พรุ่งนี้ (12 มิถุนายน 2564) เป็นวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก (World Day Against Child Labour)
จำนวน ‘แรงงานเด็ก’ สูงขึ้นแตะที่ 160 ล้านคนทั่วโลก หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 8.4 ล้านคนในช่วงระยะเวลา 4 ปี ขณะที่อีกกว่า 9 ล้านชีวิตมีความเสี่ยงที่จะต้องกลายเป็นแรงงานเด็กภายในปี 2565 อันเป็นผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องปิดโรงเรียน-บางครอบครัวตกงาน-ยากจนขึ้นผลักดันให้เด็กหลายคนถูกบังคับให้ต้องทำงาน และยังต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยโดยตัวเลขนี้อาจทะยานขึ้นเป็น 46 ล้านคนหากเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม
‘ถ้าหนูไม่ออกไปทำงาน ชีวิตก็จะแย่กว่านี้’
– เด็กหญิงอายุ 14 จากครอบครัวในกานาที่ขาดรายได้จากมาตรการล็อกดาว และผลจากการปิดโรงเรียนทำให้เธอและพี่น้องอีก 8 คนไม่มีอาหารจากเดิมที่พึ่งพาอาหารโรงเรียน เธอไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องออกไปทำงาน (รายงาน Child Labour)
รายงาน Child Labour: Global estimates 2020, trends and the road forward โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ จัดความสำคัญให้กับการลงทุนในโครงการที่จะช่วยไม่ให้เด็กในวัยที่ต้องไปโรงเรียนต้องมาทำงานตั้งแต่ยังเล็ก พร้อมกับย้ำเตือนไว้ว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่ความก้าวหน้าที่จะยุติแรงงานเด็กหยุดชะงักลง ทั้งที่ทิศทางโลกกำลังไปได้ดีในช่วงระหว่างปี 2543 – 2559 ที่แรงงานเด็กลดลง 94 ล้านคน (38%) ทว่าในวันนี้ กลับมีเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปี เป็นแรงงานเด็กมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขแรงงานเด็กทั้งหมด และอายุ 5-17 ปี เป็นแรงงานเด็กในงานที่อันตรายที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสุขภาวะของเด็กเลย แต่กลุ่มนี้กลับมีมากขึ้นจากเดิม 6.5 ล้านคนในปี 2559 เป็น 79 ล้านคน
นอกจากนี้ ในบรรดากลุ่มแรงงานเด็ก เกือบ 28% ของเด็กอายุ 5-11 ปี และ 35% ของเด็กอายุ 12-14 ปี ‘ไม่ได้ไปโรงเรียน’
โดยส่วนมากที่ 70% ของแรงงานเด็กทั้งหมดอยู่ในภาคการเกษตร ตามมาด้วย 20% ในภาคแรงงาน และ 10% ในภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ แรงงานเด็กยังพบได้มากในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง โดยจะทำงาน (รวมถึงงานบ้าน) เป็นเวลา 21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ ยังพบว่าในพื้นที่ชนบท มีแรงงานเด็ก 14% มากกว่าในเขตเมืองถึง 3 เท่า (5% ในเขตเมือง)
ส่วนแถบแอฟริกาซับซาฮาราซึ่งมีปัญหาด้านการเติบโตของประชากร การเผชิญกับวิกฤติซ้ำซาก ความยากจนขั้นรุนแรง และมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่ไม่เพียงพอ ทำให้มีเด็กอีกกว่า 16.6 ล้านคนกลายเป็นแรงงานเด็กในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ ขณะที่ผลกระทบจากโควิด-19 กำลังเป็นที่น่ากังวลต่อประเด็นแรงงานเด็กในเอเชียและแปซิฟิก ภูมิภาคอเมริกาใต้และแคริบเบียน
ILO ระบุว่า การที่จะสร้างหลักประกันคุ้มครองทางสังคมให้กับเด็กได้ ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาซับซาราจะต้องใช้ 1.8% ของ GDP และเอเชียใต้จะต้องใช้ 0.6% ของ GDP โดยทั้ง ILO และ UNICEF ก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการมีมาตรการคุ้มครองสังคมอันครอบคลุมถึงสวัสดิการเด็ก การเพิ่มงบประมาณในการศึกษาที่มีคุณภาพให้เด็กทุกคน (รวมถึงเด็กที่จำต้องออกจากโรงเรียนก่อนจะมีโควิด-19) ได้กลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน การลงทุนกับระบบคุ้มครองเด็ก ไปจนถึงมาตรการอื่นที่เกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณภาครัฐ อาทิ ลงทุนกับบริการสาธารณะในชนบท ส่งเสริมการสร้างงานที่ดีในภาคการเกษตร จัดการปัญหาการทุจริต และส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้คนโดยทั่วไป
● เข้าถึงรายงานที่ : Child Labour: Global estimates 2020, trends and the road forward
● ร่วมกิจกรรมวันต่อต้านแรงงานเด็ก: World Day Against Child Labour
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้เป็นผลตามระบบและมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมของแต่ละประเทศและให้ครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและการมีงานทำ
– (8.7) ดำเนินมาตรการโดยทันทีและมีประสิทธิภาพเพื่อขจัดแรงงานบังคับ ยุติการค้าแรงงานทาสในยุคสมัยใหม่และการค้ามนุษย์ และขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งรวมถึงการเกณฑ์และการใช้ทหารเด็ก และยุติการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบในปี 2568
โดยการต่อต้านแรงงานเด็กยังเกี่ยวข้องกับการดำเนินการ SDG เป้าหมายอื่น ๆ ด้วย อาทิ #SDG2 การขจัดความหิวโหยและส่งเสริมภาคเกษตรกรรม #SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กทุกคน และ #SDG16 สถาบัน/ภาครัฐที่มีประสิทธิผล รวมถึงลดการทุจริต/รับสินบนทุกรูปแบบ
แหล่งที่มา:
https://news.un.org/en/story/2021/06/1093682
https://www.hrw.org/report/2021/05/26/i-must-work-eat/covid-19-poverty-and-child-labor-ghana-nepal-and-uganda
Last Updated on มกราคม 12, 2022