Site icon SDG Move

SDG Updates | Nature Prescription เมื่อแพทย์เขียนใบสั่งยาให้ธรรมชาติช่วยบำบัด

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด หลายพื้นที่บนโลกจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด ตั้งแต่การเว้นระยะห่างทางสังคม ไปจนถึงการล็อกดาวน์ ปิดพื้นที่สาธารณะต่างๆ เพื่อจำกัดกิจกรรมของมนุษย์ ความเครียดจากการจำกัดพื้นที่นี้ทำให้หลายคนเห็นคุณค่าของธรรมชาติว่าสำคัญกับการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมากเพียงใด

ประโยชน์ด้านสุขภาพจากการใช้เวลาดื่มด่ำอยู่ในธรรมชาตินั้นเป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลาย การได้มีที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีหญ้าหรือต้นไม้สัมพันธ์กับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ลดลงหลายประการ และนอกจากสุขภาพกายแล้ว การได้ใกล้ชิดพื้นที่สีเขียวยังให้ผลดีต่อสุขภาพจิตอีกด้วย

ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การใช้ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษาดูแลด้านสุขภาพ ในชื่อ การสั่งจ่ายยาด้วยธรรมชาติ หรือ Nature Prescription จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวเลือกของแพทย์และผู้ให้บริการด้านสุขภาพใช้เพื่อการเยียวยาผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง


Social Prescribing การสั่งจ่ายยาด้วยกิจกรรมทางสังคม

การจ่ายยาด้วยธรรมชาติวิวัฒนาการจาก Social prescribing หรือ การจ่ายยาด้วยกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เช่น แพทย์ประจำบ้าน พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพในสถานพยาบาลปฐมภูมิ ส่งต่อ/แนะนำผู้ป่วยไปยังกลุ่มหรือองค์กรที่ให้บริการนอกเหนือจากการบริการทางการแพทย์ (non-clinical) เพื่อให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมทั้งสุขภาพกายและใจควบคู่ไปกับการรักษาแบบปกติ เช่น การกินยา

การจ่ายยาด้วยกิจกรรมทางสังคมเป็นรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (holistic care) คือ ทำให้บุคคลมีสุขภาวะที่ดี ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสิ่งแวดล้อม เน้นผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง และมีความเข้าใจในปัจจัยกำหนดทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพบุคคลนั้นโดยเฉพาะ เกิดขึ้นจากการตระหนักว่าปัญหาทั้งสุขภาพกายและใจส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และอาจฟื้นฟูได้ด้วยกิจกรรมทางสังคม โดยที่สามารถฟื้นฟูได้ตรงจุดกว่าวิธีการทางการแพทย์ นอกจากนี้ยังเป็นการแบ่งเบาภาระการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่ไม่วิกฤติแก่หน่วยบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิอีกด้วย

ตัวอย่างกิจกรรมในการสั่งจ่ายยาทางสังคม ได้แก่ การทำสวน การกำหนดให้อ่านหนังสือ การทำงานศิลปะ ฝึกอาชีพ การออกกำลังกาย คำแนะนำด้านอาหารเพื่อสุขภาพ งานกลุ่มอาสาสมัคร คำแนะนำในการตกแต่งบ้าน บริการปรึกษาด้านการเงินและหนี้สิน 

การสั่งจ่ายยาทางสังคมออกแบบมาเพื่อสนับสนุนผู้รับบริการที่มีเงื่อนไขหลากหลาย มุ่งเน้นไปที่การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางกายและใจ ผู้ที่อาจได้รับประโยชน์จากการสั่งจ่ายยาทางสังคม ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในระดับต่ำหรือเป็นมาระยะยาว ผู้ที่มีความต้องการซับซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ เช่น มีปัญหาทางการเงิน หรือมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรังหลายประการซึ่งต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเป็นประจำ

