ในทุกๆ ปี จะมีการรายงานตัวเลขผู้ป่วยจากอาหารมากถึง 600 ล้านราย ในปี 2010 มีผู้เสียชีวิต 420,000 รายจากโรคที่มาจากอาหารต่างๆ เช่น การติดเชื้อซัลโมเนลลา (salmonella) และอีโคไล (E.coli )โดยหนึ่งในสามของผู้เสียชีวิตเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขนี้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี แต่ยังเป็นการยากที่จะเห็นภาพชัดเจนของผลกระทบที่แท้จริงของโรคที่เกิดจากอาการทั่วโลก
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ องค์การอนามัยโลกได้จัดทำคู่มือ Estimating the burden of foodborne diseases: A practical handbook for countries เพื่อช่วยประเทศต่างๆ ในการวัดภาระโรคที่เกิดจากอาหาร และระบุความต้องการของระบบความปลอดภัยของอาหารและช่องว่างของข้อมูล เพื่อให้สามารถเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและปกป้องสุขภาพของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น
“คู่มือขององค์การอนามัยโลกเล่มใหม่นี้จะช่วยให้ประเทศต่างๆ รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ข้อรายละเอียดการลงทุนอย่างยั่งยืนในความปลอดภัยของอาหาร การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงใกล้ชิดระหว่างสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และโลกที่ค้ำจุนเรา องค์การอนามัยโลกจะยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรด้วยแนวทาง One Health เพื่อให้ชุมชนปลอดภัยจากโรคที่เกิดจากอาหาร”
ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าว
การประชุมสมัชชาอนามัยโลกในปี 2020 ได้มีมติใหม่ที่กำหนดให้องค์การอนามัยโลกติดตามภาระโรคที่เกิดจากอาหารและภาระโรคจากสัตว์สู่คนในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ และรายงานสถานการณ์ภาระโรคที่เกิดจากอาหารทั่วโลกด้วย ข้อมูอุบัติการณ์ของโรค การเสียชีวิต และภาระโรคภายในปี 2025
องค์การอนามัยโลกกำลังจัดการประชุมกลุ่มทำงาน Foodborne Disease Epidemiology Reference Group (FERG) ขึ้นอีกครั้ง โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติทั้งหมด 26 คน หน้าที่หลักของกลุ่มคือการให้คำแนะนำแก่องค์การอนามัยโลก เกี่ยวกับวิธีการประเมินภาระโรคที่เกิดจากอาหารทั่วโลก เพื่อติดตามตัวบ่งชี้ด้านความปลอดภัยของอาหารทั่วโลก และวัดความคืบหน้าในความปลอดภัยของอาหาร
อันตรายจากอาหารมากกว่า 250 ชนิดที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น การเจ็บป่วยเฉียบพลันหรือระยะยาว หรือแม้แต่การเสียชีวิต ในปี 2015 การศึกษาของ FERG ฉบับก่อนหน้าได้ช่วยองค์การอนามัยโลกเผยแพร่รายงานที่เผยให้เห็นภาระด้านสาธารณสุขทั่วโลกของโรคที่เกิดจากอาหาร โดยพิจารณาจากอันตรายที่เกิดจากอาหาร 31 รายการ รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงผลกระทบด้านสุขภาพอย่างมหาศาลของอาหารที่ไม่ปลอดภัย และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ภาระโรคที่เกิดจากอาหาร เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย .. - SDG2 ขจัดความหิวโหย ในประเด็น การเข้าถึงอาหารปลอดภัยและมีโภชนาการ (2.1) - SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ลดการตายและป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษต่างๆ (3.9) - SDG6 น้ำสะอาดและสุขาภิบาล ในประเด็น การเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัย (6.1) การเข้าถึงสุขอนามัยที่พอเพียงและเป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่ง (6.2)
ที่มา: WHO
Last Updated on มิถุนายน 10, 2021