Water scarcity คือ การขาดแคลนน้ำ ซึ่งสถาบันการจัดการแหล่งน้ำสากล (International Water Management Institute) ได้แบ่งการขาดแคลนน้ำไว้ 2 ประเภทคือ
- การขาดแคลนน้ำเชิงกายภาพ (Physical Water Scarcity) คือการใช้น้ำที่เกินกว่าระดับที่ยั่งยืน หรือหมายถึงน้ำ 75% ถูกนำไปใช้ในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หรือครัวเรือน ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในอนาคต
- การขาดแคลนน้ำเชิงเศรษฐกิจ (Economic Water Scarcity) คือสภาวะที่มีการใช้น้ำจากแหล่งน้ำไม่เกิน 25% แต่เกิดสภาวะขาดแคลนเนื่องจากความล้มเหลวในการจัดการน้ำ หรือขาดโครงสร้างพื้นฐานในการกระจายการเข้าถึงแหล่งน้ำอย่างเท่าเทียม
แม้โลกปกคลุมด้วยน้ำถึง 70% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่มีทรัพยากรน้ำที่เป็นน้ำจืด (fresh water) ที่สามารถดื่ม ใช้ และทำการเกษตรได้เพียงแค่ 3% เท่านั้น และในสองในสามของน้ำจืดทั้งโลกนั้นอยู่ในรูปของธารน้ำแข็ง หรือไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้
ข้อมูลจาก UN Water เปิดเผยสถานการณ์การใช้น้ำในปัจจุบัน 72% ของปริมาณน้ำจืดทั้งหมดถูกนำไปใช้ในภาคการเกษตร รองลงมาคือ 16% ถูกใช้ในเพื่อครัวเรือนและภาคบริการ และใช้เพื่อภาคอุตสาหกรรม 12%
ประชากรประมาณ 2.3 พันล้านคน อาศัยอยู่ในประเทศที่มี ‘ความเครียดน้ำ’ หรือ ‘water stresss’ ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่มีการใช้น้ำจากแหล่งน้ำจืดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เป็นปริมาณ 25% หรือมากกว่าเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยทวีปแอฟริกาเหนือมีสถานการณ์ความเครียดน้ำอยู่ในระดับวิกฤติ และทวีปเอเชียใต้และเอเชียกลางมีระดับความเครียดน้ำอยู่ในระดับสูง
แหล่งน้ำบนโลก เช่น แม่น้ำ ทะเลสาบ และชั้นหินอุ้มน้ำ ค่อยๆ แห้งเหือดไปหรืออาจมีการปนเปื้อนของมลพิษมากเกินกว่าจะนำมาใช้ได้อย่างปลอดภัย ระบบนิเวศชุ่มน้ำของโลกหายไปมากกว่าครึ่ง หลายพื้นที่ยังคงทำการเกษตรรูปแบบเดิมที่ใช้น้ำปริมาณมหาศาลและขาดประสิทธิภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อระบบนิเวศและวัฎจักรน้ำตามธรรมชาติ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำและภัยแล้งในบางพื้นที่ และน้ำท่วมในบางพื้นที่
ด้วยอัตราการบริโภคอุปโภคน้ำจืดในปัจจุบัน ประกอบกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เสริมแรงด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 ประชากรถึงสองในสามของโลกจะต้องเผชิญกับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ศึกษาเพิ่มเติม :
UN Water – Water Scarcity
คำว่า ‘การขาดแคลนน้ำ’ อยู่ใน #SDG6 เป้าประสงค์ 6.4 – เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำ และจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและลดจำนวนประชาชนที่ประสบความทุกข์จากการขาดแคลนน้ำ ภายในปี 2573
Target 6.4: By 2030, substantially increase water-use efficiency across all sectors and ensure sustainable withdrawals and supply of freshwater to address water scarcity and substantially reduce the number of people suffering from water scarcity
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
วิกฤตสีฟ้า (1) : ว่าด้วย น้ำ – อาหาร – พลังงาน
UN Water – Water Scarcity
WWF
Last Updated on มกราคม 3, 2022