  • กระฉับกระเฉงมากขึ้น
  • มีความเชื่อมโยงทางสังคมขึ้น
  • สุขภาพดีขึ้น
  • มีชีวิตที่ดีและมีอิสระมากขึ้น
  • สุขภาพจิตดีขึ้น
  • มีสภาพการเงินดีขึ้น


ซึ่งหนึ่งในชุดกิจกรรมที่เข้ากับผู้คนส่วนมากได้ดีที่สุด คือ กิจกรรมที่เน้นธรรมชาติเป็นหลัก (nature-based)


Nature Prescription การสั่งจ่ายยาด้วยธรรมชาติ

การสั่งจ่ายยาด้วยธรรมชาติครอบคลุมกิจกรรมที่เน้นการสัมผัสธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลัก มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการกับภาระโรคเรื้อรังและเพิ่มกิจกรรมที่ใช้ร่างกาย โดยเป็นตัวเลือกในการบำบัดที่เกิดขึ้นมาจากงานวิจัยที่แสดงให้เห็นประโยชน์ต่อสุขภาพของการใช้เวลาในธรรมชาติที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ 

การสั่งจ่ายยาด้วยกิจกรรมทางธรรมชาตินั้นมีความน่าสนใจเพราะเป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น สวนสาธารณะและพื้นที่กลางแจ้งให้เต็มศักยภาพในการร่วมสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องลงทุรสร้างนวัตกรรมหรืออุปกรณ์ใหม่

ประเภทกิจกรรมหลักของการจ่ายยาด้วยธรรมชาติ ได้แก่ งานอนุรักษ์ธรรมชาติ (conversation) การสัมผัสความเป็นป่า (wilderness focused) การปลูกพืชและทำสวน (horticulture and gardening) ดูแลสัตว์ในฟาร์ม (care farming) การออกกำลังกายแบบธรรมชาติ (exercise focused) การเล่นกีฬาที่ได้สัมผัสธรรมชาติ (sport aligned) การชื่นชมธรรมชาติ (nature appreciation) กิจกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ (creativity focused) บูรณาการการบำบัดทางเลือก (integrating alternative therapies) และ บูรณาการการบำบัดด้วยการพูดคุย (integrating talking therapies)

โดยปกติหนึ่งโปรแกรมการรักษาบำบัดด้วยธรรมชาติจะร่วมกิจกรรมหลายประเภทเข้าด้วยกัน เช่น การอาบป่า (forest bathing) อาจมีองค์ประกอบของกิจกรรมที่ได้สัมผัสความเป็นป่า และผสมผสานทั้งการบำบัดทางเลือกและการบำบัดด้วยการพูด โดยโปรแกรมเหล่านี้สามารถปรับให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มผู้เข้าร่วมและตามปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพอากาศและฤดูกาล

ประเภทของการสั่งจ่ายยาด้วยธรรมชาติ
ที่มา : A Handbook for Nature on Prescription to Promote Mental Health

การสั่งจ่ายยาด้วยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก

การสั่งจ่ายยาด้วยการให้ออกไปพบธรรมชาติ (Prescribing nature) ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 8 เทรนด์ด้านสุขภาพและสุขภาวะ (Global Wellness Trend) ประจำปี 2019 แต่การใช้ธรรมชาติบำบัดไม่ใช่เรื่องใหม่

การอาบป่า (Forest Bathing) ในญี่ปุ่นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจให้ปกติและลดความดันโลหิต ลดการผลิตฮอร์โมนความเครียด เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน และส่งเสริมสภาพจิตใจที่ดี

การอาบป่า โดยพื้นฐานแล้วคือการใช้เวลาอยู่ท่ามกลางต้นไม้ สัมผัสธรรมชาติ กิจกรรมนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสาธารณสุขแห่งชาติในญี่ปุ่นในปี 1982 เมื่อกระทรวงป่าไม้ได้บัญญัติวลี shinrin-yoku (Shinrin แปลว่า ป่า และ Yoku แปลว่า อาบ) และส่งเสริมเส้นทางเดินเข้าป่าเพื่อกิจกรรมอาบป่าบำบัด

การบำบัดวิธีนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ในญี่ปุ่น แต่เป็นวิธีการรักษาที่ได้รับการยอมรับในโลกตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา ด้วย และในประเทศไทยเอง ก็มีกลุ่มบุคคลที่จัดกิจกรรมให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วม เช่น กลุ่มอาบป่ากาญจนบุรี

โปรแกรม Park Prescription (ParkRx) หรือ การสั่งจ่ายยาให้เดินป่า เกิดขึ้นมากมายในพื้นที่สวนสาธารณะและอุทยานแห่งชาติทั้งหมด 35 รัฐ ทั่วสหรัฐอเมริกา ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ผู้สนับสนุนสุขภาพในชุมชน และผู้ดูแลพื้นที่ป่านั้น และในปี 2013 จึงได้มีการจัดตั้งโครงการระดับประเทศในนาม National ParkRx Initiative และ Park Rx America อย่างเป็นทางการเพื่อดูแลโปรแกรมสุขภาพที่กระจัดกระจายอยู่นี้ และมีการทำฐานข้อมูลเครือข่ายการจ่ายยาให้เดินป่าทั้งหมดบนเว็บไซต์ ParkRx.org ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามีโปรแกรมการสั่งจ่ายยาด้วยธรรมชาติมากกว่า 75-100 แห่งทั่วประเทศ

กิจกรรมการจ่ายยาให้เดินป่าได้รับความนิยมไปถึงประเทศแคนาดา โดยเมื่อปลายปี 2020 มีการเปิดตัวโปรแกรม Park Prescription ระดับประเทศที่แรก ในชื่อ PaRx

ในปี 2018 แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในสถานพยาบาลบนหมู่เกาะเชตแลนด์ (Shetland) สกอตแลนด์  ได้รับอนุญาตให้ออกใบสั่งยาด้วยธรรมชาติเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาผู้ป่วย ลดความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ลดความวิตกกังวล และเพิ่มความสุขให้กับผู้เข้าร่วม โดยจัดว่าเป็นโปรแกรมการจ่ายยาด้วยธรรมชาติแห่งแรกในสหราชอาณาจักร และเมื่อพฤศจิกายน 2020 มีรายงานว่าจะมีการอนุญาตให้แพทย์ในเอดินบะระ  (Edinburgh) สามารถสั่งยารักษาคนไข้ด้วยกิจกรรมทางธรรมชาติได้ ซึ่งเป็นโครงการทดลองการใช้การสั่งจ่ายยาด้วยธรรมชาติเป็นระยะเวลา 5 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบว่าวิธีการรักษาบำบัดนี้เมื่อใช้ในบริบทสภาพแวดล้อมเมือง จะสามารถส่งผลดีต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกันหรือไม่ และเป็นการศึกษาศักยภาพของวิธีการดูแลสุขภาพด้วยธรรมชาตินี้ก่อนพิจารณาขยายการปฏิบัติให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น

แนวทางกิจกรรมของการสั่งจ่ายยาในสก็อตแลนด์ มีผู้ร่วมออกแบบคือ ราชสมาคมเพื่อการคุ้มครองนก (Royal Society for the Protection of Birds :RSPB) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ทำงานด้านการอนุรักษ์นกและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำปฏิทินกิจกรรมตามฤดูกาลโดยใช้ความรู้ความเข้าใจในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงคนเข้ากับธรรมชาติ โดยพยายามนำเสนอกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อให้เห็นประโยชน์ต่อสุขภาพที่ธรรมชาติสามารจัดสร้างให้ได้ไม่ว่าผู้เข้าร่วมจะมีเงื่อนไขด้านสุขภาพอย่างไร และตอบโจทย์ความต้องการที่จะทำกิจกรรมทั้งเป็นกลุ่มและเดี่ยว ทั้งการดูนก เดินเล่นที่ชายหาด โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำชุดกิจกรรมนี้ให้แก่ผู้ป่วยตามดุลยพินิจทำกิจกรรมร่วมกับการรักษาแบบปกติ

