ตามคำอธิบายของ UN-Water สุขาภิบาล (Sanitation) หมายถึง การจัดหาน้ำสะอาด การกำจัดสิ่งปฏิกูลที่เพียงพอ การมีสิ่งอำนวยความสะดวก (facilities) ขั้นพื้นฐาน อาทิ การมีระบบห้องส้วมขับถ่าย ระบบถังเกรอะ และส้วมหลุม การมีบริการสุขาภิบาล และพฤติกรรมของการมีสุขอนามัยที่ดีของตนเอง โดยเฉพาะที่เป็นการป้องกันไม่ให้มีการสัมผัสกับสิ่งปฏิกูลของมนุษย์ (human waste) เพราะหากมีการสัมผัส (สุขาภิบาลที่ ‘ไม่ดี’) หรือเกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำอุปโภค/บริโภคและอาหาร ก็จะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ง่ายและรวดเร็ว เช่น โรคอหิวาตกโรค เป็นต้น
ขณะที่คำสอดคล้องกันหรือเป็นคำใต้ร่มสุขาภิบาลอย่าง สุข (ภาพ) อนามัย (Hygiene) หมายถึง พฤติกรรม/การปฏิบัติ/การตระหนักรู้ที่รู้รักความสะอาด รวมถึงรู้การป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค อันจะนำมาซึ่งการมีสุขภาพที่ดีของทุกคนและชุมชน โดยที่การจะมีสุขอนามัยที่ดีได้นั้นก็จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการล้างมือ มีน้ำสะอาดล้างมือ และมีสบู่ด้วย
พูดถึงเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการล้างมือ – น้ำสะอาดล้างมือ – สบู่ ถือเป็นความสำคัญอันดับต้น ๆ ของการมีสุขอนามัยที่ดีเลยด้วยซ้ำ (Top Hygiene Priority) เพราะจะช่วยในเรื่องสุขภาพได้มาก โดยสำหรับ SDGs ก็ได้ระบุเป็นหนึ่งปัจจัยในตัวชี้วัดภายใต้เป้าประสงค์ของ #SDG6 – 6.2 ‘….การอำนวยความสะดวกในการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ’
ส่วนวิธีการวัดสถานะของสุขาภิบาล-สุขอนามัยว่าดี/ไม่ดี จะเป็นการสำรวจในระดับ ‘ครัวเรือน’ ในเมืองและชนบท ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้เหมาะสมและปลอดภัยหรือไม่ เช่นว่ามีห้องส้วมใช้หรือไม่ (เลิก ‘การขับถ่ายในที่โล่ง’ หรือ open defecation ไปแล้วหรือยัง) แล้วการกำจัดสิ่งปฏิกูลของครัวเรือนเป็นอย่างไร ในทางกลับกัน หากจะปรับปรุงให้มีสุขาภิบาลและสุขอนามัยดีขึ้น ก็ต้องดูที่องค์ประกอบเหล่านี้ด้วย
ข้อมูลการศึกษาจาก รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 6 (2562) ระบุนิยามของคำปลีกย่อยที่เกี่ยวข้องเพื่อฉายภาพให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะส้วมที่ถูกหลักสุขาภิบาลหรือสุขอนามัยนั้นมีหลายประเภท (privy, latrine, toilet) โดยจะต่างกันไปที่ ‘ระบบการขับเคลื่อนสิ่งปฏิกูล การบำบัด และการกำจัด’ ทั้งนี้ ส้วมที่ถูกหลักสุขาภิบาล หมายถึง ส้วมที่มีระบบเก็บกักสิ่งปฏิกูลโดยสามารถป้องกันสัตว์แมลงพาหะนำโรค ไม่ส่งกลิ่นเหม็น ไม่มีน้ำขัง ไม่ปนเปื้อนแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำใต้ดินในทุกขั้นตอน ต้องทำความสะอาดง่าย ระบายอากาศดี มีน้ำล้างและสบู่ล้างมือ ขนาดเนื้อที่ภายในส้วมไม่น้อยกว่า 0.9 ตารางเมตรต่อหนึ่งที่ และอยู่ห่างจากแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 30 เมตร โดยต้องมีองค์ประกอบ อาทิ ตัวเรือนส้วมสูงอย่างน้อย 2 เมตร มีหัวส้วม บ่อกักเก็บอุจจาระ ท่อระบายอากาศ และบ่อซึม โดยหากเป็นในกรณีของส้วมในที่สาธารณะหรือส้วมที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเอกชนจัดหาไว้ให้บุคคลทั่วไปใช้บริการเมื่อเข้าใช้สอยพื้นที่ในอาคารนั้น จะต้องมีห้องน้ำและห้องส้วมในจำนวนที่เหมาะสมด้วย
อ่านต่อเรื่องระบบบำบัดได้ที่ : รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 6 (2562) และรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : Unstat Metadata 6.2.1
