Site icon SDG Move

ผู้หญิงเป็นแนวหน้าของบุคลากรสาธารณสุขที่ให้บริการสุขภาพ แต่อยู่ในตำแหน่ง ‘ผู้นำ’ น้อยกว่าผู้ชาย

บุคลากรทางแพทย์และการสาธารณสุขในโลก มีสัดส่วนผู้หญิงคิดเป็น 70% ทว่ามีเพียง 25% เท่านั้นที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำอาวุโส

องค์การอนามัยโลกร่วมกับ Women in Global Health ได้สำรวจสถานะปัจจุบันของผู้หญิงกับการมีบทบาทนำในภาคสาธารณสุข และการที่ผู้หญิงไม่ถูกนำเสนอให้แสดงบทบาทนำอย่างเพียงพอ (underrepresentation) นั้นส่งผลด้านลบต่อผู้หญิงเองและระบบสุขภาพอย่างไร โดยได้ เผยแพร่ข้อเสนอเชิงนโยบายและการปฏิบัติ ‘Closing the leadership gap: gender equity and leadership in the global health and care workforce’ เมื่อวานนี้ (8 มิถุนายน 2564) ให้เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำองค์กร สื่อมวลชน รวมถึงบุคลากรในภาคสาธารณสุขสนับสนุนให้ผู้หญิงในระบบสุขภาพซึ่งมีจำนวนมาก ขึ้นหน้ามามีบทบาทนำ-เป็นตัวแทนอย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย ผ่านกรอบข้อเสนอแนะ 4 ด้าน:

  1. สร้างรากฐานสำหรับความเสมอภาค
  2. จัดการกับค่านิยมทางสังคมและคตินิยม/การเหมารวมลักษณะของกลุ่มคน
  3. จัดการกับระบบและวัฒนธรรมในสถานที่ทำงาน
  4. ส่งเสริมพลังงานอำนาจให้กับผู้หญิง

รากฐานของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง และความมั่นคงทางสาธารณสุขโลก บทบาทความเป็นผู้นำจึงต้องมี ‘ความเท่าเทียมระหว่างเพศ’ ส่งเสริมศักยภาพและความเชี่ยวชาญของบุคลากรไม่ว่าจะเพศใดก็ตามอย่างเต็มที่ การที่มีจำนวนผู้หญิงซึ่งจำนวนไม่น้อยมีความเชี่ยวชาญทางสาธารณสุขแต่กลับเป็นตัวแทนแสดงบทบาทนำที่น้อย ย่อมส่งผลให้ระบบสุขภาพและความมั่นคงทางสาธารณสุขโลกอ่อนแอลงด้วย

ในข้อเสนอเชิงนโยบายนี้ยังระบุไว้ว่า มาตรการทางนโยบายจะต้องสอดคล้องกันในทุกระดับตั้งแต่กรอบกฎหมายและนโยบายสาธารณะ ไปจนถึงระดับองค์กรและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่จะสามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง – ส่งเสริมบทบาทนำของผู้หญิงได้สำเร็จ

● เข้าถึง Policy Action Paper ที่ : Closing the leadership gap: gender equity and leadership in the global health and care workforce

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศและเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิง
– (5.5) หลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และมีโอกาสเท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในทางการเมือง เศรษฐกิจ และภาคสาธารณะ
– (5.c) ส่งเสริมนโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการให้อำนาจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
ซึ่งส่งผลต่อระบบสุขภาพและขีดความสามารถทางสาธารณสุขโลกใน #SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี

แหล่งที่มา:
https://www.who.int/news/item/08-06-2021-new-policy-action-paper-highlights-feasible-policy-interventions-for-addressing-the-underrepresentation-of-women-in-global-health-and-care-leadership

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version