การศึกษากว่า 20 ปี ชี้ ‘หลักประกันสุขภาพ’ ที่เพียงพอในเคนยา สัมพันธ์กับการรอดชีวิตของเด็กเกิดใหม่

อัตราการรอดชีวิตของเด็กทั่วโลกดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลดลง 59% จากเดิมที่มีการตาย 93 และ 38 ต่อการเกิดรอดมีชีวิต 1,000 คนในปี 2533 และ 2562ตามลำดับ ทว่าในปี 2562 ยังคงมีกรณีการตายในเด็ก 5.2 ล้านคน และมากกว่าครึ่งของจำนวนนี้พบในแถบแอฟริกาซับซาฮารา โดย 5 ประเทศที่มีอัตราการตายในเด็กสูงกว่า 100 รายต่อ 1,000 คนที่เกิดและมีชีวิตรอดนั้น อยู่ในภูมิภาคแอฟริกาทั้งสิ้น

การศึกษาที่เก็บข้อมูล-วิเคราะห์การเกิดของเด็กใน 47 มลฑลของเคนยาตั้งแต่ 2508 พบว่า ปี 2562 มีการตายของทารก 43 รายต่อ 1,000 ที่รอดชีวิต โดยปัจจัยที่สัมพันธ์กับอัตราการตาย/การรอดชีวิตมีอาทิ หญิงตั้งครรภ์เข้ารับการฝากครรภ์ (ซึ่งเป็นเรื่องความรู้ความเข้าใจของมารดา – maternal literacy) การมีพยาบาลช่วยทำคลอด การให้นมบุตร การรับวัคซีนในวัยเด็ก นอกจากนี้ การศึกษาอีก 2 ชิ้นโดยทีมผู้วิจัยเดียวกันพบว่า ในภูมิภาคที่มี ‘หลักประกันสุขภาพ’ ไม่เพียงพอ ทำให้มีอัตราการติดเชื้อโรคสูงซึ่งส่งผลต่อ ‘อัตราการตาย/การรอดชีวิตของเด็กเกิดใหม่’

การศึกษา 2 ชิ้นที่ว่านั้น ทำให้เข้าใจสถานการณ์บริบทท้องถิ่นของเคนยามากขึ้น การศึกษาแรก สำรวจความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพ / ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ และปัจจัย 43 ปัจจัยใน 47 มณฑลของเคนยาตั้งแต่ปี 2537 – 2557 ซึ่งมีทั้งช่วงที่ย่ำแย่ลงและดีขึ้น พบว่า มี 38 ปัจจัยจาก 43 ปัจจัยที่มีพัฒนาการดีขึ้นในช่วง 20 ปี แม้ว่าจะไม่ได้ดีขึ้นในระดับเดียวกัน / เหมือนกัน และยังแตกต่างกันไปตามแต่ละมณฑล อย่างเช่นมณฑลทางเหนือของเคนยามีการให้บริการสาธารณสุขที่ครอบคลุมน้อยกว่าพื้นที่อื่นตลอดช่วงเวลาถึงปี 2557 และมีระดับการติดเชื้อมาลาเรียและ HIV ที่ต่ำกว่า ขณะที่ภาคกลางของประเทศมีการให้บริการสาธารณสุขที่ครอบคลุมกว่า ส่วนทางตะวันตกและตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในระดับกลาง ๆ แต่มีภาระการรักษาการติดเชื้อมาลาเรียและ HIV ที่มากกว่าพื้นที่อื่น

ทีมผู้วิจัยยังได้สำรวจกรอบกฎหมายและระดับการลงทุนใน ‘บริการสุขภาพ’ ที่เข้าถึงและจ่ายได้ อาทิ นโยบายค่าใช้จ่ายในการเข้ารักษา โครงการฉีดวัคซีนสำหรับอาการป่วยไข้ของวัยเด็ก อุปกรณ์ทางการแพทย์ การรักษาโรคมาลาเรียและ HIV เป็นต้น ขณะที่ความท้าทายของประเทศยังคงมีเรื่องน้ำท่วม ภัยแล้ง โรคระบาด และความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลต่อ ‘การรอดชีวิตของเด็ก’  