โดยสองคำนี้ซึ่งปรากฏใน (แปลภาษาไทยใช้รวบอยู่ในคำเดียวว่า ‘สุขอนามัย’) #SDG6 เป้าประสงค์ที่ 6.2 – ‘บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงสุขอนามัยที่พอเพียงและเป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่ง โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อความต้องการของผู้หญิง เด็กหญิง และกลุ่มที่อยู่ใต้สถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573’ – ตามข้อมูลการศึกษาข้างต้นระบุว่า การโฟกัสไปที่ความต้องการเฉพาะกลุ่มประชากรก็เพื่อสนับสนุนให้มีการกำหนดนโยบายสาธารณะว่าด้วยเรื่องการแยกส้วมสำหรับ อาทิ ผู้หญิง ผู้ชาย คนพิการ ผู้สูงอายุ บนหลักการความสะอาด พอเพียงและเข้าถึงได้ และความปลอดภัย ส่วน UN-Water ก็ได้ชี้ว่าระบบสุขาภิบาลที่ดีจะทำให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในบางบริบทสังคมปลอดภัยจากการถูกละเมิดทางเพศด้วย กล่าวคือ หากยังเป็นพื้นที่ส้วมเปิดแล้วต้องไปทำธุระในตอนกลางคืน ระหว่างนั้นอาจประสบกับอันตรายทางเพศได้
ทั้งนี้ Sanitation และ Hygiene ยังเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของภาพใหญ่อย่าง WASH – Water, Sanitation, and Hygiene ‘น้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย’ ที่การมีและการเข้าถึงสามคำสำคัญนี้เป็น ‘สิทธิมนุษยชน’ โดยมีผลต่อสุขภาพ-การสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจในวงกว้าง และเป็นรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่นในแง่ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของมารดาและบุตร อันหมายรวมถึงการรอดชีวิตของเด็กเกิดใหม่ และการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ไปเพราะโรคภัยที่มาจากสุขาภิบาลและสุขอนามัยที่ไม่ดี
ในทางกลับกัน ก็เป็นตัวชี้วัดความยากจนในระดับครัวเรือน ซึ่งจะเกี่ยวพันไปยังมิติอื่น ๆ ของความเป็นอยู่ในชีวิต เช่นว่าครัวเรือนที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้เพื่ออุปโภคบริโภคและยังมีสุขาภิบาลที่ไม่ดีเพียงพอ อาจทำให้สมาชิกในครัวเรือนเสี่ยงกับโรคท้องร่วง และเด็ก ๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ หรือในบางพื้นที่ชนบทที่เด็กผู้หญิงยังต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเดินไปตักน้ำในที่ที่ห่างไกล ก็เป็นการเสียโอกาสในแต่ละวันที่จะได้ใช้เวลาไปทำอย่างอื่น เป็นต้น กล่าวคือ WASH ถือเป็นหนึ่งใน ‘การบริการขั้นพื้นฐาน’ ด้วย
อ่านต่อ การบริการขั้นพื้นฐาน คืออะไร? ที่: https://www.sdgmove.com/2021/05/08/sdg-vocab-basic-services/
ปัจจุบัน มีคน 2.2 พันล้านคนที่ยังขาดแคลนการเข้าถึงบริการน้ำดื่มสะอาด และ 4.2 พันล้านคนที่ยังขาดบริการสุขาภิบาลที่ได้รับการจัดการอย่างปลอดภัย การขาดความรู้ปฏิบัติเพื่อสุขอนามัยที่ดียังคงมีอยู่ทั่วไปอันจะส่งผลต่อสุขภาพ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีกว่า 297,000 คนเสียชีวิตในแต่ละปีจากโรคท้องร่วงซึ่งเป็นผลมาจากน้ำดื่มไม่สะอาด สุขาภิบาลและสุขอนามัยที่ไม่ดี
Target 6.2: By 2030, achieve access to adequate and equitable sanitation and hygiene for all and end open defecation, paying special attention to the needs of women and girls and those in vulnerable situations
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 6 (2562)
Water, Sanitation and Hygiene (UN-WATER)
Unstat Metadata 6.2.1