์พบมากในประเทศกำลังพัฒนา โดยเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในสตรีและเด็กหญิงในวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงยากจนจะต้องเผชิญการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การเสียชีวิตและความพิการของมารดา การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) ความรุนแรงทางเพศ และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มากกว่าประชากรหญิงกลุ่มอื่น
ประชากรวัยหนุ่มสาวเป็นอีกกลุ่มที่มีความเปราะบางอย่างมาก และมักต้องพบเจออุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลและการดูแลด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ สถานการณ์ตัวอย่าง ได้แก่ การที่กลุ่มวัยรุ่นติดเชื้อ HIV อย่างไม่เป็นสัดส่วนกับคนวัยอื่น เด็กผู้หญิงหลายล้านคนทั่วโลกตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้พวกเธอต้องเผชิญความเสี่ยงระหว่างคลอดบุตรหรือการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย และส่งผลกระทบไปจนถึงต้องออกจากระบบการศึกษา
การประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา (International Conference on Population and Development : ICPD) ได้ระบุความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่าง อนามัยการเจริญพันธุ์ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อความต้องการในการเข้าถึงข้อมูลและบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ไม่เพียงพอจึงทำใหเสิทธิในการเลือกที่สำคัญเหนือร่างกายและอนาคตของตนเองถูกลิดรอนไป โดยจะส่งผลกระทบเป็นลำดับต่อสวัสดิภาพของครอบครัวและคนรุ่นต่อไปในอนาคต และเนื่องจากผู้หญิงเป็นฝ่ายตั้งครรภ์และให้กำเนิดและมักได้เป็นผู้รับผิดชอบในการเลี้ยงดูบุตร ปัญหาเรื่องสิทธิ สุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์จึงไม่สามารถแยกออกจากประเด็นความเท่าเทียมทางเพศได้ ดังนั้น การปฏิเสธสิทธิเหล่านี้ทำให้ปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางเพศรุนแรงยิ่งขึ้น
ศึกษาเพิ่มเติม :
UNFPA Thailand – สุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์
ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ พ.ศ. …
กฎหมายทำแท้ง
คำว่า ‘สุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์’ อยู่ใน ‘#SDG5 เป้าประสงค์ที่ 5.6 – สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ และสิทธิการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนาและแผนปฏิบัติการปักกิ่งและเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมทบทวนเหล่านั้น
Target: 5.6 ensure universal access to sexual and reproductive health and reproductive rights as agreed in accordance with the Programme of Action of the ICPD and the Beijing Platform for Action and the outcome documents of their review conferences
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
UNFPA
สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ หัวใจสำคัญของสุขภาพผู้หญิง