ตัวอย่างปฏิทินกิจกรรม  ดูกิจกรรมทั้งหมดที่นี่

ธรรมชาติ และ สุขภาพ

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของประโยชน์จากธรรมชาติที่มีต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายปรากฏขึ้นมากมายและต่อเนื่อง ผลการศึกษาเมื่อปี 2019 พบว่า คนที่ใช้เวลาอย่างน้อย 120 นาที/สัปดาห์ในธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะรายงานว่ามีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้เวลากับธรรมชาติน้อยกว่า และยังสามารถลดความดันโลหิต ความวิตกกังวล และเพิ่มความสุขได้

ผลการวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัย East Anglia แห่งสหราชอาณาจักรซึ่งศึกษางานมากกว่า 140 ชิ้นจากทั่วโลกพบว่า การได้สัมผัสพื้นที่สีเขียวช่วยลดระดับคอร์ติซอลในน้ำลายลงได้มาก ซึ่งปริมาณคอร์ติซอลที่ลดลงเป็นตัวชี้วัดระดับความเครียดที่ลดลงไปด้วย และยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานประเภท 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ตามรายงานปี 2018 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Research

ในพื้นที่เขตเมือง มีผลการศึกษาจากประเทศแคนาดาที่ระบุว่า คนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองที่มีต้นไม้หนาแน่นกว่า มีการรับรู้ภาวะสุขภาพของตน​ (Health perception) ว่าดีกว่าและมีภาวะเสี่ยงโรคหัวใจและเมตาบอลิกน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ และยังพบอีกว่าการปลูกต้นไม้เพิ่มอีก 10 ต้นในเขตเมืองสร้างผลกระทบต่อการรับรู้ภาวะสุขภาพของผู้คนได้เท่ากับการที่มีรายได้ต่อปีเพิ่มถึง 10,000 ดอลลาร์

ข้อค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างการมีสุขภาพที่ดีและการเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติยังคงเผยขึ้นมาเรื่อยๆ การสั่งยาด้วยการให้ออกไปหาธรรมชาติอาจเป็นตัวเลือกการดูแลรักษาสุขภาพที่มีประสิทธิภาพที่ ‘ไม่เพียงทำให้รู้สึกว่ามีสุขภาพดี แต่ทำให้มีสุขภาพดีได้จริง’


พื้นที่สีเขียวและความเหลื่อมล้ำ

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การขาดพื้นที่สีเขียวเพื่อทำกิจกรรมและพักผ่อนหย่อนใจ เป็นผลให้เกิดอัตราการเสียชีวิตของคนในโลกนี้ถึง 3.3% เพราะพื้นที่สีเขียวในเมืองมีผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของคน แต่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้อย่างเท่าเทียม

โดยการที่จะมีพื้นที่สีเขียวให้ใช้บริการหรือไม่ ขึ้นอยู่กับละแวกที่อาศัย เช่น คนที่มีฐานะสามารถซื้อบ้านในย่านที่มีพื้นสีเขียวได้มากกว่า ซึ่งทำให้มีการเข้าถึงธรรมชาติและพื้นที่ทำกิจกรรมทางกายภาพได้มากขึ้น รวมทั้งมีมลพิษทางอากาศที่ต่ำ นั่นแปลว่า ผู้ที่อยู่อาศัยจะมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีกว่า และหากเทียบกับการจำกัดความสามารถในการเข้าถึงสวนสาธารณะ สวนหย่อม และสนามเด็กเล่น จะทำให้มีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้ประโยชน์จากพื้นที่ธรรมชาติที่มีอยู่

