องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) เคยได้ออก ‘สถานะของสภาพภูมิอากาศ’ เอาไว้เมื่อปี 2536 และล่าสุดปีนี้ ได้เผยแพร่ ‘สถานะของสภาพภูมิอากาศ 2563’ (State of the Global Climate 2020) โดยข้อมูลซึ่งเก็บมาร่วม 28 ปีบนฐานของภูมิอากาศวิทยาและกฎธรรมชาติ ตลอดจนตัวชี้วัดหลักและข้อมูลผลกระทบที่ปรากฎในรายงานเล่มนี้ ได้เผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญและหนักหน่วงตลอดช่วงเวลาหลายปี อาทิ อุณหภูมิทางบกและทะเลสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขี้น ความเป็นกรดในทะเลสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ธารน้ำแข็งและน้ำแข็งทะเลละลาย รูปแบบการเกิดหยาดน้ำฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือไฟป่า ที่ทำให้มีการสูญเสียและความเสียหายร้ายแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้คน การพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่น ความมั่นคงทางอาหาร และระบบนิเวศทางบกและทางทะเล
ข้อมูลจากรายงานโดยสังเขป มีดังนี้
1 – ก๊าซเรือนกระจก
- ระดับก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ เป็น ‘ปัจจัยหลัก’ ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ก๊าซเรือนกระจก 3 ตัวหลัก ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์
- แม้ว่าปี 2562 – 2563 โลกจะประสบกับโรคระบาด แต่นั่นไม่ได้หยุดยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีเพิ่มขึ้นในโลกเลย
2 – อุณหภูมิโลก
- ปี 2563 เป็นปีหนึ่งที่ร้อนที่สุด ในทศวรรษของปี 2554 – 2563 ที่เรียกได้ว่า ‘ร้อนที่สุด’แม้ว่าจะเกิดปรากฎการณ์ La Niña ซึ่งทำให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำในมหาสมุทรเย็นขึ้น
- อุณหภูมิเฉลี่ยในโลกสูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส มากกว่าระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม 2393 – 2443 (1850 – 1900)
- ตั้งแต่กลางปีทศวรรษที่ 2523 (1980) อุณหภูมิอากาศบริเวณอาร์กติกร้อนเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอย่างน้อย 2 เท่า ขณะที่พืดน้ำแข็งและธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายลงในช่วงเวลาเดียวกัน และอุณหภูมิชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) สูงขึ้น
3 – เหตุการณ์รุนแรงขึ้น
- อุณหภูมิที่สูงขึ้นทั่วโลกส่งผลให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วรุนแรง ทั้งคลื่นความเย็นและคลื่นความร้อน น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า พายุ และหยาดน้ำฟ้ารุนแรงที่มีรูปแบบของการเกิดขึ้นและในปริมาณที่ไม่ปกติในแอฟริกาเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เอเชียใต้และตะวันออก ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกาเหนือและแคริบเบียน และยุโรปตะวันออกเฉียงเหนือ
4 – ความร้อนของมหาสมุทร
- 90% ก๊าซเรือนกระจกที่ล้นเกินและสะสมในโลกไปปรากฏอยู่ที่มหาสมุทร จนเรียกได้ว่าเป็น ‘คลื่นความร้อนทางทะเล’ (Marine Heatwaves) ซึ่งในปี 2563 มหาสมุทรมากกว่า 80% ของทั้งหมดต่างเผชิญกับคลื่นความร้อนทางทะเลมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและชุมชนที่พึ่งพาทะเล
5 – ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น
- จากเหตุที่อุณหภูมิในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้น กอปรกับธารน้ำแข็ง/พืดน้ำแข็ง/น้ำแข็งทะเลในหลายจุดของโลกละลายลง ก็ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 3.29 (+/- 0.3) มม.ต่อปี โดยสูงขึ้นมากที่สุดในปี 2563 และมีช่วงที่ลดลงบ้างเล็กน้อยซึ่งเกี่ยวพันกับปรากฎการณ์ La Niña ในแถบแปซิฟิก
6 – ธารน้ำแข็งละลาย
- มีผลต่อบริการระบบนิเวศและแหล่งน้ำจืดทั่วโลก และมีผลโดยตรงต่อสภาพภูมิอากาศในโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะว่าเป็น ‘ตัวชี้วัด’ ที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
7 – ความเป็นกรดในมหาสมุทร
- ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะมหาสมุทรจะดูดซับก๊าซเหล่านั้นอันมีที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ เอาไว้ถึง 23% ในทุกปี เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและบริการระบบนิเวศอันหมายรวมถึงความมั่นคงทางอาหาร – การประมงและการทำฟาร์มสัตว์น้ำ และทำให้แนวปะการังซึ่งช่วงเป็นเกราะป้องกันชายฝั่งอ่อนแอลง ส่งผลต่อการปกป้องชายฝั่งและการท่องเที่ยว
โดยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้คนต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐานหรือพลัดถิ่นจากพื้นที่ที่เปราะบางจากสภาพภูมิอากาศหรือภัยพิบัติที่รุนแรง ซึ่งในช่วงปี 2553 – 2562 เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับอากาศเป็นเหตุให้คนต้องพลัดถิ่นราว 23.1 ล้านคนต่อปีโดยเฉลี่ย โดยประมาณ 9.8 ล้านคนที่พลัดถิ่นอยู่ในบริเวณเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแหลมแอฟริกา (ข้อมูลครึ่งปีแรกของ 2563)
อ่านต่อเรื่อง Climate Migration ที่ : https://www.sdgmove.com/2021/03/18/anyone-can-face-climate-migration/
และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติยังเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่กระทบทำให้เกิด ‘ความไม่มั่นคงทางอาหาร’ ด้วย
ดังนั้น เพื่อที่จะลดผลกระทบเชิงลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชากรโลกจะต้องช่วยกันประคองอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอยู่นี้ให้คงที่ระดับ 1.5 องศาเซลเซียสจากปีก่อนยุคอุตสาหกรรม หมายถึงทั่วโลกจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 45% จากระดับในปี 2553 ภายในปี 2573 และผลักดันไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593
‘เรามีเทคโนโลยีที่จะช่วยเราได้ แต่ความมุ่งมั่นและการลงมือทำของโลกตอนนี้ยังคงช้ากว่าที่จำต้องทำ’ – António Guterres, เลขาธิการ UN
● เข้าถึง Climate Indicators Storymap
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 ในด้านสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภุมิอากาศและภัยพิบัติมีความเสี่ยงและผลกระทบต่อ #SDG1 ความยากจนที่เพิ่มขึ้น #SDG2 ความไม่มั่นคงทางอาหาร #SDG3 ปัญหาสุขภาพ #SDG6 ขาดแคลนน้ำ #SDG9 โครงสร้างพื้นฐานได้รับความเสียหาย #SDG10 ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น #SDG11 กระทบต่อเมืองและทำให้เกิดการพลัดถิ่นของประชากร #SDG14 น้ำทะเลสูงขึ้น-ความเป็นกรดในทะเลย่อมกระทบกับระบบนิเวศในทะเล #SDG15 การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต และ #SDG16 อาจนำมาซึ่ง ‘ความขัดแย้ง’
แหล่งที่มา:
https://reliefweb.int/report/world/state-global-climate-2020
https://public.wmo.int/en/our-mandate/climate/wmo-statement-state-of-global-climate
https://knowledge4policy.ec.europa.eu/publication/state-global-climate-2020_en
Last Updated on มกราคม 12, 2022