ส่วนการศึกษาชิ้นที่สอง สำรวจปัจจัยที่ส่งผลต่อการรอดชีวิตของเด็ก อาทิ การรับวัคซีนจำเป็นทุกชนิด ครัวเรือนกับการเข้าถึงสุขาภิบาลที่ดีกว่าเดิม การที่สามารถเข้ารับการรักษาเมื่อมีอาการไข้ได้ การได้รับนมมารดาภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังเกิด การปกครองภายในบ้านโดยมารดา (maternal autonomy)

เช่นเดียวกัน ผลของการศึกษาแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาและแต่ละภูมิภาค ช่วงทศวรรษ 2533 อัตราการตายของเด็กต่ำกว่า 5 ปีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ HIV และการปกครองภายในบ้านโดยมารดา ทว่าหลังจากปี 2549 ตัวเลขการตายในเด็กเริ่มจะลดลง ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ HIV และมาลาเรียที่ลดลง เข้าถึงสุขาภิบาลที่ดีขึ้น และสามารถเข้ารับการรักษาเมื่อมีอาการไข้ได้ เป็นต้น

ถึงแม้เคนยาจะมีพัฒนาการลดอัตราการตายในเด็กต่ำกว่า 5 ปีในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย #MDG4 (ลดอัตราการตายในเด็ก) ได้ภายในปี 2558

ทางผู้วิจัยมองว่าข้อมูลจากการศึกษานี้สามารถใช้เป็น ‘ค่าพื้นฐาน’ เพื่อติดตาม-เก็บข้อมูลการพัฒนาต่อไปในอนาคต และเคนยาควรให้ความสำคัญกับ ‘แผนดูแลเด็ก’ ที่สอดคล้องกับท้องถิ่นและประชากรมากขึ้นด้วย

ซึ่งจะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมาย #SDG3 ‘(3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายของทารกลงให้ต่ำลงถึง 12 ต่อการเกิดและรอดชีวิต 1,000 คน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีให้ต่ำลงถึง 25 ต่อการเกิดและรอดชีวิต 1,000 คน ภายในปี 2573’ ได้

MDG คืออะไร? : https://www.sdgmove.com/2021/03/24/mdg-2001-2015/
หลักประกันสุขภาพ (ถ้วนหน้า) คืออะไร? : https://www.sdgmove.com/2021/05/18/sdg-vocab-universal-health-coverage/
สุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์คืออะไร? : https://www.sdgmove.com/2021/06/05/sdg-vocab-15-sexual-and-reproductive-health/

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายของทารกลงให้ต่ำลงถึง 12 ต่อการเกิดและรอดชีวิต 1,000 คน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีให้ต่ำลงถึง 25 ต่อการเกิดและรอดชีวิต 1,000 คน ภายในปี 2573
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และยับยั้งการแพร่เชื้อของโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.7) หลักประกันการเข้าถึงบริการ ข้อมูล การให้การศึกษาเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้ารวมถึงการวางแผนครอบครัว และวางแผนเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
– (3.8) หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็น และยาและวัคซีนที่ปลอดภัย มีประสิทธิผล มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ – เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งสัมพันธ์กับบริบทการรอดชีวิตของเด็กในเคนยาที่มักประสบกับภาวะน้ำท่วม และภัยแล้ง เป็นต้น
#SDG16 สังคมที่สงบสุข ยุติธรรม สถาบันรับผิดรับชอบ มีประสิทธิผล ครอบคลุม – เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งสัมพันธ์กับบริบทการรอดชีวิตของเด็กในเคนยา ในแง่ที่ยังคงมีความรุนแรงทางการเมือง เป็นต้น

แหล่งที่มา:
https://theconversation.com/we-gathered-rich-insights-into-child-survival-in-kenya-by-mapping-patterns-over-22-years-159659

Last Updated on มิถุนายน 7, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น