พื้นที่สีเขียวในชุมชนถือเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มคนในพื้นที่ด้อยโอกาสมากกว่ากลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง เพราะกลุ่มคนในพื้นที่ด้อยโอกาสจะใช้เวลาในพื้นที่ที่ตนอาศัยมากกว่ารวมถึงอาจมีข้อจำกัดในการเดินทางไกล ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองจึงเป็นหนทางหนึ่งในการบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพระหว่างกลุ่มคนที่มีระดับรายได้ต่างกัน

โดยการมีพื้นที่สีเขียวที่ได้คุณภาพและการเข้าถึงธรรมชาติควรมีพร้อมสำหรับทุกกลุ่มคน นอกจากขนาดของพื้นที่ต่อประชากรที่มากพอแล้ว ต้องคำนึงถึงการกระจายตัวของทุกกลุ่มคนให้สามารถเข้าถึงได้สะดวก เพื่อเพิ่มความเท่าเทียมด้านสุขภาพในการใช้ประโยชน์บนพื้นที่สีเขียว ซึ่งแนวทางขององค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ทุกครัวเรือนควรมีพื้นที่สีเขียวสาธารณะที่เข้าถึงได้ขนาด 5 ตร.กม. ขึ้นไป ภายในระยะ 300 เมตรจากบ้าน หรือเดินถึงได้ใน 5 นาที


มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 ประชากรโลกมากกว่าสองในสามหรือเกือบ 7 พันล้านคนจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง การขยายตัวของเขตเมืองทำให้พื้นที่สีเขียวลดลงอย่างรวดเร็ว แม้จะมีหลักฐานว่าการใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติส่งผลดีต่อสุขภาพมากเพียงใด แต่การต้องเดินทางออกนอกเมืองระยะไกลเพื่อไปหาพื้นที่สีเขียวที่ได้คุณภาพอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ยั่งยืนและยิ่งตอกย้ำข้อจำกัดของความสามารถในการเข้าถึงของคนบางกลุ่ม บริบทที่สำคัญอย่างหนึ่งเพื่อให้การสั่งจ่ายยารักษาด้วยธรรมชาติมีประสิทธิภาพระยะยาว คือโปรแกรมนั้นต้องเกิดขึ้นในพื้นที่และมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตผู้คนและสถานที่ที่จะดำเนินงานอย่างใกล้ชิด

พื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงได้ในเมืองจะช่วยส่งเสริมสุขภาพกายและใจที่ดีของคนทุกระดับ และเมื่อรวมกับความจริงที่ว่าพื้นที่ธรรมชาติในเมืองต่างๆ จะช่วยบรรเทาความรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ด้วย การลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวจึงควรเป็นประเด็นที่มีการอภิปรายอย่างจริงจังในการวางแผนพัฒนาเมืองในอนาคต

การใช้ธรรมชาติรักษาดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ เกี่ยวข้องโดยตรงกับ #SDG3 ในความพยายามที่จะให้ทุกคนมีชีวิตที่มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี โดยมุ่งไปที่การลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อและสนับสนุนการมีสุขภาพจิตที่ดี (3.4) และเมื่อเมืองจะกลายเป็นถิ่นฐานของมนุษย์ส่วนใหญ่บนโลก การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน #SDG11 เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์ด้านสุขภาพจากพื้นที่สีเขียวในเมือง ต้องให้ความสำคัญกับการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ปลอดภัยได้ของทุกกลุ่มทุกคน (11.7)


แหล่งที่มาของข้อมูล
A Handbook for Nature on Prescription to Promote Mental Health
Parks and green spaces are important for our mental health – but we need to make sure that everyone can benefit
Doctors in Scotland can now prescribe nature
‘Nature therapy’ program offered as new medical prescription to Canadians
Green prescriptions: should your doctor send you for a walk in the park?
Social prescribing
Lockdown highlights the value of green space in cities

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version